การพัฒนาหลายโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ ล้วนนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ความสอดคล้องในการพัฒนากับความต้องการพื้นฐานของสังคมจะดีกว่านี้
หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนและทำงานร่วมกับรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจในปัญหาพื้นฐานและความต้องการได้รับการพิจารณาออกแบบและพัฒนาโครงการออกมาได้ตรงจุด แต่ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการต่างๆ ล้วนกำหนดมาจากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยภาคเอกชนเป็นฝ่ายปฏิบัติตาม ซึ่งหลายโครงการอาจไม่เป็นดั่งความคาดหวังของรัฐบาล แต่หากปรับแนวทางการวางแผนเปิดให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น จะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงการมีมากขึ้น การส่งเสริมนวัตกรรมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ปัจจุบันรัฐมีหลายหน่วยงานที่ดูแลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม แต่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานของรัฐ ความคล่องตัวในการจะส่งเสริมและพัฒนาด้านนวัตกรรมค่อนข้างน้อยและเชื่องช้า กระทั่งล่าสุดภาคเอกชนมีแนวคิดที่จะตั้ง “กองทุนนวัตกรรม” ขึ้นมาเองเพื่อให้คล่องตัวในการสนับสนุน และเปิดกว้างให้เอกชนที่สนใจให้การสนับสนุนเงินทุน เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลให้สิทธิพิเศษส่วนลดภาษีเป็น 3 เท่า เช่นเดียวกับการสนับสนุนนวัตกรรมที่หน่วยงานภาครัฐดูแล เนื่องจากนวัตกรรมคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงของการปรับตัว เพื่อรับมือการแข่งขันจากทั่วโลก โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ไม่น่าห่วง เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่อุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีของไทยยังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการ disruption ของเทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนสถานการณ์เรื่องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่มี ผลกระทบมาก การว่างงานในแรงงานระดับล่างยังค่อนข้างต่ำ แต่ในอนาคตแรงงานระดับล่างจะโดน disrupt จากเทคโนโลยี เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ต้องจับตามองให้ดี ทุกวันนี้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลาง-ขนาดใหญ่เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานมากพอสมควร ภาคอุตสาหกรรมกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านด้านเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำการศึกษาสถานการณ์แรงงานพบว่าในระยะสั้น ไม่น่าห่วง แต่ระยะยาวการใช้แรงงานแบบซ้ำๆ น่าจะมีการทดแทนโดยเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ขณะที่หลายคนวิตกกังวลเรื่องปัญหาการว่างงาน ก็มีบางวิชาชีพที่ยังขาดแคลน เช่น แรงงานด้านไอที ไทยยังขาดแคลนอยู่มาก ส.อ.ท.จึงได้ดำเนินการโครงการ Up-skill ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียกว่าโครงการ “FTI Academy” (The Federation of Thai Industries Academy) โดยทำหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับภาครัฐเพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เน้นเพิ่มทักษะด้านไอทีและวิศวกรรม ด้วยการจัดอบรมไม่เกิน 1 ปีเพื่อพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผน โดยประสานตรงกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยคาดว่าจะเปิดหลักสูตรอบรมระยะสั้นได้ราวไตรมาส 3 ปีนี้ นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ทำสมุดปกขาว (white paper) ส่งถึงทุกพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้งและเตรียมส่งถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศให้มองความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 5 แนวทางหลัก ประกอบด้วย- สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมร่วมกับภาครัฐ และเร่งการพัฒนา Ease of Doing Business ของทั้งภาครัฐและเอกชน
- เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย โดยการตั้งกองทุน Innovation Fund สำหรับ SMEs และการตั้งศูนย์ Big Data ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร (Smart Agro)
- ยกระดับ SMEs และส่งเสริม Made in Thailand โดย SME Venture Program และยกระดับสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล จัดตั้งกองทุนผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ SMEs ด้วยการจัดตั้งศูนย์สนับสนุน E-Commerce และ ภาครัฐเพิ่มวงเงินจัดซื้อสินค้านวัตกรรม
- เสริมสร้างธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยรัฐจัดให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นและปฏิรูปบุคลากรภาครัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสิ่งแวดล้อม
- ยกระดับทักษะ ความรู้และคุณภาพชีวิตทรัพยากรมนุษย์ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) และ ปรับการศึกษาให้เข้ากับภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill)
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine