ยูนิเวอร์ซัม เผยผลสำรวจ “Universum 2021 Thailand” ระบุ กูเกิล ปตท. กฟผ. ติดอันดับ บริษัทนายจ้าง ในใจคนรุ่นใหม่ ชี้นักศึกษาไทยให้ความสำคัญเรื่อง “ฐานเงินเดือน” และ “ประโยชน์จากการทำงาน” มากที่สุด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมยังเป็นที่นิยม แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด
ยูนิเวอร์ซัม บริการด้านการสร้างแบรนด์ประเภทองค์กรในระดับสากล สำหรับองค์กรนายจ้าง โดยมีฐานการดำเนินธุรกิจในตลาด 60 แห่งทั่วโลก เปิดเผยผลการจัดอันดับ 100 นายจ้างในอุดมคติของยูนิเวอร์ซัมประจำปี 2564 ฉบับประเทศไทย (Universum 2021 Top 100 Ideal Employer Rankings – Thailand Edition) พบว่า กูเกิลและปตท. ครองตำแหน่งนายจ้างยอดนิยม ยูนิเวอร์ซัม ดำเนินการสำรวจโดยประมวลจากคำตอบของนักศึกษาจำนวน 11,554 รายในสาขาธุรกิจ/พาณิชย์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ กฎหมาย และสุขภาพ/การแพทย์ และการประเมินผลบุคคล 22,757 ครั้ง โดยบริษัทนายจ้าง 123 ราย โดยองค์กรนายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ คือ กูเกิล ตามมาด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ คิง เพาเวอร์ ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลีกสำหรับนักเดินทาง และปตท. ขณะที่นายจ้างที่น่าสนใจที่สุดสำหรับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ คือ ปตท. กูเกิล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปูนซีเมนต์ไทย และบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป โดยอุตสาหกรรมที่นักศึกษาชื่นชอบนั้นมีความหลากหลาย โดยธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด (39% ) พราทิก ซาเบอวัล หัวหน้าที่ปรึกษา ยูนิเวอร์ซัม ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดและการจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดเพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ หากบุคคลผู้มีทักษะสูงยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเป็นข่าวดีมากสำหรับประเทศที่มีแผนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงนี้ หวังฐานเงินเดือนกว่า 4 แสนบาทต่อปี ผลสำรวจ พบว่า นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ต้องการทำงานในภาคเอกชน (88% ของนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์ และ 84% ของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์) หากยังมีนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์กว่า 73% และนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ราว 74% คาดหวังจะได้ทำงานในองค์กรที่มีการดำเนินงานระดับโลก โดยบริษัทมหาชนยังคงเป็นตัวเลือกที่นักศึกษาส่วนมากต้องการเข้าไปทำงาน สำหรับเงินเดือนรายปีที่นักศึกษาในประเทศไทยคาดหวังคือ 431,689 บาท โดยนักศึกษาธุรกิจ/พาณิชย์มีความคาดหวังเรื่องเงินเดือนสูงกว่าโดยเฉลี่ยคาดหวังค่าตอบแทนต่อปีที่ 452,869 บาท ในขณะที่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ คาดหวังที่ 434,663 บาท สาขาธุรกิจ/พาณิชย์มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศที่ 14% โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังเงินเดือนต่ำกว่านักศึกษาชาย ส่วนนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มีช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างเพศน้อยกว่าอย่างชัดเจน โดยนักศึกษาหญิงคาดหวังต่ำกว่านักศึกษาชายที่ 8% พราทิก ซาเบอวัล กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นเวลาที่ลูกจ้างบริษัทเอกชนต้องเผชิญกับการลดเงินเดือนแบบฉับพลัน ทำให้กลุ่มผู้มีทักษะสูงในอนาคตรู้สึกเปิดกว้างมากขึ้นต่อองค์กรภาครัฐบาลที่มีความมั่นคงสูง เนื่องจากข้าราชการพลเรือนยังมีอัตราเงินเดือนคงที่ จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ปตท. เป็นบริษัทนายจ้างที่มีคุณลักษณะที่น่าสนใจอย่างมาก อาทิ การเสนอฐานเงินเดือนที่สูงกว่า ผลประโยชน์ที่มากกว่า การจ้างงานที่มั่นคง และการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด 4 ข้อที่นักศึกษาต้องการ
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine