ผู้ผลิตรถยนต์รายยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น Toyota เปิดตัวโปรเจกต์สร้าง “เมืองแห่งอนาคต” ที่สามารถรองรับคนได้ 2,000 คน โดยเมืองแห่งนี้จะใช้สำหรับทดสอบยานยนต์ไร้คนขับ, เทคโนโลยีอัจฉริยะ และหุ่นยนต์ผู้ช่วยในชีวิตประจำวัน
โครงการแสนยิ่งใหญ่ของ Toyota นี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น Woven City ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีหน้า หรือปี 2021 ในบริเวณเชิงเขาของภูเขา Fuji ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งห่างจากกรุง Tokyo ราว 60 กิโลเมตร
การประกาศโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นใน Consumer Electronics Show หรือ CES ที่นคร Las Vegas โดย Akio Toyoda ซีอีโอของ Toyota อธิบายว่าเมืองใหม่นี้เปรียบเป็น “ห้องปฏิบัติการทดลองการอยู่อาศัย” ซึ่งจะอนุญาตให้นักวิจัย, นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกร ได้ทดสอบเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ใน “สภาพแวดล้อมของชีวิตจริง”
“ผู้คนในอาคารบ้านเรือนและยานพาหนะทั้งหมดจะสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ผ่านดาต้าและระบบเซ็นเซอร์ เราจะสามารถทดสอบเทคโนโลยี AI ได้ทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ได้สูงสุด” Toyoda กล่าวระหว่างการเปิดตัวโปรเจกต์นี้เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา “เราต้องการจะเปลี่ยนปัญญาประดิษฐ์ให้กลายเป็นระบบสารสนเทศอัจฉริยะ”
สำหรับการพัฒนาเมืองใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 175 เอเคอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งโรงงานของ Toyota
ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ยังอธิบายอีกว่า เมืองแห่งนี้จะเป็นเมืองที่คำนึงถึงความยั่งยืนอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเป็นเมืองที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และพลังงานแสงแดดจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ที่หลังคาของอาคารบ้านเรือน
นอกจากนี้ รถยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้ขับเคลื่อนบนท้องถนนจะมีแต่รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ และรถยนต์ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เท่านั้น ขณะที่รถยนต์ไร้คนขับที่รู้จักกันในนาม Toyota e-Palettes จะถูกใช้สำหรับการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่และการขนส่งสินค้า
เมืองอัจฉริยะแห่งนี้ยังถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคน 2,000 คน โดยผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกจะเป็นพนักงานของบริษัทพร้อมครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุวัยเกษียณ, ผู้ค้าปลีก, นักวิจัย และพาร์ทเนอร์ที่ร่วมทำโปรเจกต์อื่นๆ
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายนี้ และ Bjarke Ingels Group หรือ BIG บริษัทด้านสถาปัตยกรรมจากเดนมาร์ก ซึ่งรับหน้าที่ในการออกแบบผังเมือง
โดยออกแบบให้อาคารส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้ และบางส่วนจะใช้หุ่นยนต์ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ การออกแบบราวกับได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านเมืองของญี่ปุ่นในอดีต ผสมผสานเทคนิคดั้งเดิมเข้ากับลักษณะสถาปัตยกรรมของประเทศ
Ingels ผู้ออกแบบตึก World Trade Center ทั้ง 2 ตึกใน New York ทั้งยังออกแบบสำนักงานใหญ่ของ Google ทั้งใน London และ Silicon Valley ระบุว่า เทคโนโลยีอัจฉริยะจะถูกขยายออกไปสู่บ้านของผู้คน
“บ้านเรือนใน Woven City นี้จะเป็นสถานที่สำหรับทดสอบเทคโนโลยีใหม่ อย่างเช่น หุ่นยนต์ในบ้านสำหรับการช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน” สถาปนิกกล่าวบนเวทีระหว่างการเปิดตัวโปรเจกต์ในงาน CES “บ้านอัจฉริยะเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อเต็มรูปแบบผ่าน AI เพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างอัตโนมัติ เช่น การเติมของเข้าตู้เย็น หรือนำของในตู้เย็นมาทิ้งขยะ หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพของคุณ”
ขณะที่แหล่งเก็บพลังงานและอุปกรณ์กรองน้ำจะซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นดิน ส่วนบนพื้นดินจะประกอบไปด้วยพลาซ่า, สวน และทางเดินที่ปราศจากรถยนต์ บนความตั้งใจของ Ingels ที่การออกแบบจะเน้นให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะ
“ในยุคที่เทคโนโลยี, โซเชียลมีเดีย และค้าปลีกออนไลน์ กำลังจะเข้ามาแทนที่และขจัดสถานที่พบปะของเรา Woven City จะมีบทบาทในการพิเคราะห์ถึงวิธีการที่จะกระตุ้นให้มนุษย์ในพื้นที่เมืองมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น” เขากล่าว และว่า “ท้ายที่สุดแล้ว การเชื่อมต่อกันของมนุษย์นั้นเป็นการเชื่อมต่อที่ก่อให้เกิดความสุข, ผลิตผล และนวัตกรรม”
สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกซึ่ง BIG ระบุว่าจะประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างมากกว่า 12 แห่ง จะเริ่มขึ้นในปี 2021 โดยยังไม่มีกำหนดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด
ที่มา Photo Credit: Toyota/Bjarke Ingels Groupไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine