หลายปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ราชวงศ์อังกฤษ” ได้สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร รวมถึงสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขายในประเทศ
ในปี 2017 บริษัทระดับโลกอย่าง Brand Finance ประมาณการว่า ราชวงศ์อังกฤษนั้นสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ 1.8 พันล้านปอนด์ ซึ่ง 500 ล้านปอนด์มาจากการท่องเที่ยว, 913 ล้านปอนด์มาจาก Royal Warrants (ตรารับรองอย่างเป็นทางการจากราชสำนักให้กับแบรนด์สินค้ากว่า 800 แบรนด์), 150 ล้านปอนด์มาจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับราชวงศ์ และ 200 ล้านปอนด์มาจากการรับรองอย่างไม่เป็นทางการ (เช่นกรณีของ Kate effect ในวงการแฟชั่น เป็นต้น) ขณะที่ชาวอังกฤษเสียภาษีคนละ 65 เพนนีต่อปีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเงินปีส่วนพระมหากษัตริย์ (ซึ่งเท่ากับราคาของแสตมป์ 1 ดวง)
“หากลองพิจารณาสิ่งที่ทรงทำและปฏิบัติต่อประเทศนี้ ผมเชื่อว่าได้แสดงถึงมูลค่ามหาศาลในทางการเงิน” Alan Reid ฝ่ายบริหารทรัพย์สินของสมเด็จพระราชินีนาถ Alizabeth ที่ 2 กล่าวกับ Reuters เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งหมายความว่าราชวงศ์ได้สร้างคุณประโยชน์และกำไรให้กับประเทศ
การสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากราชวงศ์ไม่มีอะไรให้ผลกำไรดีงามไปกว่ากิจกรรมพิเศษของราชวงศ์ โดยเฉพาะงานอภิเษกสมรส โดยงานอภิเษกของเจ้าชาย William และ Kate Middleton ในปี 2011 นั้น ประมาณการว่ามีเม็ดเงินสะพัดถึง 2 พันล้านปอนด์ โดย 157.5 ล้านปอนด์มาจากการขายสินค้าที่ระลึก
ขณะที่งานอภิเษกสมรสของเจ้าชาย Harry และ Meghan Markle ในปี 2018 สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 1.05 พันล้านปอนด์ โดยมาจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก 50 ล้านปอนด์ และอีก 300 ล้านปอนด์มาจากเม็ดเงินในวงการโฆษณา
แต่ดูเหมือนว่าการอภิเษกสมรสครั้งล่าสุดนั้นจะเป็นสิ่งกีดขวางธุรกิจที่ Richard Haigh กรรมการผู้จัดการของ Brand Finance เรียกว่า “Brand Britain” หลังเจ้าชาย Harry และ Meghan ดยุคและดัชเชสแห่ง Sussex ประกาศลดบทบาทสถานะราชวงศ์ชั้นสูงเพื่อสร้างความเป็นอิสระให้ชีวิต การเงิน รวมถึงสร้างความเป็นอิสระให้กับแบรนด์ Sussex Royal ด้วย
ทั้งนี้ การประกาศลดบทบาทของทั้งคู่นำมาซึ่งข่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาตามคาด โดยผู้ประกาศข่าว Piers Morgan กล่าวว่า ทั้งสองพระองค์ทำตัวเหมือน “เด็กใจร้อน” และว่า “นี่ไม่ใช่วิธีปฏิบัติของราชวงศ์ เมื่อพวกเขาพยายามทำสิ่งนี้ มันจะสร้างความขัดแย้งครั้งใหญ่”
แต่ประเด็นก็คือ เจ้าชาย Harry และ Meghan กำลังทบทวนบทบาทของราชวงศ์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยการอ้างสิทธิ์ถึงความเป็นเจ้าของแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งแยกและแตกต่างจาก “Brand Britain” แต่ยังคงมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่ และสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งผู้คนทั้งหลงรักและสับสนไปกับแนวคิดของราชวงศ์
“แบรนด์ Sussex Royal จะได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ” Robbie Harper จาก Blue Bridge Public Relations ให้ข้อมูล “การทำให้ตนเองเหินห่างจากครอบครัว จะทำให้แบรนด์ของพวกเขาเติบโตได้เร็วกว่าเดิม ยิ่งหากพวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากขึ้น”
ระยะห่างจากครอบครัวจะช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของแบรนด์ Sussex ที่ในตอนแรกพวกเขามุ่งพยายามสร้างแบรนด์ไปในด้านการกุศล ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่ราชวงศ์ใช้เพื่อขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมในเชิงบวกที่ราชวงศ์ในปัจจุบันและอนาคตพึงมี
สำหรับ Sussex Royal เป็นแบรนด์ที่ทั้งสองพระองค์สร้างขึ้น มีการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหราชอาณาจักร (UKPIO) เมื่อที่ผ่านมา เพื่อใช้กับสินค้าและบริการ 6 ประเภท ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าและบริการกว่า 100 รายการ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือ, นิตยสาร, เครื่องเขียน, เสื้อผ้าและหมวก, แคมเปญส่งเสริมการขาย, สินค้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา และบริการทางสังคม
