ปัญหาคือโรงไฟฟ้าทุกชนิดมีผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อสิ่งแวดล้อมเสมอและเมื่อเรามียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าชายฝั่งทะเลภาคใต้ควรเป็นแหล่งรายได้การท่องเที่ยวอย่างถาวรจากสถิติปี 2559 ไทยมีนักท่องเที่ยวรวม 32 ล้านคนโดยกว่า 10 ล้านคนเดินทางมาเที่ยวภาคใต้ เราจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเราจะแก้ปัญหาแหล่งผลิตไฟฟ้าอย่างไรโดยไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ผู้กำหนดและผู้รับผิดชอบนโยบายเรื่องนี้ คือ กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตามลำดับซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีความตั้งใจที่ดีที่จะตอบโจทย์นี้ โดยยึดหลักสำาคัญคือ การกระจายความเสี่ยงของแหล่งเชื้อเพลิง ด้วยการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมาแต่อย่างไรก็ดี “คำตอบ” ของทั้งสององค์กรซึ่งไม่ใช่คำตอบสำาหรับผมก็คือ “ถ่านหิน”
เหตุผลก็คือ “ถ่านหิน” เป็นแหล่งเชื้อเพลิงที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเริ่มตั้งแต่การก่อสร้างตัวโรงไฟฟ้ารวมไปถึงการก่อสร้างระบบรองรับการขนส่งลำเลียงถ่านหินที่จำเป็นต้องนำเข้าทางเรือจากต่างประเทศ ทั้งหมดนี้นอกจากจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมแล้ว มลพิษจากการเผาถ่านหินก็ยังเป็นปัญหาอยู่อีกมาก ถึงแม้จะมีการอ้างถึงเทคโนโลยีที่ในวงการเรียกกันว่า “ถ่านหินสะอาด” ก็ตาม
หากอยู่ในยุคที่ไม่มีทางเลือก เรายังพอเข้าใจได้ว่าทำาไมจึงต้องยอมให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ในวันนี้นอกจากจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าแล้ว ในอนาคตทางเลือกก็จะมีเพิ่มขึ้นหนึ่งในทางเลือกที่ดีและพึ่งพาได้ คือ “ก๊าซธรรมชาติเหลว” หรือ LNG (liquefied natural gas) ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า LNG มีแหล่งผลิตที่กว้างขวางทั่วโลก ประเด็นความกังวลต่อการขาดก๊าซจากอ่าวไทยและเมียนมาจึงตกไป ข้อเท็จจริงที่สำาคัญอีกเรื่องหนึ่งคือมีการพัฒนาแหล่งผลิต LNG อย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตในแถบประเทศตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ หรือออสเตรเลีย ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตในยุคปัจจุบันทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลให้ราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันเรามีการใช้ LNG ไม่ถึง 1% ของกำลังการผลิตทั่วโลกและในอนาคตการผลิต LNG ก็จะยิ่งเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นอีกทำให้เห็นว่าเทรนด์ราคาของ LNG ในอนาคตมีโอกาสที่จะต่ำลงได้อีกซึ่งเหตุผลดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนจะถูกลงในอนาคตอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การเผาไหม้ของ LNG ไม่สร้างมลพิษเหมือนการเผาถ่านหินและนี่คือสาเหตุที่การสร้างโรงไฟฟ้า LNG ถึงไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทดสอบผลกระทบต่อสุขภาพ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า EHIA นอกจากนี้ งบประมาณที่ต้องใช้ในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า LNG ต่ำกว่างบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกินครึ่ง (การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เงิน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับการสร้างโรงไฟฟ้า LNG ที่ใช้เงินเพียง 700 ล้านเหรียญ) ดังนั้นเรามีโอกาส “คืนทุน” โรงไฟฟ้า LNG ได้เร็วกว่า อีกทั้งเงินที่ประหยัดได้จากการไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็สามารถเอาไปลงทุนใน smart grid ได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันนั้น เหตุผลที่ว่าภาคใต้จำเป็นที่จะ ต้องมีโรงไฟฟ้าโดยเร็วนั้น ซึ่งหากยืดเยื้อกว่านี้จะทำให้มีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ การสร้างโรงไฟฟ้า LNG ก็ตอบโจทย์มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกด้วย เนื่องจากใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียงแค่ 48 เดือนเทียบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เวลา 80 เดือน ส่วนประเด็นหลักเรื่องการกระจายความเสี่ยงของประเภทเชื้อเพลิงนั้น เราต้องเข้าใจว่า 1. ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือ LNG ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งคู่ 2. ราคาถ่านหินและราคา LNG ผูกโยงกับราคาน้ำมันทั้งคู่ ดังนั้นการหันไปพึ่งถ่านหินไม่ได้มีผลในการ “กระจายความเสี่ยง” เมื่อเทียบกับการใช้ LNG และ ตามจริงแล้ววันนี้มีแหล่งซื้อ-ขาย LNG มากกว่าอีกด้วย
จนถึงวันนี้ ทางราชการยังยืนยันเจตนารมณ์การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ และออกมาแสดงความเห็นถึงจุดอ่อนของทางเลือกอื่นๆ โดยที่เราไม่ค่อยได้เห็นทางราชการพูดถึงข้อเสียของถ่านหินให้เราได้เอามาเปรียบเทียบนัก อย่างไรก็ดี วันนี้โลกเปลี่ยนไป ความคิดและข้อสรุปของเราควรต้องเปลี่ยนด้วยครับ การสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้นับเป็นก้าวสำคัญ หากเดินพลาดมีสิทธิ์สร้างความเสียหายที่ไม่มีโอกาสแก้ไขได้อีกด้วย
กรณ์ จาติกวณิช
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ขอบคุณภาพเปิดเรื่องจากบางกอกโพสต์: ภาพถ่ายทางอากาศ สภาพพื้นที่ชุ่มน้ำปากอ่าว ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้ากระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และพื้นที่ที่จะก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และท่าเทียบเรือ
คลิกอ่านบทความทางด้านเศรษฐกิจ ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine