กระแสวิจารณ์ก้องโลกออนไลน์ หลังมีข่าวว่า Jay Z แร็พเปอร์ชื่อดังได้จัดตั้งธุรกิจร่วมทุน (VC: venture capital) เพื่อลงทุนในเทคสตาร์ตอัพ แต่แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด
การลงทุนครั้งล่าสุดของ Jay Z นี้เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 2 รายคือ Jay Brown ประธานบริษัทค่ายเพลง Roc Nation และ Sherpa Capital ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ Shervin Pishevar โดยบริษัทมุ่งเป้าลงทุนในเทคสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น (seed stage) และปัจจุบันยังเฟ้นหาผู้ร่วมลงทุนรายที่สี่ซึ่งจะเป็นผู้บริหารกองทุนนี้
เหตุที่การผันตัวจากวงการดนตรีสู่สตาร์ตอัพของ Jay Z ไม่ใช่เรื่องใหม่นั้น เป็นเพราะเขาลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพมาแล้วระยะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น Pishevar หนึ่งในผู้ร่วมทุนครั้งนี้ เคยร่วมลงทุนกับเขามาแล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อนในธุรกิจบริการเครื่องบินส่วนตัวรูปแบบเดียวกับ Uber ภายใต้ชื่อแอพพลิเคชั่น Blackjet แต่น่าเสียดายที่บริษัทไม่ประสบความสำเร็จ (อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ Jay Z มีการลงทุนครั้งใหม่ในแอพฯรูปแบบเดียวกันชื่อ JetSmarter โดยร่วมทุนกับสมาชิกราชวงศ์ของประเทศซาอุดิอาระเบีย)
nbsp;
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสตาร์ตอัพอื่นของเขาได้กำไรมหาศาล ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2 ปีก่อน Jay Z ซื้อธุรกิจ Tidal บริการสตรีมมิ่งออนไลน์ในแถบสแกนดิเนเวียมาในราคา 56 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่นานหลังจากนั้น Sprint บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติอเมริกันเทเงินลงทุนมูลค่า 200 ล้านเหรียญให้กับ Tidal และการันตีเงินลงทุนประจำปีก้อนใหญ่เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับหุ้น 1 ใน 3 ของบริษัท ทำให้ Tidal มีมูลค่าพุ่งขึ้นถึง 600 ล้านเหรียญ เป็น 10 เท่าของมูลค่าเดิม
ย้อนไปไกลกว่านั้น Jay Z ลงทุนในธุรกิจต่างๆ มาตลอดชีวิตการทำงาน เมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1990s เขาและผู้ร่วมทุนอีก 2 ราย คือ Damon Dash และ Kareem "Biggs" Burke ลงทุนในบริษัท Roc-A-Fella Records ซึ่งต่อมามีการซื้อขายหุ้นหลายครั้งจนตกเป็นของ Def Jam นอกจากนี้ทั้ง 3 คนยังก่อตั้งบริษัทเสื้อผ้า Rocawear และขายให้กับบริษัทบริหารจัดการแบรนด์ Iconix เมื่อปี 2007 ด้วยมูลค่าถึง 204 ล้านเหรียญ
พอร์ตการลงทุนของ Jay Z มีความหลากหลายมาก ตั้งแต่ทีมบาสเกตบอล Nets ซึ่งแข่งขันอยู่ในรายการ NBA ไปจนถึงแชมเปญหรูแบรนด์ Armand de Brignacและเขามีวิธีประชาสัมพันธ์สินค้าที่ตนถือหุ้นด้วยการบรรจุชื่อสินค้าลงในเนื้อเพลงกับมิวสิกวิดีโอ เป็นที่น่าสนใจว่า เมื่อเขาลงทุนในเทคสตาร์ตอัพซึ่งเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เขาจะโฆษณามันผ่านผลงานเพลงได้อย่างไร
nbsp;
ทั้งนี้จากการจัดอันดับของ FORBES Jay Z ติดอันดับ 2 ราชาฮิพฮอพที่มีรายได้สูงสุดในปี 2016 โดยเขาทำรายได้ไป 53.5 ล้านเหรียญ และไม่เคยหลุดโผ 5 อันดับแรกเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เรียบเรียงจาก Why Jay Z's New Venture Fund Should Come As No Surprise โดย Zack O'Malley Greenburg