คาดปี 67 บริษัทไทยขึ้นเงินเดือน 5% เพิ่มขึ้นจากปี 66 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชีย - Forbes Thailand

คาดปี 67 บริษัทไทยขึ้นเงินเดือน 5% เพิ่มขึ้นจากปี 66 แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชีย

เมอร์เซอร์ ประเทศไทยได้เปิดเผยผลการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี (Total Remuneration Survey - TRS) สำหรับภาพรวมมีการคาดการณ์ว่าค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (Median merit salary increments) ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จาก 4.8% ในปี 2566


    “จักรชัย บุญยะวัตร” ประธาน บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “ด้วยการฟื้นตัวที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ บวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลใหม่ เราคาดว่า economic landscape ในประเทศไทยในปี 2567 จะเป็นไปในเชิงบวก โดยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีเสถียรภาพ”

    สำหรับค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Median salary increments) ของปี 2567 ในประเทศไทยถูกคาดการณ์ไว้ที่ 5% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่ 5.2% ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนที่แตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอยู่

    โดยตามรายงานประจำปี 2567 พบว่ากลุ่มประเทศที่มีค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Median salary increments) ที่สูงที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ 9.3%, 7.0% และ 6.5% ตามลำดับ

    ในขณะที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง มีการรายงานค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Median salary increments) ที่ต่ำที่สุดในภูมิภาค ที่ 2.6%, 3.8% และ 3.9% ตามลำดับ โดยผลสำรวจของประเทศอื่นๆ ที่รวมอยู่ในการสำรวจมีดังนี้ ฟิลิปปินส์ ที่ 5.7% จีนที่ 5.2% มาเลเซียที่ 5.% เกาหลีใต้ที่ 4.4% และสิงคโปร์ที่ 4.2%

อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และยานยนต์ เป็นกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) สูงที่สุดในประเทศไทย

    จากผลสำรวจคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) โดยอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และยานยนต์ จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) สูงที่สุดในปี 2567 ที่ 5%

    ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นของ 3 อุตสาหกรรมข้างต้นนั้น มีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เป็นผลจากการขยายตัวของนวัตกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในตลาด และส่งผลให้การแข่งขันขยับตัวสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการที่มากขึ้นในการจ้างงานบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (talent)

    นอกจาก 3 อุตสาหกรรมข้างต้น อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) สูงกว่าปี 2566 อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่มีได้รับการคาดการณ์ว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปี (merit salary increment) จะมีการปรับตัวลดลงจาก 4.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2566 เป็น 4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2567

    สำหรับการจ่ายโบนัสประจำปี อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญการทำผลงานของพนักงาน ซึ่งได้ถูกสะท้อนออกมาในการสำรวจ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความต่างของยอดการจ่ายที่สูงที่สุดระหว่างการจ่ายโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานที่ทำผลงานได้ตามเป้าหมายและพนักงานที่ทำผลงานได้โดดเด่นที่ 68%, 61% และ 52% ตามลำดับ

    อัตราการลาออกจากงานแบบสมัครใจที่สูงขึ้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการผ่อนคลายของตลาดแรงงานในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อัตราการลาออกจากงานแบบสมัครใจในประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตเป็น 10% ในปี 2566

    จักรชัยเสริมว่า “เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไทย บริษัทต่างๆ ได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และกำลังลงทุนเพื่อขยายกิจการ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการแย่งตัวกันของบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (talent)

    นอกจากนี้สังคมที่กำลังดำเนินไปในทิศทางของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้นำในองค์กรต่างๆ ดังนั้นบริษัทต่างๆ ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินกลยุทธ์ในการจัดจ้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (talent) เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้”

    เดเรก เฮง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท มาร์ช แอน แมคเลนแนน ประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงแม้จะมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการผ่อนคลายในตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานในประเทศไทยยังคงอยู่ที่ 1.2% ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

    “สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าพนักงานในประเทศไทยยังคงมองหาโอกาสในการทำงานที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตอย่างประสบความสำเร็จในอนาคตและมีโอกาสที่ดีกว่าในเรื่องของค่าตอบแทน

    “ดังนั้นความสามารถในการนำเสนอแพคเกจค่าตอบแทนที่คิดออกมาอย่างถี่ถ้วนจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนายจ้างและผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลในการดูแลและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (talent) โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องการทักษะเฉพาะตัว เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงและวิทยาศาสตร์สุขภาพ”

    หมายเหตุ: สำหรับการสำรวจในปีนี้มีองค์กรเข้าร่วมการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี (TRS) ในประเทศไทยทั้งหมด 617 องค์กร จาก 7 อุตสาหกรรม โดยการสำรวจจัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายนที่ผ่านมา


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พนักงานไทย 99% บอกว่า Generative AI ช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine