การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน...กับความท้าทายครั้งใหญ่ - Forbes Thailand

การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน...กับความท้าทายครั้งใหญ่

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Oct 2016 | 12:57 PM
READ 3321
หากพูดถึงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็น “ต้นน้ำ” ของอุตสาหกรรมพลังงานนั้น ยุคบุกเบิกปิโตรเลียมในไทยถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2464 เมื่อรัฐว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันมาสำรวจหาปิโตรเลียมในแหล่งฝาง จังหวัดเชียงใหม่และกาฬสินธุ์ หลังจากนั้นรัฐจึงพยายามค้นหาน้ำมันดิบในพื้นที่อื่นๆ เป็นลำดับ ช่วงแรกของการสำรวจปิโตรเลียมในไทยดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ ต่อมารัฐบาลตระหนักว่าการสำรวจนั้นมีความเสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งยังขาดเทคโนโลยีและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ในปี 2503 รัฐบาลมีนโยบายเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2514 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติปิโตรเลียม สร้างความสนใจให้เอกชนทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2524 จากแหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย และเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2526 จากแหล่งสิริกิติ์ในจังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในเชิงพาณิชย์ได้นับแต่นั้นมาฃ  

ความมั่นคงตลอดสามทศวรรษ

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ประเทศไทยยังขาดแคลนทั้งเทคโนโลยี และผู้ชำนาญการด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รัฐบาลสมัยนั้นจึงมีนโยบายให้จัดตั้งบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้น โดยมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดตั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2528 โดยทำหน้าที่หลักในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยปตท.สผ.ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท ไทยเชลล์ ในแหล่งน้ำมันสิริกิติ์หรือโครงการเอส 1 เป็นโครงการแรก ต่อมาในปี 2535 เพื่อลดภาระของรัฐ และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ปตท.สผ.จึงได้ระดมทุนจากภาคเอกชนด้วยการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยยังมีปตท.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาปตท.สผ.สั่งสมประสบการณ์และความชำนาญด้วยการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากร จากการเริ่มต้นเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งน้ำมันดิบขนาดเล็กในโครงการพีทีทีอีพี 1 ในปี 2536 จากนั้นได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการบงกช แหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ในปี 2541 รวมทั้งเข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการเอส 1 และเป็นผู้ดำเนินการและร่วมทุนในแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ อีกหลายโครงการ ไม่เพียงแต่แสวงหาแหล่งพลังงานในไทยเท่านั้น กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาปตท.สผ. ยังขยายการลงทุนไปในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกอาทิ โครงการซอติก้า ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาซึ่งเป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ปตท.สผ.ดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งปตท.สผ.ภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเมียนมาเพื่อนำพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ปัจจุบันปตท.สผ.มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลก จำนวน 38 โครงการใน 11 ประเทศ ทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ออสเตรเลีย และอเมริกา  

แนวทาง “Reset-Refocus-Renew”

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงตั้งแต่ปี 2557 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจพลังงานทั่วโลก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ จากการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ขณะที่โอเปกมีมติไม่ลดการผลิตน้ำมันลง สวนทางกับความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในยุโรป ญี่ปุ่น จีน ทำให้อุปสงค์และอุปทานของพลังงานทั่วโลกไม่สมดุล ปัจจัยข้างต้นฉุดให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ธุรกิจปิโตรเลียมทั่วโลกจึงมาถึงจุดที่ต้องเผชิญความท้าทายที่ไม่ใช่เพียงระยะสั้นๆ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ สิ่งที่ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลกให้ความสำคัญในเวลานี้คือการปรับลดค่าใช้จ่ายและชะลอการลงทุน บริษัทน้ำมันหลายแห่งปิดตัวลง ควบรวมกิจการ หรือลดการจ้างงานรวมหลายแสนตำแหน่งเพื่อความอยู่รอดในขณะนี้ แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้อยู่รอดในระยะยาว โจทย์ที่สำคัญของเราในเวลานี้คือการคิดและทำสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม เราจึงปรับแผนกลยุทธ์ให้รองรับกับความท้าทายในครั้งนี้ เริ่มจากโครงการ “SAVE to be SAFE” ตั้งแต่กลางปี 2557 ด้วยการลด ละ เลื่อน เพื่อลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานโดยปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30% จากงบประมาณที่ตั้งไว้ต้นปี ในปี 2559 นี้ ปตท.สผ.ได้กำหนดกลยุทธ์ตามแนวทาง “Reset–Refocus–Renew” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เริ่มด้วย “Reset”คือ การปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อสามารถแข่งขันได้กับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเดียวกันโดยคงไว้ซึ่งมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างจิตสำนึกเรื่องต้นทุนให้พนักงานทุกคน ปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อสร้างความเป็นเลิศในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ส่วน “Refocus” คือการเน้นการลงทุนในพื้นที่ที่เรามีความเชี่ยวชาญ มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำ แต่ยังคงให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมโดยเฉพาะในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงมองหาโอกาสการลงทุนโดยสร้างพลังร่วมกับปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในประเทศ ที่เพิ่มขึ้น เพิ่มพันธมิตรด้านการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับ “Renew” คือ การปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทั้งด้านการสำรวจและผลิต ตลอดจนศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต  

ภารกิจเร่งด่วน...

ความมั่นคงด้านพลังงานไทยเรื่องเร่งด่วนด้านพลังงานในเวลานี้ คือการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่งใหญ่ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2565-2566 ซึ่งก็คือ แหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาวิธีการและเงื่อนไขในการประมูลให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงด้านความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแหล่งนี้ ซึ่งปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากทั้งสองแหล่งประมาณ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากปริมาณควาต้องการก๊าซธรรมชาติของประเทศที่ 4,500-5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างสูงและมีความสำคัญมาก ในฐานะที่ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการแหล่งบงกช โจทย์ของปตท.สผ.ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องธุรกิจหรือผลกำไร แต่เพื่อความต่อเนื่องของการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศตลอดจนธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ที่สร้างมูลค่ารายได้การจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศ   สมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
คลิ๊กอ่านบทความทางด้านธุรกิจเพิ่มเติมได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016