แม้คนอาจพากันคิดไปว่า Yao Ming อาจดังแล้วทิ้งประเทศจีนไว้เบื้องหลังแต่สุดยอดนักบาสเก็ตบอลในตำนานผู้นี้วาดแผนไว้ว่าจะหวนคืนกลับประเทศบ้านเกิดและใช้ชื่อเสียงพร้อมความมั่งคั่งของตนเพื่อช่วยเหลือสังคม
ใบหน้าของ Yao Ming ผุดขึ้นเกือบทั่วทุกหัวระแหงในปี 2009 นักบาสเก็ตบอลอาชีพชาวจีนซึ่งเล่นให้กับทีมดังอย่าง Houston Rockets ปรากฏตัวบนป้ายโฆษณานับร้อยแห่งทั่ว Shanghai เมืองบ้านเกิดของเขา ทว่า ป้ายโฆษณาไม่ได้เกี่ยวกับเกมการแข่งขันหรือการชิงชัยใดๆ แต่มีจุดมุ่งหมายคือเพื่อรณรงค์ช่วยฉลาม
ซุปหูฉลามจัดเป็นอาหารจานพิเศษราคาแพงที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในจีนมาอย่างยาวนาน ชาวจีนที่มีความมั่งคั่งมากขึ้นเลือกสั่งเมนูนี้ในร้านอาหารทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น WildAid จึงตัดสินใจดึงตัว Yao มาเป็นตัวแทนในโครงการของตน “เลิกบริโภคหูฉลาม” Yao กล่าวย้ำ และชาวจีนก็รับฟังหูฉลามถูกยกเลิกออกจากเมนูอย่างรวดเร็ว
“การบริโภคลดลง 60% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างดี” Yao กล่าวอย่างถ่อมตัวขณะที่คนอื่นพากันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้มีประสิทธิผลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น Yao หันไปช่วยอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการลักลอบค้างาช้าง งาช้างแกะสลักคือสินค้าราคาสูงที่อยู่ในความต้องการของชาวจีน เมื่อการค้างาช้างแปรเปลี่ยนเป็นธุรกิจใต้ดิน Yao จึงวางเดิมพันชื่อเสียงและความโด่งดังของเขาอีกครั้งด้วยการเดินทางไปยังแอฟริกา มีการถ่ายทำสารคดีและภาพซูเปอร์สตาร์เจ้าของความสูง 229 เซนติเมตรกำลังเล่นกับลูกช้างอย่างเพลิดเพลินแพร่กระจายไปบนอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว “ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องลงไปคลุกคลี” เขากล่าว
อาการบาดเจ็บที่รุมเร้าผู้เล่นของทีมดาวรุ่งแห่ง NBA ส่งผลให้เขาต้องจบเส้นทางในลีกบาสเก็ตบอลอเมริกาตอนเหนือในปี 2011 ทว่าเขายังคงมีบทบาทสำคัญในวงการกีฬาของจีน หลังกลับสู่นคร Shanghai เขาควักกระเป๋าซื้อทีม Sharks ซึ่งเขาเคยลงเล่นในสมัยวัยรุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเขาได้รับเลือกให้นั่งตำแหน่งประธานของ Chinese Basketball Association
Yao ไม่เคยไขว่คว้าหาความเด่นดังดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Yao Foundation ที่เขาก่อตั้งขึ้นไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเว้นแต่ในหมู่เด็กยากจนบนพื้นที่ห่างไกลเพราะ Yao ไม่ได้เป็นเพียงแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ แต่เขายังเป็นนักกีฬาใจบุญผู้ให้การสนับสนุนทั้งสนามบาสเก็ตบอล รองเท้าและการฝึกซ้อม
มูลนิธิแห่งนี้เปิดดำเนินการในพื้นที่ชนบทของจีนซึ่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์และให้การฝึกสอนเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีภายใต้งบประมาณราว 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มูลนิธิจะเปิดรับนักศึกษาเพื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัครจากนั้นจะฝึกอบรมให้มีความรู้และทักษะเพื่อเป็นโค้ชผู้ฝึกสอน
หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกส่งตัวไปยังโรงเรียนต่างๆ ที่ยังไม่ได้บรรจุสาขาวิชาพลศึกษาในหลักสูตร ทั้งเด็กหญิงและชายจะเข้าร่วมทีมแข่งขันในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการแข่งขันชิงชัยรอบเพลย์ออฟที่ดาวดังระดับแถวหน้าแห่งวงการบาสเก็ตบอลมารวมตัวกันและเป็นโอกาสที่จะได้พบและร่วมถ่ายรูปกับ Yao ผู้ได้ฉายาว่ายักษ์ใหญ่ใจดี ดาวดังที่มาร่วมงานมีทั้งนักบาสเก็ตบอลจากจีนและสหรัฐฯ อย่างเช่น George Hill จากทีม Utah Jazz “ผมยินดีทำอะไรแบบนี้ เสมอสำหรับ Yao Ming” Hill กล่าว
เส้นทางสู่การอุทิศตนช่วยเหลือสังคมของ Yao ผ่านจุดหักเหหลายครั้ง แต่หนทางสู่การเป็นตำนานนักบาสเก็ตบอลของเขาดูเหมือนจะถูกกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทั้งพ่อและแม่ของเขาเป็นดาวดังในวงการบาสเก็ตบอล Yao Zhiyuan เซ็นเตอร์ระดับแถวหน้าเป็นเจ้าของความสูง 208 เซนติเมตร ส่วน Fang Fengdi แม่ของเขาสูง 188 เซนติเมตร
เขาเติบโตขึ้นพร้อมความคาดหวังรายล้อมรอบตัว เมื่ออายุได้ 10 ปีความสูงของเขาแตะ 165 เซนติเมตรและได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นนักบาสเก็ตบอลสัญชาติจีนรายแรกที่ได้เล่นในทีมต่างประเทศ ที่จริงแล้วเขาเป็นรายที่ 3 ในช่วงที่วงการ NBA
ในปี 2002 ทีม Houston เลือก Yao เป็นลำดับแรกในวันคัดเลือกตัว ส่งผลให้เขาเป็นนักกีฬาต่างชาติรายแรกที่ติดโผรายชื่อในลำดับแรก ในเกมแรกของการแข่งขันเขาลงเล่นท่ามกลางความคาดหวังมหาศาล จากเหล่ากองเชียร์ชาวจีนและความกังขาของเหล่านักวิจารณ์
ตลอดอาชีพการเล่นในลีก NBA สถิติทำแต้มของ Yao อยู่ที่ 19.2 คะแนนและรีบาวด์ 9.2 ครั้งต่อเกม ความสำเร็จของเขาไม่ได้เพียงจุดพลุความนิยมบาสเก็ตบอลในจีน แต่ยังปลุกกระแสความสนใจการแข่งขันบาสเก็ตบอลในทั่วโลก
Yao ไม่เคยลืมเป้าหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศบ้านเกิดนับตั้งแต่หวนคืนภูมิลำเนาเขาได้เดินเครื่องปรับปรุงทีม Shanghai Sharks ซึ่งกำลังประสบปัญหาทางการเงินตอนที่เขาควักกระเป๋าซื้อทีมมาในปี 2009 เขาผลักดันให้การฝึกซ้อมพัฒนาขึ้นและปรับเพดานค่าเหนื่อยให้เหมาะสมขึ้นรวมทั้งขยายฐานแฟนสโมสร
ทว่า Yao วางแผนจะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือสังคมตั้งแต่ช่วงแรกที่เขาได้เข้าไปเล่นในลีก NBA คนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเขาคือ Dikembe Mutombo นักบาสฯ ร่างสูงที่เคยก้าวผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จและอยู่ในทีม Rockets เช่นเดียวกัน Mutombo เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาคองโกอันเป็นประเทศบ้านเกิดด้วยการสร้างโรงพยาบาลและให้ทุนการศึกษา
“Mutombo สอนแนวคิดทั้งหมดให้กับผม รวมถึงหลักการและการพัฒนาในแต่ละระดับขั้น” Yao กล่าว “สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และความมีประสิทธิภาพนี้เองที่ทำให้เราช่วยเหลือคนได้มากขึ้น”
ปัจจุบันเขากำลังศึกษาต่อด้านบริหารการเล่นบาสเก็ตบอลทำให้การเรียนของเขาชะงักไป ตอนนี้เขาจึงหวนสู่การเรียนอีกครั้งในหลักสูตรระดับปริญญาตรี เขายังวางแผนที่จะเรียนต่อปริญญาโทด้านธุรกิจและการบริหารจัดการรายได้ที่มากมายของเขามาจากการร่วมหุ้นในหลากหลายธุรกิจ ค่าตอบแทนจากโฆษณา และยังเปิดบริษัทนายหน้าตัวแทนนักกีฬา จากการได้รับเลือกให้นั่งแท่นประธานสมาพันธ์ CBA หลายคนจึงนำเขาไปเปรียบเทียบกับ David Stern ผู้ยกระดับ NBA ให้พัฒนาขึ้นกว่าเดิม
Yao วาดแผนระยะยาวสำหรับบาสเก็ตบอลจีนด้วยการปลูกฝังความรักในกีฬาชนิดนี้และพัฒนาผู้เล่นรุ่นใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพยายามดำเนินการมานานกว่า 5 ปี เขาริเริ่มโครงการเพื่อก่อตั้งทีมลีกเยาวชนในโรงเรียน 47 แห่งเมื่อปี2012 โดยในปีที่ผ่านมาเขาขยายโครงการเป็น 380 แห่งแต่เข้าถึงเด็กเพิ่มขึ้นอีกหลายพันคนผ่านความร่วมมือกับ Hope Schools
คลิกเพื่ออ่าน "ยอดนักบาสหวนบ้านเกิด" ฉบับเต็มได้ Forbes Thailand ฉบับ กันยายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine
ยอดนักบาสหวนบ้านเกิด
TAGGED ON