"ETRAN" สตาร์ทอัพเจ้าของผลงานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งสาธารณะคันแรกของโลกที่สามารถคว้ารางวัล Red Dot Winner 2020 Innovative Award และระดมทุนซีรีส์ A กว่า 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้สำเร็จ พร้อมทำความเร็วสร้างชื่อยานยนต์พลังงานสะอาดสัญชาติไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความมุ่งมั่นในพันธสัญญา Drive The Better World
Mission impossible ของ Ethan Hunt กลายเป็น mission ที่ต้อง possible ของ "ETRAN" สตาร์ทอัพรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย ที่สามารถปั้นฝันให้เป็นจริงในการใช้พลังงานสะอาดขับเคลื่อนโลกให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมพร้อมให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และโอกาสเพิ่มรายได้จากต้นทุนพลังงานที่ลดลงสำหรับการใช้งานด้านการขนส่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรนักลงทุนร่วมปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ปลอดมลพิษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “ในวันแรก know-how เป็นศูนย์ เราไม่มีความมั่นใจเลย โดยเริ่มจากการเสนอไอเดีย ซึ่งทุกคนบอกว่า ดีหมดแต่ไม่น่าทำได้ นั่นจึงเป็นที่มาของ ETRAN จากภาพยนตร์ Mission Impossible โดย Ethan Hunt จะได้โจทย์ยากตลอดแต่ก็สามารถทำให้สำเร็จ ผมคิดว่า ETRAN ก็กำลังทำโจทย์ยาก และพวกเราต้องทำให้สำเร็จ ต้องเป็นผู้นำทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่สามารถสร้างคุณค่าเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นผลดีกับทุกคนที่อยู่บนโลก โดยเราต้องการ aspire ว่า คนไทยทำได้และทำได้ดีด้วย” สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นภารกิจเปลี่ยนโลก- ปั้นฝันถนนปลอดสารพิษ -
แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้สรณัญช์ตัดสินใจเริ่มต้นปฏิบัติการเปลี่ยนโลกเกิดขึ้นในขณะโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อเดินทางต่อไปยังรถไฟฟ้าให้ทันเวลานัดประชุมในย่านธุรกิจใจกลางเมืองจากปกติที่เดินทางด้วยรถยนต์เป็นประจำ ทำให้ได้สัมผัสถึงฝุ่นมลภาวะรอบด้านโดยตรงไม่เฉพาะบนท้องถนนแต่ยังรวมถึงผู้ที่สัญจรทั่วไปและผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่นควันเป็นเวลานาน เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ซึ่งสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างมากแค่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากโรคทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับท็อป 3 ของโลก “ช่วงที่อยู่บนรถไฟฟ้าเราก็คิดว่า เราเรียนการออกแบบรถมาทำไมไม่ลองทำรถที่นั่งสบายขึ้น และทำให้สิ่งแวดล้อมรวมถึงคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เราตามหาอยู่เสมอว่าจะทำอะไรดี หลังจากที่เราเคยทำอะไรมาหลายอย่างทั้งขายอัญมณีขายเพชร ร้านอาหาร ทำน้ำมะพร้าวส่งออกไปต่างประเทศ ร้านตัดขนสุนัขที่ได้ลองตัดขนสุนัขเองด้วย แต่ไม่มีครั้งไหนรู้สึกตื่นเต้นเท่าครั้งนี้กับการทำรถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องการสร้างอะไรสักอย่างที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกและสร้างความยั่งยืน โดยตลอด 6 ปีที่ผ่านมายิ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น” “ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาเราได้ทุ่มเทกับการวิจัย การสร้างต้นแบบทดลองกับผู้ใช้งานและเริ่มทำการตลาดแล้ว โดยในปีที่แล้วเรายังเป็นผู้ชนะจาก UN Environmental Programme หรือสหประชาชาติเรื่อง low carbon lifestyle challenge ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น จากวันนี้ทุกกระบวนการของ ETRAN จะถูกมอนิเตอร์และรายงานผลต่อสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราต้องการให้ทุกคนเห็นภาพว่า ETRAN ไม่ได้ทำแค่รถ แต่เราพยายามสร้างสังคมที่ยั่งยืนภายใต้มาตรฐานของสหประชาชาติ แต่จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีนักลงทุนเข้ามาร่วมสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าพวกเราที่เป็นผู้ก่อตั้งทำได้” สรณัญช์กล่าวถึงความสำเร็จในการระดมทุนซีรีส์ A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญ หรือ 100 ล้านบาทจากนักลงทุนอิสระ (angel investor) และ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถจักรยานยนต์สัญชาติไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เนื่องจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของ ETRAN ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทรนด์อีวีที่กำลังเติบโตทั่วโลก นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กว่า 16 ล้านบาท เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตใน ETRAN PROM รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะคันแรกของโลกที่สามารถคว้ารางวัล Red Dot Winner 2020 Innovative Product จาก Red Dot Design Award ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม ซึ่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอันนำไปสู่การลดต้นทุนและสร้างมาตรฐานของรถไฟฟ้าสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันได้ “เหตุผลของผู้ตัดสินที่ให้ ETRAN PROM เพราะ innovative transportation สามารถลดการจราจรบนท้องถนนได้ และเป็นรูปแบบขนส่งสาธารณะสองล้อ ทั้งประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้านหรือขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้ รวมถึงสิ่งที่เราภูมิใจมากคือ การใช้พลาสติกที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ 52% ในปี 2562 และกำลังเดินทางเข้าใกล้ 100% มากขึ้นเรื่อยๆ” ขณะที่ในปีนี้บริษัทมีความพร้อมเดินหน้าการผลิต ส่งมอบ และทำการตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น ได้แก่ ETRAN KRAF หลังจากได้มีการเปิดตัวรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่นในปี 2562 และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ซึ่งในปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยบนท้องถนนและเพิ่มประสบการณ์ขับขี่ที่ดีให้ผู้ใช้งาน รวมถึงการพัฒนาการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยวางเป้าหมายส่งมอบรถได้ช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกยังทำให้บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะรุ่น ETRAN MYRA ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานกลุ่มขนส่ง ด้วยระยะทางต่อการชาร์จ 180 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น บริษัทจึงวางแผนดำเนินการขยายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือ ETRAN Power Station จำนวน 100 สถานีในเขตกรุงเทพฯ ภายใน 3 ปี เพื่อรองรับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ให้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ทันทีในลักษณะ battery swapping พร้อมทั้งนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่สมรรถนะสูง เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “เราต้องการสร้างคอมมูนิตี้สังคมคนที่ใส่ใจมอเตอร์ไซค์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเราไม่ใช่แค่รถที่ไม่ปล่อยคาร์บอน แต่เราทำให้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสะอาดที่สุดด้วยเป้าหมายสำคัญในการลดมลพิษทางอากาศ” สรณัญช์ย้ำถึงเป้าหมายการเปลี่ยนวงการรถจักรยานยนต์สู่พลังงานสะอาดด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ตระหนักในการมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่สร้างมลพิษทางอากาศและทางเสียงเพื่อโลกที่ดีกว่า พร้อมวางเป้าหมายยอดขาย ETRAN MYRA เติบโตควบคู่ภาคการขนส่ง last mile delivery กว่า 10,000 คันในปี 2567 ด้านเป้าหมายรายได้รวมของบริษัทคาดการณ์การเติบโตไว้ประมาณ 400-500 ล้านบาทในปี 2564 และสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดแตะ 1 พันล้านบาทในปี 2566 ด้วยยอดขายจำนวนกว่า 100,000 คัน พร้อมครองส่วนแบ่งทางการตลาดจำนวนกว่า 50% ของตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารวมภายในปี 2568 ขณะเดียวกันยังเตรียมความพร้อมการส่งออกจัดจำหน่ายและลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถนำโมเดลความสำเร็จจากประเทศไทยเป็นโมเดลต้นแบบขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไปที่ต้องการประสิทธิภาพการใช้งานเทคโนโลยี และความปลอดภัยในชีวิตจนถึงสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด Drive The Better World สู่การเดินหน้า 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Clean การมุ่งมั่นพัฒนา ecosystems รถจักรยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และกลยุทธ์ Efficient พัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ สมรรถนะโดดเด่น และใช้งานได้ทุกรูปแบบ นอกจากนั้น สรณัญช์ยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Equitable ส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการทำให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดของบริษัทสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้ผู้ใช้งาน “ปีนี้เป็นปีที่มีการผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจังในการเป็น EV Hub โดยในส่วนที่ใกล้เคียงกับเราอย่างสถานีชาร์จ จะมีรถบางรุ่นของเราที่ติดตั้งหัวชาร์จมาตรฐานสามารถชาร์จจากตู้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเข้าถึงพลังงานที่มาจาก infrastructure ของประเทศหรือภาคเอกชนได้ง่ายและในส่วนของภาษีทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายก็มีนโยบายที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าการนำเข้าชิ้นส่วนมีราคาถูกลงก็จะทำให้เราสามารถลดต้นทุนและแข่งขันได้” ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญในการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้วยการก้าวจากสตาร์ทอัพเป็นองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ พร้อมพัฒนาองค์กรและสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งด้านการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายสูงสุดในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต รวมถึงการเป็นผู้นำขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อ่านเพิ่มเติม:- แมคแคน เวิลด์กรุ๊ป เผยผลสำรวจพฤติกรรม GEN Z ของไทย พบเป็น ‘นักแสวงหาความเท่’
- PROPERTYGURU รุกบริการฟินเทค ต่อยอดรายได้จากอสังหาริมทรัพย์
- CANVA ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine