ความสุขของพนักงาน สู่องค์กรที่ยั่งยืน
เรื่องเล็กๆ ที่ไม่อาจมองข้าม นำไปสู่การสร้างความยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืน ผมกำลังพูดถึงความสุขของพนักงานในองค์กร ที่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานจนกลายเป็นความสำเร็จให้กับองค์กร และยิ่งหากพนักงานรู้สึกผูกพันและเข้าใจในวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กร ย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะรับประกันความยั่งยืนขององค์กรนั้นๆ
กลายเป็นเรื่องระดับโลกและถูกฝังอยู่ในทุกภาคส่วนของแนวทางการพัฒนาในปัจจุบัน “ความยั่งยืนขององค์กร” ไม่ใช่เพียงแค่การให้ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ยังต้องรักษาความมั่งคง มั่งคั่ง ชื่อเสียง ความเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีขององค์กรไว้ได้ และตั้งอยู่บนเป้าหมายระยะยาวที่ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของยุคปัจจุบัน แต่ยังสามารถส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไปในอนาคตได้
ไม่มีความจำเป็นจะต้องปรับรื้อระบบโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมดเพื่อสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งและยั่งยืน สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ การมุ่งพัฒนา “สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดขององค์กร” นั่นคือ “พนักงาน” ตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จและได้รับการจัดอันดับว่าอยากทำงานด้วยมากที่สุดในอันดับต้นๆ ของโลก ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Google Inc. และ Twitter มักมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน คือ การมุ่งสื่อสารตอกย้ำถึง พันธกิจ (mission) และค่านิยมองค์กร (core value) ให้กับพนักงานตลอดเวลา ทำให้พนักงานรู้สึกดีกับงานที่ทำอยู่ทุกๆ วัน และรู้ว่าสิ่งที่ตนทำอยู่สอดคล้องกับพันธกิจขององค์กร และรู้ว่าตนเองกำลังมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร จนไปถึงความรู้สึกผูกพัน และหลงรักในตัวองค์กรในที่สุด นี่ต่างหากคือ จุดตั้งต้นของการสร้างองค์กรอย่างยั่งยืน
จะเห็นได้ว่า การจัดการภายในองค์กร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ซึ่งประกอบด้วย วิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูง การดูแลจัดการของฝ่ายบุคลากร การตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มขีดความสามารถพนักงาน การให้ความสำคัญกับทีมเวิร์คและระบบการให้ผลตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายขององค์กรในปัจจุบันอย่างมาก ที่จะต้องยกระดับสวัสดิภาพของบุคลากรและสังคมพร้อมๆ กับการลดและป้องกันผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจต่อระบบนิเวศอีกด้วย
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการให้สวัสดิการอย่างตามใจกับพนักงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำงานที่ดี การให้สวัสดิการรวมถึงการให้ผลตอบแทนที่เป็นเลิศ อาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดพนักงานได้ดีในตอนแรก แต่จะไม่สามารถรักษา หรือซื้อใจพนักงานไว้ได้นานหากมีองค์กรอื่นๆ สามารถให้สิ่งเหล่านี้ได้โดดเด่นกว่า
แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่จะสร้างความผูกพันในตัวองค์กร
องค์กรไทยหลายแห่งมีการตื่นตัวเกี่ยวกับการสร้างความยั่งยืน จากการที่ผมได้มีส่วนร่วมผลักดันแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนพื้นฐานของการดูแลบุคลากร ประกอบด้วย การว่าจ้าง การดูแลรักษา การอบรมเพิ่มศักยภาพ และการให้ผลตอบแทน เป็นสิ่งที่องค์กรไทยทั่วไปดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาพนักงาน ทั้งด้าน technical skill และโดยเฉพาะผมต้องขอเน้นย้ำในเรื่อง managerial skill เพื่อสร้างพนักงานให้มีศักยภาพในการเติบโตสู่ระดับบริหาร
การว่าจ้างบุคลากรให้เหมาะกับพันธกิจขององค์กรเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา ในหลายครั้งที่องค์กรไทยเองเดินสวนทางกับเส้นทางที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ดังเช่น วิธีการว่าจ้างผู้นำด้วยการเลือกที่ตัวผู้นำก่อน แทนที่จะใช้พันธกิจขององค์กรเป็นเกณฑ์ในการเฟ้นหาตัวผู้นำ เมื่อผู้นำไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกับสิ่งที่พันธกิจองค์กรกำหนดไว้ วัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืนย่อมเกิดขึ้นยาก ส่งผลให้นโยบายการทำงานเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งตามความคิดของผู้นำ พนักงานสับสนไม่รู้ทิศทางการทำงานของตน เปรียบได้กับการปีนขึ้นสู่ยอดเขาโดยไม่รู้จุดหมายที่ชัดเจน ย่อมท้อและตกลงไปได้ง่าย ทำให้การสร้างวัฒนธรรมองค์กร อาจเป็นเรื่องที่ไม่มีวันได้เห็น
ผลสำรวจความต้องการของลูกจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงผลที่น่าสนใจ คือ ประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน อายุระหว่าง (20-35 ปี) มากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องการทำงานในบริษัทที่ไม่ได้มุ่งแต่การสร้างผลกำไร แต่เป็นบริษัทที่ต้องการแบ่งปันกำไรและผลประโยชน์ไปสู่ชุมชนสังคมวงกว้าง ทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่าได้ทำงานกับองค์กรที่กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ และพวกเขาก็มีส่วนร่วมนั้นๆ ด้วย ดังเช่น พนักงาน Google ในกลุ่มที่ดูแลโครงการ Google Maps ที่มีความภูมิใจมากจากการที่มีส่วนให้ประชากรโลกสามารถค้นหาแผนที่และข้อมูลการเดินทางได้ง่ายเพียงขยับปลายนิ้ว
การตอกย้ำพันธกิจขององค์กรให้กับพนักงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ความสุขจากคนเล็กๆ จะเกิดขึ้นได้ เมื่อพนักงานรู้ตัวว่าการมาทำงานทุกๆ วัน นั้นมีความหมาย นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง และความยิ่งใหญ่ในอนาคตให้กับตนเองและองค์กรของตน ขณะเดียวกันองค์กรเองต้องไม่ละทิ้งชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยส่งเสริมให้พนักงานมีครอบครัวที่แข็งแกร่ง เท่าๆ กับการผลิตผลงานที่ดีเลิศให้กับองค์กร นั่นต่างหากที่จะทำให้พนักงานอยากตื่นขึ้นมารุ่งเช้าในวันจันทร์ หรือ ทุกๆ วันทำงาน ด้วยความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างองค์กรที่ยั่งยืน
บดินทร์ อูนากูล
รองผู้จัดการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
TAGGED ON