“คำถามที่แท้จริงคือ ทีมงานของเจ้าชาย Harry และ Meghan จะสร้างความสมดุลระหว่าง ‘การให้’ และ ‘ผลตอบแทนจากการค้า’ อย่างไร” Katie Smith อดีตผู้อำนวยการฝ่ายค้าปลีกและวิเคราะห์บริษัทในสหราชอาณาจักรกล่าว
“ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดในแบรนด์นั้นเกี่ยวข้องกับงานการกุศลและสินค้าเพื่อสังคม ซึ่งช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับเจ้าชาย Harry และ Meghan” โดยเมื่อปีก่อน สื่ออังกฤษได้ตีพิมพ์เผยแพร่จดหมายส่วนตัวที่ Meghan เขียนด้วยลายมือถึงพ่อของเธอ ทำให้ทั้งคู่ยื่นฟ้องสื่อดังกล่าวฐานเผยแพร่จดหมายส่วนตัว และบิดเบือนเนื้อหา
ทั้งนี้ Smith มองว่า การอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของแบรนด์อย่างเป็นทางการ Sussex จะช่วยเพิ่มการปกป้องภาพลักษณ์ของพวกเขาได้
Smith กล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันไม่คิดว่าพวกเขาจะใช้ Sussex Royal ไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเงินของตนเอง มันดูผิวเผินเกินไป แต่พวกเขาอาจทำเงินจากแนวทางอื่นๆ เช่น บทบาทที่ปรึกษา การพูดในที่สาธารณะ แต่ว่าฉันอาจคิดผิดก็ได้”
ปัจจุบันเจ้าชาย Harry มีงานสารคดีหลายชิ้นเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ทำร่วมกับ Oprah Winfrey ที่จะออกอากาศในปีนี้ทาง Apple TV ขณะที่ Ellen DeGeneres ประกาศในรายการของเธอว่า “เรากำลังทำบางสิ่งร่วมกัน” เพื่อตอกย้ำถึงการสนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์ป่าของเจ้าชาย Harry และ Meghan ซึ่งทุกอย่างนั้นสอดคล้องกับการทำงานเพื่อการกุศลของทั้งคู่
ส่วนด้านการทำเงินที่อาจเกิดขึ้นคือ การต่ออายุเครื่องหมายการค้าของ Meghan บนเว็บไซต์ The Tig ที่เธอทำขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา “เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นอ้างว่าเป็นเธอ หรืออ้างว่าประกอบกิจการร่วมกับเธอ” พระราชวัง Buckingham ระบุ
โดยมีการวิเคราะห์ว่า โพสต์ที่ได้รับการสนับสนุน (ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อสังคม) จะสามารถทำเงินได้ถึง 80,000 ปอนด์/โพสต์ เลยทีเดียว
ขณะที่ Meghan ก็อาจกลับมาสู่งานการแสดงอีกครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าชาย Harry ได้ทราบถึงความสามารถในการพากย์เสียงของ Meghan จาก Bob Iger ซีอีโอของ Disney และดีลเรื่องการพากย์เสียงของ Meghan ก็เกิดขึ้นในไม่กี่วันต่อมา แม้ว่างานชิ้นนี้จะไม่ทำเงินให้กับทั้งคู่ เพราะรายได้ทั้งหมดจากการทำงานของเธอจะมอบให้องค์กรการกุศลเพื่ออนุรักษ์ช้างก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หลังจากสำนักพระราชวัง Buckingham ของอังกฤษแถลงว่าการขอถอนตัวจากสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงของเจ้าชาย Harry และ Meghan จะทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถใช้ยศ HRH ได้อีกต่อไป แต่ยังใช้ดยุคและดัชเชสแห่ง Sussex ได้อยู่ สร้างความคลุมเครือว่าจะใช้แบรนด์ Sussex Royal ต่อไปได้หรือไม่
โดย Daily Mail รายงานอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิด ระบุว่า การไม่ให้ใช้แบรนด์เลยคงเป็นการตัดสินใจที่รุนแรงมากเกินไป และอาจสร้างปัญหาให้กับราชวงศ์ในอนาคตได้ โดยการตัดสินใจเกี่ยวกับ Sussex Royal จะมีการหารืออีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แบรนด์จะต้องถูกนำไปใช้เพื่อกิจกรรมทางการกุศลในเร็วๆ นี้ของทั้งคู่ และไม่ใช้เพื่อกิจกรรมเชิงพาณิชย์
แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า “ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องจัดการ แต่ถ้าเป็นการใช้คำว่า Royal ในด้านการกุศลก็ไม่มีปัญหา”
ที่มา- Prospects For Harry And Meghan’s ‘Sussex Royal’ Brand
- Sussex Royal brand will stay for now: Harry and Meghan are to continue running trademarked Sussex Royal brand despite agreeing not to use their HRH titles
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine