ผู้คนต่างคาดคะเนว่าบุคคลมั่งคั่งนั้นน่าจะมีสิ่งที่ “แตกต่าง” จากคนทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่ทรัพย์สินที่พวกเขามีเท่านั้น แต่ “คนรวย” ยังมีบุคลิกภาพที่แตกต่างด้วย
แปลและเรียบเรียงจาก New Psychological Studies: How The Wealthy Really Are Different From Everyone Else โดย Rainer Zitelmann นักวิจัยและนักเขียนด้านจิตวิทยาและสังคม
มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่มากที่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธข้อสันนิษฐานเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยาชาวเยอรมัน 6 คนได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ในประเด็นดังกล่าว พวกเขาสัมภาษณ์บุคคลมั่งคั่งทั้งหมด 130 คน เพื่อนำผลลัพธ์มาสร้างบุคลิกทางจิตวิทยาเฉพาะของกลุ่มคนรวย จากนั้นนำมาเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมด
หลัก Big Five เพื่อทดสอบเปรียบเทียบ
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แบบวัดบุคลิกภาพ 5 อย่าง (Big Five) ถือเป็นโมเดลการวัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทำให้ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยทางจิตวิทยาของบุคคลมั่งคั่งนี้ด้วยเพื่อหาข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด ซึ่งแกนบุคลิกภาพ 5 อย่างดังกล่าว ได้แก่
- การมีจิตสำนึก (Conscientious) อธิบายบุคลิกของคนที่มีความละเอียดถี่ถ้วน พิถีพิถัน ขยัน มีประสิทธิภาพ มีความเป็นระบบระเบียบ ตรงต่อเวลา ทะเยอทะยานและมุ่งมั่น
- ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism) บุคคลที่มีบุคลิกภาพข้อนี้สูงมักจะเป็นคนขี้กังวล ไม่มั่นใจต่อสิ่งใดก็ตามที่มีโอกาสไม่เป็นอย่างที่คาด กลุ่มนี้มีแนวโน้มตอบโต้กลับตามอารมณ์ และไม่มั่นคงทางจิตใจ
- ความเป็นมิตร (Agreeableness) บุคคลที่มีความเป็นมิตรสูงมักจะต้องการความสมัครสมานกลมเกลียว ดังนั้นพวกเขามักจะยอมถอยอย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญความขัดแย้ง และมีความไว้วางใจผู้อื่นมากเกินไป
- การเปิดตัว (Extraversion) คนที่มีบุคลิกนี้สูงมักจะช่างพูด มุ่งมั่น กล้าได้กล้าเสีย พลังงานสูง และกล้าหาญ
- การเปิดรับประสบการณ์ (Openness to Experience) คนที่มีบุคลิกเปิดรับประสบการณ์มักจะเป็นคนมีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และช่างสงสัย
จากการเปรียบเทียบแกนบุคลิกภาพ 5 อย่างระหว่างกลุ่มผู้มั่งคั่งที่รับการสัมภาษณ์กับคนทั่วไป จะพบรูปแบบความแตกต่างเหล่านี้
- คนรวยมีอารมณ์ที่มั่นคงกว่า (มีบุคลิกแบบ Neuroticism น้อย)
- คนรวยมีบุคลิกเปิดตัว (Extraversion) สูงเป็นพิเศษ
- คนรวยมีการเปิดรับประสบการณ์สูงกว่า
- คนรวยยอมโอนอ่อนผ่อนตามน้อยกว่า หมายความว่าเป็นไปได้น้อยที่พวกเขาจะหนีจากข้อขัดแย้ง
- คนรวยมีบุคลิกการมีจิตสำนึก (Conscientious) มากกว่า
นอกจากการทดสอบ Big Five แล้ว นักวิจัยกลุ่มนี้ยังวัดผลบุคลิกภาพอีก 2 ด้านด้วย คือ บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissism) และ วัดระดับลักษณะมุ่งอนาคตควบคุมตน (Internal Locus of Control = LOC ยิ่งมีมากจะยิ่งเป็นคนที่เชื่อโชคชะตาน้อย เชื่อตนเองมากกว่า) สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือ
- คนรวยมีความหลงตัวเองมากกว่าคนทั่วไป
- คนรวยแสดงค่า LOC ที่สูงกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ พวกเขามักจะเห็นด้วยกับแนวคิด เช่น ‘ฉันเป็นผู้กำหนดผลลัพธ์ของชีวิตด้วยตัวเอง’ มากกว่าแนวคิดอย่าง ‘ความสำเร็จในชีวิตเกิดจากโชคชะตาเป็นหลัก’
แรงขับเบื้องหลัง “คนรวย”
นอกจากจะตอบสัมภาษณ์เกี่ยวกับบุคลิกภาพ Big Five อย่างเข้มข้นเป็นเวลาคนละ 1-2 ชั่วโมงแล้ว พวกเขายังต้องตอบคำถามเรื่องบุคลิกภาพเชิงลึกอีก 50 คำถามด้วย
กุญแจสำคัญที่ทีมวิจัยค้นพบคือ มหาเศรษฐีเหล่านี้มักจะมีขบถต่อธรรมเนียมปฏิบัติ พวกเขาเพลินใจกับการว่ายทวนกระแสสังคมและไม่มีปัญหาหากต้องต่อต้านแนวคิดปกติทั่วไป
- มหาเศรษฐีอ่านอะไร? หนังสือ 5 เล่มที่ทรงอิทธิพลต่อความคิด 5 บุคคลมั่งคั่งของโลก
- เปิดบุคลิกผู้นำ 4 แบบแห่ง "ยุคอุตสาหกรรม 4.0." ...คุณคือผู้นำธุรกิจแบบไหน?
กลุ่มคนรวยเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจจาก ‘gut feeling’ คือมักจะใช้สัญชาตญาณมากกว่าดูบทวิเคราะห์อย่างละเอียด
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขามีวิธีการรับมือกับความพ่ายแพ้และล้มเหลวที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนส่วนใหญ่
ประชากรส่วนใหญ่นั้นมักจะต้องการ ‘เครดิต’ ในความสำเร็จ ขณะที่พยายามโยนความผิดให้กับผู้อื่นเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือพ่ายแพ้ ในทางตรงข้าม เหล่าคนรวยมักจะมองหาเหตุแห่งความผิดพลาดในตัวพวกเขาเอง ไม่ใช่ในสภาพแวดล้อมหรือคนอื่น
ความสำคัญของวิธีคิดนี้คือ มันทำให้พวกเขารู้สึกถึงอำนาจ “ถ้าความผิดนั้นเป็นเพราะตัวฉัน ฉันจะสามารถเปลี่ยนมันได้ ฉันสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้”
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนบางกลุ่มประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้ การผสมผสานของบุคลิกภาพรูปแบบเฉพาะซึ่งงานวิจัยได้ค้นพบคือหนึ่งในเหตุผลเหล่านั้น คนรวยรวยได้เพราะพวกเขามีวิธีปฏิบัติที่ต่างจากคนทั่วไป และพวกเขาปฏิบัติแตกต่างก็เพราะพวกเขาคิด ตัดสินใจ และตอบโต้กับสิ่งต่างๆ แตกต่างออกไปเช่นกัน