ผู้เชี่ยวชาญเผยคนวัยทำงานอย่าหยุดพัฒนานำหลัก STEM และ SMAC เสริมแกร่ง เผยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องปรับการทำงานเพื่อมัดใจพนักงาน - Forbes Thailand

ผู้เชี่ยวชาญเผยคนวัยทำงานอย่าหยุดพัฒนานำหลัก STEM และ SMAC เสริมแกร่ง เผยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องปรับการทำงานเพื่อมัดใจพนักงาน

เวิร์กเดย์ จัดงานเสวนา หัวข้อ “Engaging Thailand’s Future Workforce” เชิญนักวิชาการ นักวิเคราะห์ นำโดย เดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ และ ดร. สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด

ช่วงการเสวนาได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ในการรับมือกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นด้านการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถที่สุด เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนแนวโน้มด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้วิธีการทำงานของพนักงานเปลี่ยนแปลงไป
เดวิด โฮปผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค
เดวิด โฮป ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเวิร์กเดย์ เอเชีย แปซิฟิค กล่าวก่อนเปิดการเสวนา ถึงความสำคัญของการปรับปรุงการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพราะกว่า 70% ของผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับถูกใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคล บริษัทขนาดใหญ่ในโลกต่างใช้ระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการสรรหาบุคคลากร ปัจจุบัน Workday มีจำนวนผู้ใช้ราว 26 ล้านคน บนแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ รวมถึง แอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นลูกค้าบริษัทราว  2,000 รายทั่วโลก อาทิ amazon, Netflix ซึ่งในปีที่ผ่าน Wal-Mart ที่มีจำนวนพนักงานกว่า 2.2 ล้านคน โดยมี อิซากิ กูลิโกะ เป็นอีกหนึ่งลูกค้าที่ใช้ระบบของเราในสำนักงานทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเรามีลูกค้าโดยประมาณ 200 ราย คลาวด์มีความสำคัญต่อธุรกิจทั่วโลกมากขึ้น และประเทศไทยเองก็รับรู้ถึงผลสืบเนื่องจากการที่ธุรกิจต่างๆ กำลังใช้บริการระบบคลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคล ผลสำรวจในปี 2560 โดย The Economist Intelligence Unit พบว่าร้อยละ 47 ของบริษัทในประเทศไทยเก็บข้อมูลส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไว้บนระบบคลาวด์ ด้าน วิไลพร ทวีลาภพันทอง หัวหน้าหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างคาดว่าจะย้ายการดำเนินการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมายังระบบคลาวด์ภายในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า สำหรับประเทศไทย เราเห็นบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง เริ่มมีการประยุกต์ใช้ระบบคลาวด์เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าบริษัทอื่นๆ จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบคลาวด์ด้วยภายใน 1-3 ปีข้างหน้านี้” ระบบคลาวด์จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการวิเคราะห์การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการอีกด้วย ด้านปัญหาแรงงาน วิไลพร ให้ความเห็นว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องแรงงาน เราจะเห็นภาพการต่ออายุการทำงานของคนวัยเกษียณ ให้สิทธิประโยชน์หรือลดวันทำงานมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มแรงงานยุคมิลเลนเนียมมีการเปลี่ยนงานบ่อยไม่เกิน 5 ปีเปลี่ยนงานหนึ่งครั้ง จากความคิดเห็นของเธอกล่าวว่า เด็กยุคใหม่เรียนหนังสือและทำงานส่งอาจารย์ผ่านระบบที่ทันสมัยได้แม้อยู่นอกมหาวิทยาลัย และพวกเขาคาดหวังว่าองค์กรต่างๆ ที่พวกเขาทำงานจะมีความยืดหยุ่นในแง่การเข้างานซึ่งอาจสร้างความอึดอัดให้เด็กยุคนี้ “ในมุมมองนายจ้างจึงมีท้าทายในการเป็น HR ที่เรียกว่า Next Gens HR  มีการวิเคราะห์บุคคลสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย”
ดร.สาธิต วิทยากรประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด
ด้าน ดร. สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปแบบพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพซึ่งการบริหารจัดการทุนมนุษย์ที่เหมาะสมมีความสำคัญยิ่งขึ้น “กลุ่มบริษัทของเราคือเข้าไป take over โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเราเข้าไปร่วมพัฒนาระบบต่างๆ ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ ซึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลของเราของในต่างจังหวัดเรื่องการย้ายงานแทบจะมีแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่พนักงานที่ทำงานส่วนใหญ่ทำงานมานานซึ่งเป็นกลุ่มคนสูงวัย การเข้าไปสอนและให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง  เราต้องดูแลคนกลุ่มสูงอายุแบบคนกลุ่มมิลลิเนียมให้สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ทเป็น”
ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุขรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์
ขณะที่ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและประธานสายวิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับแรงงานของประเทศไทยว่า กลุ่มมิลเลนเนียลส์กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งกระแสโลกาภิวัฒน์และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สูงขึ้น การตระหนักถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ มีอิทธิพลและส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานสามารถช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลและผู้นำด้านการสรรหาบุคลากรสามารถจัดการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้ดีขึ้น “ในมุมมองของตนปัจุบันการศึกษาในประเทศไทยกับแผนเศรษฐกิจของชาติไม่สอดคล้องกัน 16% ของผู้ตกงานคือจบปริญญาตรีแบบไม่มีเนื้อหา ในขณะที่ด้านอาชีวะมีความต้องการของตลาดอยู่ต่อเนื่องในขณะที่มีเพียง 10% สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี” ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข กล่าวและเสริมว่า สำหรับคนทำงานไม่ว่าวัยไหนๆ ก็ต้องพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานอย่าง หลัก STEM และ SMAC จำเป็นศึกษาเพิ่มเติมและนำมาใช้ ทั้งนี้ วิไลพร ทวีลาภพันทอง เสริมด้วยว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเริ่มมีนำเอา AI หรือ Robotic เข้ามาทดแทนแรงงานต่างๆ ในบางอุตสาหกรรม และหากเราก้าวไปสู่ยุค 5.0 แล้ว คนกับ AI อาจนั่งทำงานด้วยกันในบางประเทศงาน คนทำงานในปัจจุบันจึงมีความรวดเร็วในการทำงาน