คู่ประสาน Blockchain และ AI กับวงการแพทย์ยุคดิจิทัล
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า วงการแพทย์ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการรักษาพยาบาลขั้นสูง อุปกรณ์การแพทย์ที่ล้ำหน้าและทันสมัย เช่นเครื่อง Ultrasoud4D ที่เห็นภาพ 3-4มิติ จนแทบจะปั้นลูกในครรภ์ออกมาให้พ่อแม่ชื่นใจ รวมถึงวิธีการช่วยเหลือคนไข้ ที่ทุกวันนี้เราเห็นเครื่องกระตุ้นหัวใจ ติดตามสถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งตามท้องถนน
จึงไม่แปลกที่ Blockchain และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทในด้านการแพทย์ และสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลที่มี Privacy ค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงต้องการระบบ ที่มี Security อย่างมาก เทียบเท่ากับการเก็บรักษาข้อมูลทางการเงิน
เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ทำให้การแพทย์และระบบสาธารณสุขก้าวหน้ามากขึ้นตาม ประชากร มีอายุยืนยาวขึ้น โรคที่คนเจ็บป่วยก็เปลี่ยนไป จากสมัยก่อน คนมักเสียชีวิตจากโรคระบาดและการติดเชื้อ ก็เปลี่ยนเป็นคนส่วนมาก เสียชีวิตจากโรคเรื้อรังที่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่นโรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ การมีระเบิดนิวเคลียร์หรือการค้นพบสารกัมมันตรังสี ก็ทำให้คนป่วยเป็นมะเร็งมากขึ้น รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งที่มนุษย์คิดค้นขึ้น
แต่การแพทย์ก็ไม่ได้หยุดยั้ง สามารถคิดค้นยาต้านมะเร็ง การตัดต่อพันธุกรรม การทำแขนขาเทียมที่บังคับได้เหมือนจริง หรือแม้กระทั่งที่ Elon Musk กำลังพยายามคิดค้นวิธีฝัง AI ไว้ในสมองของมนุษย์ เพื่อสั่งการควบคุม AI ในอนาคต
ข้อมูลจาก Accenture คาดว่า Health AI Market size ในช่วงปี 2014-2021 จะโตขึ้นถึง 11 เท่า จาก 600 ล้านเหรียญฯ ในปี 2014 เป็น 6.6 พันล้านเหรียญฯ
โดยการลงทุนส่วนใหญ่ มุ่งเน้นเรื่อง Robot ที่มาช่วยในการผ่าตัด กับการนำ AI มาช่วยในการส่งเสริม Self care ของคนไข้เองที่บ้าน เพื่อทำให้ระบบการแพทย์ เข้าถึงทุกคน เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคลากรทางด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ผลิตมาเท่าไหร่ ก็ไม่เพียงพอ ถ้ามีการพัฒนา AI มาช่วยเบื้องต้นแทนได้ ก็จะทำให้ บุคลากรทางด้านการแพทย์ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลจาก PWC พบว่า 39% ของผู้บริหารระดับสูง มุ่งเน้นการลงทุนทางด้าน AI, machine learning รวมถึง predictive analytics โดยมีข้อมูลสนับสนุนจาก McKensey อีกว่า AI จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 26.94 หมื่นล้านเหรียญฯ ที่เป็นแบบนี้ เพราะ AI สามารถช่วยลดการจ้างบุคลากร เนื่องจาก AI สามารถทำงานที่ซ้ำๆ ได้ดี และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เราไม่มีแพทย์มากพอ ที่จะดูแลสุขภาพแต่ละคน และวิเคราะห์ข้อมูลกองเท่าภูเขาได้เร็วแบบ AI
ด้วยเหตุผลนี้ AI จึงเหมาะจะมาเป็นผู้ช่วยแพทย์ และพยาบาลในบางจุด เช่น จัดการเรื่องการบันทึกประวัติการรักษาพยาบาล และจัดเรียงเข้า Blockchain , ช่วยออกแบบการรักษา โดยวิเคราะห์จากข้อมูล เช่น Watson (IBM software) ที่ประมวลข้อมูลจากรายงานทางการแพทย์ กว่า 600,000 ข้อมูล, ประวัติการรักษาพยาบาล จากคนไข้ 1.5 ล้านคน, และ Textbook กับวารสารทางการแพทย์ (Journal) อีกกว่า 2 ล้านหน้า เพื่อมาช่วยทำแผนการรักษาให้คนไข้มะเร็ง แต่ละบุคคล
ตอนนี้ทาง บริษัท ดับเบิ้ลยู-แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด ก็ได้มีการพัฒนาระบบ Blockchain และ AI ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รพ.ศรีนครินทร์ และเข้า Sand box (การทดสอบในขอบเขตจำกัด) เพื่อขอใบอนุญาตร่วมกับทางจังหวัดขอนแก่น เพื่อต่อยอดการพัฒนาระบบ Blockchain ให้เชื่อมต่อระหว่างโรงพยาบาลขนาดเล็ก หน่วยอนามัย หรือแม้แต่คนไข้แต่ละบุคคล เข้ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง ลดความแออัดที่โรงพยาบาล และประหยัดเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงพัฒนา AI เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่สูงสุด บนต้นทุนที่ต่ำลงในอนาคต
การพัฒนา Robot รวมถึง AI นั้น ปัจจุบันมุ่งเน้นไปในทาง Robot ช่วยผ่าตัด เพื่อความแม่นยำ แผลเล็ก และลดความเสี่ยงของบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อพูดถึงความเสี่ยงของบุคคลากรทางการแพทย์ หลายคนคงไม่เข้าใจ ว่ามีเจ้าหน้าที่หลายแผนก ที่ต้องรับความเสี่ยง เพื่อช่วยชีวิตของคนไข้ เช่น เจ้าหน้าที่แผนก X-ray หรือรังสีรักษา รวมถึงแพทย์ ที่ทำหน้าที่ฝังแร่ (สารกัมมันตรังสี) ให้คนไข้ เพื่อรักษามะเร็ง เขาเหล่านั้น ต้องเสี่ยงต่อการใกล้ชิดและสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคร้ายในอนาคต เช่นมะเร็งบางชนิด ถ้ามีการพัฒนา Robot หรือ AI มาช่วยแทนที่น่าจะเป็นการช่วยมนุษยชาติอย่างแท้จริง มากกว่าพัฒนามาเพื่อการค้าเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า AI จะสามารถจำข้อมูลได้ทุกโรคตามอาการที่คนไข้บอก แต่ AI ก็อาจจะไม่สามารถจับเท็จ หรือประมวลอาการที่อาจแสดงออกจากน้ำเสียง หรือท่าทางได้เท่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์ ดังนั้น AI จึงยังเป็นเพียงเครื่องมือ ที่มาช่วยให้แพทย์ ทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น คงยังไม่สามารถมาแทนที่แพทย์ ได้ทั้งหมดในทีเดียว ฉะนั้นแพทย์ก็ยังไม่ต้องกลัวว่าจะตกงาน เย้!!!!
พญ.พรนารี ไม้เจริญ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท W-Capital Group Co.,Ltd