8 บริษัทที่น่าสนใจใน Global 2000 - Forbes Thailand

8 บริษัทที่น่าสนใจใน Global 2000

FORBES THAILAND / ADMIN
10 Aug 2019 | 10:30 AM
READ 10076

Forbes Global 2000 คือทำเนียบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามการวัดจากรายได้ กำไร สินทรัพย์ และมูลค่าตลาด ณ วันที่ 18 เมษายน ซึ่งใช้ข้อมูลจากบริษัท FactSet Research Systems โดยให้น้ำหนักกับตัวชี้วัด 4 อย่างเท่าๆ กันในการคิดคะแนนรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ ไม่รวมบริษัทที่พนักงานถือหุ้นร่วม หรือบริษัทที่มีเจ้าของร่วม เช่น Huawei ในจีน หรือ Fonterra จากนิวซีแลนด์ บริษัทที่มีโครงสร้างแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด เช่น บริษัทลงทุนนอกตลาดหุ้นรายใหญ่บางแห่ง ไม่นำมานับรวม เนื่องจากความไม่สอดคล้องทางบัญชี กิจกรรมการดำเนินงานช่ววงที่ผ่านมาไม่สะท้อนออกมาให้เห็น โดย 8 บริษัทที่น่าสนใจจากการจัดอันดับ GLOBAL 2000 ปี 2019 มีดังนี้

Reliance Industries 71

บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของอินเดียไต่ขึ้นมาจากอันดับ 83 เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากหุ้นทะยานขึ้น 40% ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจโทรคมนาคมและค้าปลีกของบริษัท นอกจากนี้ หุ้นยังได้แรงหนุนจากรายงานว่า Saudi Aramco กำลังคุยกับ Reliance เพื่อเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีของเครือบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปฏิเสธแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว

ด้าน Mukesh Ambani วัย 62 ปี ประธานกรรมการบริษัทผู้ขึ้นแท่นบุคคลมั่งคั่งที่สุดของเอเชีย มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 6 พันล้านเหรียญในปีนี้หลังจากที่หุ้นทะยานขึ้น โดย Reliance เปิดเผยว่า รายได้เติบโตขึ้น 45% ไปอยู่ที่ 6.3 ล้านล้านรูปี (9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) สำหรับปีที่สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2019 ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13% ไปอยู่ที่ 3.96 แสนล้านรูปี

ขณะที่ Jio หน่วยธุรกิจด้านการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ ก็กำลังเร่งเปิดตัวบริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในปีนี้ เพื่อสนับสนุนการให้บริการดังกล่าว ในเดือนตุลาคม Jio เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของ Den Network ในเมือง New Delhi และ Hathway Cable ของเมือง Mumbai มูลค่า 710 ล้านเหรียญ เพื่อเปิดทางเข้าถึงผู้ให้บริการโครงข่ายท้องถิ่นเกือบ 27,000 แห่งทั่วอินเดีย

Reliance Retail ยังขยายร้านค้าปลีกของบริษัทเองอีก 4.3 ล้านตารางฟุตด้วยเช่นกันไปเป็น 22 ล้านตารางฟุตเมื่อปีที่แล้ว และมีรายงานว่า กำลังเตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอในปีนี้ แต่ตัวแทนจาก Reliance Retail ปฏิเสธแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว —Anuradha Raghunathan

 

Sony 73

Sony ซึ่งกระโดดขึ้นมาจากอันดับ 86 เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าวิ่งไปได้สวยนับตั้งแต่ตะเกียกตะกายจนกลับไปมีกำไรในปี 2016 โดยกำไรที่ปรับตัวขึ้นมาจากยอดขายที่แข็งแกร่งของธุรกิจวิดีโอเกม PlayStation และจากเซนเซอร์รับภาพสำหรับสมาร์ทโฟนและกล้อง

เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทรายงานว่ามีกำไรสุทธิสำหรับปีที่สิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม อยู่ที่ราว 9.16 แสนล้านเยน (8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น 87% จากปีก่อนหน้านี้ โดยสูงกว่าการคาดการณ์ของบริษัทที่คาดว่าจะได้ 8.35 แสนล้านเยน ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น 1.4% ไปอยู่ที่ราว 8.7 ล้านล้านเยน โดยยอดขายจากเซนเซอร์รับภาพ เกม และบริการทางการเงิน ช่วยดันให้ผลกำไรจากการดำเนินงานปรับขึ้นแตะ 10.3% จาก 8.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งช่วยชดเชยการขาดทุน 9.7 หมื่นล้านเยนในธุรกิจมือถือของ Sony

บริษัทได้ประกาศแผนควบรวมธุรกิจที่ไม่ทำกำไรเข้ากับธุรกิจกล้องและทีวี แต่ก็ยังคงขาดทุนอยู่ ซึ่งบริษัทคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มดึงให้กำไรสุทธิในปีงบการเงินปัจจุบัน ลดลงไปอยู่ที่ 5 แสนล้านเยน —James Simms

 

Hon Hai Precision 123

ขณะที่มหาเศรษฐีพันล้าน Terry Gou รณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน บริษัทเทคโนโลยีที่เขาควบคุมอยู่ใน Taipei กำลังหาทางลดความเสี่ยงจาก Apple และจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม Hon Hai ระบุว่า ในปี 2018 มีกำไรสุทธิลดลง 7% ไปอยู่ที่ 1.29 แสนล้านเหรียญไต้หวัน (4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) จากรายได้ทั้งหมด 5.3 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน หรือเป็นการเพิ่มขึ้น 13% แต่ Hon Hai (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Foxconn) มียอดขายเกือบครึ่งหนึ่งจากลูกค้าเพียงรายเดียวคือ Apple โดยมีโรงงานหลายแห่งของบริษัทที่ตั้งอยู่ในจีนผลิตสินค้าป้อนให้

Gou ระบุเมื่อปีที่แล้วว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ คือความท้าทายใหญ่สุดของบริษัท เนื่องจากความต้องการ iPhone และ iPad แกว่งไปมา และความขัดแย้งด้านข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำให้หุ้นของ Hon Hai ร่วงลง 13% ในปีที่แล้ว ส่งผลให้อันดับใน Global 2000 ร่วงไปอยู่ที่ 123 จาก 105 เมื่อปีที่ผ่านมา

Gou พยายามหาหนทางมาหลายปีแล้วที่จะทำให้ Hon Hai ลดการพึ่งพา Apple ในปี 2016 Hon Hai ได้ซื้อหุ้น 66% ใน Sharp ผู้ผลิตจอภาพแบบบางสัญชาติญี่ปุ่น และในปีที่แล้วได้เข้าซื้อ Belkin ผู้ผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ เช่น เราเตอร์ไวไฟและคีย์บอร์ด ในปี 2017 บริษัทเริ่มผลิตโทรศัพท์มือถือให้ Nokia อีกทั้งยังลงทุน 1 หมื่นล้านเหรียญเพื่อสร้างโรงงานในรัฐ Wisconsin เพื่อผลิตหน้าจอแบบบางสำหรับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ การก่อสร้างมีกำหนดเริ่มต้นในปีนี้ โดยการผลิตเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นตามมาในปี 2020 —Ralph Jennings

 

ปตท. 165

อันดับของ ปตท.หล่นจาก 156 เนื่องจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงทั่วโลกได้ส่งผลกับผลกำไร และยังได้ฉุดหุ้นบริษัทพลังงานรายใหญ่สุดของไทยลง 15% ในปีที่แล้ว กำไรสุทธิของ ปตท.ร่วงลง 12% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท (3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) แม้ว่ารายได้เพิ่มขึ้น 16% ไปเป็น 2.4 ล้านล้านบาท ปตท.ซึ่งมีรัฐบาลไทยถือครองหุ้นส่วนใหญ่ พยายามลดความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบผันผวน โดยการลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือกและซื้อทรัพย์สินนอกประเทศไทย ขณะที่น้ำมันสำรองของบริษัทค่อยๆ ลดลง

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ของ ปตท.กำลังลงทุน 3.91 แสนล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงสะอาดและโรงงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออกของไทย โรงงานดังกล่าวมีกำหนดสร้างเสร็จในปี 2023 ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทยังได้เปิดเผยว่า  ปตท.ยังวางแผนลงทุน 7.3 หมื่นล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติ สร้างท่อส่งก๊าซ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทั่วประเทศ ขณะที่ไทยกำลังหาทางลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในเดือนมีนาคม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตกลงเข้าซื้อธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซของ Murphy Oil ในมาเลเซียมูลค่า 2.1 พันล้านเหรียญ —Suzy Nam

 

Japan Tobacco 286

บริษัทผลิตบุหรี่เบอร์ 4 ของโลกโดยวัดจากยอดขาย หวังที่จะกลายเป็นเบอร์ 1 จากการผลิตตัวทดแทนสารนิโคตินไฮเทคและการขยายธุรกิจในต่างแดน Japan Tobacco เป็นที่รู้จักกันจากแบรนด์ Mevius (เดิมชื่อ Mild Seven) เป็นเจ้าของบุหรี่ยี่ห้อ Natural American Spirit ของสหรัฐฯ แล้ว และถือครองสิทธิในแบรนด์ Winston และ Camel นอกสหรัฐฯ

ในปี 2018 ยอดขายนอกญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 7% ไปอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเยน (1.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) และยอดขายในต่างประเทศคิดเป็น 63% ของรายได้โดยรวมแล้วในตอนนี้ จากเพียง 52% เมื่อ 10 ปีก่อน ในปีนี้บริษัทยังได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในเบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี โรมาเนีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักร แม้ยอดขายในญี่ปุ่นยังคิดเป็น 37% ของยอดขายทั้งหมด แต่ความต้องการกำลังหดตัวลง ท่ามกลางความตระหนักเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น และกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ยังถูกสั่งห้าม ดังนั้น บริษัทที่รัฐบาลควบคุมดูแลอยู่นี้ (กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ 37%) จึงกำลังโปรโมทผลิตภัณฑ์บุหรี่แบบไม่เผาไหม้ (heat-not-burn tobacco) ที่ใช้วัตถุทำความร้อนด้วยไฟฟ้าเพื่อผลิตไอควันนิโคติน

สำหรับภาพรวมนั้น Japan Tobacco ระบุว่า มีกำไรสุทธิลดลง 2% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 3.86 แสนล้านเยน แม้ยอดขายทั้งหมดปรับตัวขึ้น 4% ไปอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านเยน โดยหุ้นบริษัทร่วงลง 11% ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อันดับใน Global 2000 ตกไปอยู่ที่ 286 จาก 257 —Jake Adelstein

 

Wilmar International 425

หากไปเดินดูชั้นวางสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใดที่หนึ่งในประเทศจีน น้ำมันทำอาหาร ข้าว หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวที่คุณน่าจะเจอนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของ Wilmar ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดย Arawana ไลน์สินค้าสำหรับผู้บริโภคของ Wilmar ได้กลายเป็นแบรนด์ที่ครองตลาดประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยยอดขายจากจีนคิดเป็น 56% ของยอดขายรวม 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ Wilmar ในปี 2018 ซึ่งเพิ่มขึ้น 2% จากปี 2017 โดยหุ้นของ Wilmar ปรับขึ้น 15% ในปีที่แล้ว และอันดับใน Global 2000 ก็ขยับขึ้นไปอยู่ที่ 425 จาก 456

บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 1991 โดย Kuok Khoon Hong มหาเศรษฐีพันล้านชาวสิงคโปร์ ปัจจุบันอายุ 69 ปี Wilmar ยังดำเนินกิจการเพาะปลูกปาล์มในมาเลเซียและโรงงานน้ำตาลในออสเตรเลีย อินเดีย โมร็อกโก และเมียนมา Kuok ยังคงถือหุ้นประมาณ 13% แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Wilmar คือบริษัทซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์สัญชาติอเมริกัน Archer Daniels Midland ถืออยู่ในสัดส่วน 25% และพี่น้อง Kuok (บริษัทโฮลดิ้งที่ควบคุมดูแลโดยลุงของ Kuok และ Robert Kuok ผู้ร่ำรวยที่สุดในมาเลเซีย) ถืออยู่ที่ 19%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า มูลค่าตลาดรวมของหลักทรัพย์ของ Wilmar อาจเพิ่มขึ้นถึง 1.3 หมื่นล้านเหรียญ จากมีรายงานว่าบริษัทมีแผนนำเอาธุรกิจที่จีนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Shanghai "บริษัทมีโอกาสดีในการทำให้ธุรกิจมีมูลค่าตลาดสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่นั่นจะเข้าใจถึงขนาดและระดับของแบรนด์ดีขึ้น" Ivy Ng หัวหนัานักวิเคราะห์ในมาเลเซียจาก CIMB Investment Bank กล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทปฏิเสธแสดงความเห็นต่อแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ —Jessica Tan

 

Bank Central Asia 553

หลังทะยานขึ้น 22% ในปีที่ผ่านมา หุ้นของธนาคารอินโดนีเซียแห่งนี้กำลังซื้อขายที่ระดับเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บนความหวังที่ว่า การเติบโตของกำไรจะยังปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งได้หนุนให้อันดับใน Global 2000 ขึ้นไปอยู่ที่ 553 จาก 574 เมื่อปีที่แล้ว

"BCA มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันจากการมีฐานเงินฝากที่แข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมในตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ โดยอินโดนีเซียมีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก อยู่ที่ 263 ล้านคน" Alan Richardson ผู้อำนวยการกองทุนระดับภูมิภาคจาก Samsung Asset Management ในฮ่องกง กล่าว กำไรสุทธิของ BCA พุ่งขึ้น 11% ในปี 2018 ไปอยู่ที่ 25.9 ล้านล้านรูเปียห์ (1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ได้แรงหนุนจากรายได้จากค่าธรรมเนียมและการปล่อยกู้ที่ปรับตัวขึ้น หลังการปล่อยสินเชื่อขยายตัวขึ้น 15% เมื่อปีที่แล้วไปอยู่ที่ 538 ล้านล้านรูเปียห์ BCA ได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 9% ในปี 2019 ต่ำกว่าการคาดการณ์จากภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 13% ดังนั้น หลักปรัชญาอันยาวนานของธนาคารคือ "จงระมัดระวังอย่างมากๆ" Jahja Setiaatmadja ประธานบริษัทวัย 63 ปี กล่าว "หากทุกอย่างเป็นไปได้ดีในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งรวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองด้วยนั้น เราอาจไปถึงการขยายตัวสูงขึ้น"

ขณะนี้ BCA กำลังเข้าใกล้เป้าหมายในระดับภูมิภาค โดยมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 4.94 หมื่นล้านเหรียญ เป็นรองเพียง DBS Bank ที่มี 5.17 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสำเร็จของ BCA ยังช่วยให้ผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 2 รายของธนาคารคือ พี่น้อง Robert Budi และ Michael Bambang Hartono กลายเป็นสองพลเมืองผู้ร่ำรวยที่สุดของอินโดนีเซีย ซึ่งมีทรัพย์สินสุทธิส่วนตัวรวมกัน 3.7 หมื่นล้านเหรียญ —Joe Cochrane

 

SM Investments 1092

ด้วยความสนใจในด้านอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และธนาคาร กลุ่มบริษัทในเครือแห่งนี้จึงมีขนาดใหญ่สุดอันดับ 2 จาก 6 บริษัทฟิลิปปินส์ที่ติดอันดับในรายชื่อ ห้าง 72 แห่งของบริษัทในฟิลิปปินส์ให้บริการประชากรในเขตเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของประเทศ

Henry Sy Sr. ผู้ล่วงลับไปแล้วได้ริเริ่มธุรกิจที่รู้จักกันครั้งแรกในชื่อ Shoe Mart หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสร้างให้กลายเป็นบริษัทดังเช่นทุกวันนี้ ผ่านกระบวนการที่ผันให้ตัวเองกลายเป็นบุคคลผู้ร่ำรวยที่สุดในฟิลิปปินส์เป็นเวลา 11 ปีติดต่อกันจนกระทั่งเสียชีวิตลงในเดือนมกราคม

ขณะนี้บริษัทอยู่ภายใต้การบริหารของลูกๆ ของ Sy และทีมผู้จัดการมืออาชีพ SM และพวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถฟื้นตัวได้ท่ามกลางการเติบโตของประเทศที่ชะลอตัว โดยรายได้และกำไรของกลุ่มเมื่อปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 13% ไปอยู่ที่ 4.5 แสนล้านเปโซ (8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 3.71 หมื่นล้านเปโซ ตามลำดับ และเพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ทางกลุ่มมุ่งหน้าเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอีกด้วย "จำเป็นต้องมีการประสานและบูรณาการในเกือบทุกส่วนของซัพพลายเชน" ประธาน Jose T. Sio กล่าว "เรากำลังสร้างโซลูชั่นต่างๆ ในการบริการหลากหลายนี้" —Roel Landingin

  อ่านเพิ่มเติม  
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจและการลงทุนได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine