บริหาร 'ทรัพย์สินครอบครัว' ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน - Forbes Thailand

บริหาร 'ทรัพย์สินครอบครัว' ส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Mar 2019 | 09:34 AM
READ 11827

ธุรกิจครอบครัว (family business)” หรือธุรกิจกงสีเป็นหนึ่งในรูปแบบขององค์กรธุรกิจที่มีความเก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่ง และยังคงเป็นรูปแบบธุรกิจที่พบได้ทั่วไปในปัจจุบัน

ลักษณะการบริหารงานโดยอาจเริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ ก่อตั้งโดยเจ้าของคนเดียว หรือร่วมกันก่อตั้งในบรรดาญาติพี่น้อง แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และสืบทอดไปยังรุ่นต่อรุ่น จนบางกิจการนั้นได้ก้าวไปสู่การเป็นบริษัทชั้นนำของโลก เช่น BMW, Hermes, Louis Vuitton เป็นต้น

ด้วยเอกลักษณ์สำคัญของรูปแบบธุรกิจครอบครัว ที่ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก ปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเกิดในเจ้าของซึ่งเป็นรุ่นที่ 1 หรือรุ่นก่อตั้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มมีทายาทรุ่นต่อๆ มาเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทำให้ในหลายๆ ธุรกิจครอบครัวอาจต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ความไม่ลงรอยกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของรอยต่อที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องถูกส่งต่อให้แก่รุ่นลูกหลาน

การหาแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว นั่นก็คือ การสร้างระบบธรรมาภิบาลที่ดี (good governance) ให้เกิดขึ้นในการบริหารธุรกิจครอบครัว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การรักษาผลประโยชน์ รวมถึงการดูแลสวัสดิภาพของสมาชิกในครอบครัวเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น

ทำให้แนวคิดเรื่อง Holding company จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารและการส่งต่อทรัพย์สินครอบครัวด้วยวิธีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทครอบครัว “Family Holding Company” หรือในที่นี้จะเรียกว่า Holding company เพื่อเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการของครอบครัว (operating company) และสมาชิกครอบครัวจะเป็นผู้ถือหุ้นใน Holding Company นั้น

ด้วยระบบการจัดสรรหุ้นในบริษัท Holding Company มีส่วนช่วยทำให้ธุรกิจได้มีการแบ่งสัดส่วนทรัพย์สินที่ชัดเจน มิได้เอาทรัพย์สินในครอบครัวไปให้คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ดังนั้น หากได้มีการจัดสรรหุ้นอย่างเป็นธรรมระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันก็จะช่วยลดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งได้ และไม่กระทบต่อบริษัทที่ประกอบกิจการของครอบครัวที่ Holding Company ถืออยู่ด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดหลักการปกครองภายในครอบครัว ผ่านการจัดทำ ธรรมนูญครอบครัว (family charter) ซึ่งเปรียบเสมือนกติกาในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกภายในครอบครัว ช่วยสร้างความชัดเจนและเป็นแนวทางให้สมาชิกภายในครอบครัวได้ถือปฏิบัติ

โดยธรรมนูญครอบครัวนั้นถือเป็นข้อตกลงที่แต่ละครอบครัวกำหนดขึ้นมาเอง ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย หากไม่ถือปฏิบัติตาม ก็ถือเป็นเรื่องที่คนในครอบครัวต้องจัดการกันเอง ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ซึ่งในธรรมนูญครอบครัวอาจระบุเรื่องที่สำคัญๆ เพื่อใช้ในการบริหารทรัพย์สินครอบครัวเอาไว้ เช่น การจัดสรรผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ให้กับสมาชิกครอบครัว หลักเกณฑ์ข้อกำหนดในการสืบทอดกิจการครอบครัว รวมถึงการกำหนดสิทธิในการเข้ามาถือหุ้นของสมาชิกนอกครอบครัวเป็นต้น

ดังนั้น หากต้องการให้หลักการในธรรมนูญครอบครัวที่สร้างขึ้นมาได้มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย อาจพิจารณาเรื่องการจัดทำข้อบังคับบริษัทใน Family Holding Company โดยลักษณะของข้อบังคับที่ใช้ในบริษัท Holding Company ของครอบครัวนั้น ควรมีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากข้อบังคับบริษัททั่วไป

ตัวอย่างข้อบังคับของ Holding Company อาจขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิกครอบครัวเพื่อความเป็นธรรม หรืออาจเป็นการกำหนดเพื่อป้องกันข้อพิพาทหรือความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การกำหนดโครงสร้างและคณะกรรมการ การกำหนดองค์ประชุม การลงคะแนนเสียงในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เพื่อการบริหารทรัพย์สินในครอบครัว การกำหนดนโยบายการจ่ายปันผลให้แก่สมาชิกในครอบครัว การกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการโอนหุ้นให้แก่สมาชิกภายนอกครอบครัว เขย สะใภ้ หรือบุคคลที่ไม่ใช่ผู้สืบสันดาน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี Holding Company ที่ได้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จะไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดการโอนในลักษณะดังกล่าวนี้ได้

นอกจากนี้อาจพิจารณาเรื่องการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นควบคู่กัน โดยทั่วไปสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นอาจประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญหลักๆ เช่น ประเภทหุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกแต่ละคนในแต่ละประเภทหุ้น ข้อจำกัดในการถือหุ้นและการโอนหุ้น เป็นต้น โดยอาจมีการระบุเรื่องข้อจำกัดในการโอนหุ้นให้คนนอกสมาชิกครอบครัว รวมถึงการระบุเรื่องข้อจำกัดมิให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหรือก่อภาระผูกพันใดๆ ต่อบุคคลภายนอกโดยเด็ดขาด ซึ่งสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นนั้นถือเป็นเอกสารสัญญาที่ไม่ได้เปิดเผยต่อบุคคลภายนอก และจะมีผลผูกพันเฉพาะผู้ลงนามเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ข้อบังคับบริษัทและข้อกำหนดในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นนั้นควรมีการจัดทำให้มีความสอดคล้องกันด้วย ดังนั้นจึงควรพิจารณาทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างในแต่ละรูปแบบของเอกสารดังที่กล่าวมา เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจครอบครัวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดทำธรรมนูญครอบครัวร่วมกับการจัดทำข้อบังคับของบริษัทครอบครัวและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น

โดยที่ข้อบังคับของบริษัทครอบครัวและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นนั้น ถือเป็นเอกสารทางกฎหมายที่มีความสำคัญจึงต้องจัดทำให้มีความสอดคล้อง เป็นธรรม ชัดเจน เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสมาชิกครอบครัว และตรงกับความต้องการของสมาชิกครอบครัว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวในรูปแบบของการจัดตั้ง Family Holding Company เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

แม้แนวคิดการจัดโครงสร้างธุรกิจครอบครัวในรูปแบบ Family Holding Company นั้นเป็นเพียงแนวทางเลือกหนึ่ง โดยนำหลักการทางกฎหมายมาประยุกต์ใช้แต่ก็อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวหรือเป็น “the best solution” ที่จะนำไปใช้ได้กับทุกครอบครัว

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารกันในระหว่างสมาชิกในครอบครัว (communication) เพื่อหาแนวทางที่เป็นรูปแบบที่เหมาะสมและยอมรับร่วมกัน โดยความเห็นส่วนตัวผู้เขียนมองว่า เรื่องการจัดการทรัพย์สินครอบครัวเพื่อการส่งต่อเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการวางแผนจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันและลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

  ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อานวยการอาวุโส Estate Planning & Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)