“อวกาศ” พรมแดนสุดท้ายแห่งโลกธุรกิจ - Forbes Thailand

“อวกาศ” พรมแดนสุดท้ายแห่งโลกธุรกิจ

FORBES THAILAND / ADMIN
14 May 2022 | 10:03 AM
READ 2472

การแข่งขันไปอวกาศของบรรดาบริษัท อวกาศ ซึ่งสนับสนุนโดยเศรษฐีพันล้านก่อให้เกิดระบบสุริยะแห่งธุรกิจเงินร่วมลงทุนใหม่ 

ความสำเร็จของการเปิดตัวเที่ยวบินโดยสารสู่ “อวกาศ” ของบริษัท Virgin Galactic ของ Richard Branson และบริษัท Blue Origin ของ Jeff Bezos ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อาจดูเหมือนการแสดงเพื่อความบันเทิงในรายการทีวีมากกว่าจะแสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

แต่สำหรับกลุ่มนักลงทุนเงินร่วมลงทุน (VC) มันมีความหมายที่ต่างออกไป เหตุการณ์สำคัญนี้เป็นสัญญาณสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งหลายว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศซึ่งบริษัท SpaceX ของ Elon Musk ได้นำหน้าไปก่อนแล้วนั้น ไม่เพียงแต่เป็นไปได้ แต่อาจขยายขอบเขตกว้างขึ้นและมาเร็วกว่าที่คิดไว้ และพวกเขาก็อยากเข้าร่วม บริษัทอวกาศเอกชนทั้งหมดเหล่านี้ก่อตั้งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายที่สูงลิบเรื่องการมีเที่ยวบินโดยสารท่องอวกาศเป็นประจำ หรือการสร้างโรงงานในวงโคจร

แต่ถ้าไม่นึกถึงความทะเยอทะยานเหล่านี้ หรือคิดว่าพวกเขาจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ สิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดจนถึงตอนนี้เพื่อเตรียมการก็ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของบริษัทเอกชนตั้งแต่ระดับพื้นฐานว่าทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับอวกาศผมแค่อยากย้ำว่า ถึงแม้คนอื่นจะพากันวิพากษ์วิจารณ์แต่ความคิดของพวกเขาก็เจ๋งใช้ได้ Bill Nye ซีอีโอของสมาคม The Planetary Society กล่าว “Elon Musk ชี้ให้เห็นเมื่อหลายปีก่อนว่า ถ้าคุณทำ [ปล่อยจรวด] เป็นประจำมากพอ เช่น ปล่อยรุ่น Falcon 9 หลายๆ ครั้ง และทำให้มันน่าเชื่อถือเพียงพอ มันก็จะกลายเป็นเหมือนเครื่องบินพาณิชย์ในที่สุด” 

สิ่งที่บริษัทอวกาศที่มีชื่ออย่าง SpaceX และ Rocket Lab ซึ่งตั้งอยู่ใน Los Angeles และก่อตั้งในปี 2006 นั้นมีพัฒนาการมากที่สุด คือการปล่อยจรวด ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมนี้เลย การลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยจรวดจะทำให้ปล่อยได้บ่อยขึ้นมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้จุดประกายผู้ประกอบการหลายราย บริษัทเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้บริษัทอื่นๆ พยายามแก้ไขปัญหา เช่น บริษัท Relativity Space ใน Long Beach ที่กำลังหาทางพิมพ์จรวด 3 มิติ และบริษัท Stoke Space Technologies ใน Seattle ที่มีแผนสร้างจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ 

บริษัทปล่อยจรวดได้วางโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ประกอบการรายอื่นใช้ต่อยอดได้ เพราะพวกเขาได้ทลายอุปสรรคสำคัญในการเข้ามาในภาคธุรกิจนี้เกือบหมดแล้ว เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของวงการคอมพิวเตอร์และการพัฒนาเครือข่ายใยแก้วนำแสงขนาดใหญ่ที่จุดกระแสดอทคอมในยุค 90 นักลงทุน VC คาดการณ์ว่าสิ่งเดียวกันนี้พร้อมที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจอวกาศ

ข้อมูลจาก Space Capital แสดงให้เห็นว่านักลงทุนทุ่มเงินเกือบ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในภาคธุรกิจนี้เพียงครึ่งแรกของปี 2021 ด้วยข้อตกลงธุรกิจ 230 ฉบับ ซึ่งมีมูลค่ารวม 3.7 หมื่นล้านเหรียญ ตั้งแต่ปี 2013 ตลาดนี้เริ่มเห็นหนทางบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่จะใช้ผ่านบริษัทในรูปแบบ SPAC ซึ่งเหมือนเติมเชื้อเพลิงไปที่กองไฟอีก 

Andy Lapsa ผู้ร่วมก่อตั้ง Stoke กล่าวว่ามันคือยุคเฟื่องฟูของระบบนิเวศอวกาศ โดยเปลี่ยนจากการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศกลายมาเป็นภาคธุรกิจ ซึ่งไม่มีใครคิดมาก่อนว่ามันจะดูน่าสนใจขนาดนี้ Delian Asparouhov ผู้บริหารกองทุน Founders Fund ย้ำเรื่องนี้และเสริมว่า อุตสาหกรรมนี้มีรากฐานแล้ว

อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มใช้ประโยชน์ได้ท้ายที่สุดแล้วไม่มีอุตสาหกรรมใดที่ประสบความสำเร็จ ถ้าไม่ทำเงินนอกอุตสาหกรรม ถูกไหม Asparouhov บอกว่าเรื่องอวกาศก็เช่นกัน คุณจะขายให้แค่บริษัทอวกาศด้วยกันไม่ได้ ตอนนี้เรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของยุคอวกาศ 2.0 ดูสิว่าทางเลือกอื่นในการทำเงินจากอวกาศมีอะไรบ้าง” 

ก่อนที่จะมาเป็นนักลงทุน Asparouhov เองเคยเป็นผู้ก่อตั้งที่หาวิธีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแห่งอนาคตตั้งแต่เนิ่นๆ เขากล่าวว่า Varda บริษัทของเขาใน San Francisco จะเริ่มต้นไม่ได้เลยหากไม่คิดจะใช้ประโยชน์จากแนวทางของยักษ์ใหญ่ซึ่งหมายถึง Blue Origin และ SpaceX

ทั้งนี้ Varda เพิ่งปิดการระดมทุนซีรีส์ A มูลค่า 42 ล้านเหรียญในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะเจาะเข้าไปในส่วนที่นักลงทุน VC สนใจเป็นพิเศษ นั่นคือการผลิตในอวกาศ Varda วางแผนจะเสนอบริการสภาวะเกือบไร้น้ำหนัก ให้แก่บริษัทต่างๆ เพื่อปรับปรุงการผลิตโดยควบคุม 1 ใน 4 แรงพื้นฐานในธรรมชาติ สภาพแวดล้อมดังกล่าวสามารถผลิตวัตถุดิบเพื่อใช้ในสารกึ่งตัวนำ ใยแก้วนำแสง และเภสัชภัณฑ์ได้ดีขึ้น โดย Asparouhov กล่าวว่า มันเป็นสิ่งที่สถานีอวกาศนานาชาติพยายามทดสอบมาตลอดเพื่อประโยชน์ของนักบินอวกาศในสถานี 

อุตสาหกรรมการปล่อยยานอวกาศและอุตสาหกรรมระบบอวกาศได้เติบโตมาถึงจุดที่เราสามารถสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพที่ได้ทำให้สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นสินค้าบริการที่พวกเราจะเข้าซื้อได้หลากหลาย” Will Bruey ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Varda กล่าวเดิมพันของ Varda คือ การผลิตจะเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ของรัฐที่มั่นคงตัวต่อไปก่อนที่การท่องเที่ยวในอวกาศจะเกิดขึ้นจริง Bruey พูดติดตลกว่า ในขณะนี้ยังไม่มีลูกค้าเข้าคิวยาวเหยียดก็จริง แต่บริษัทก็จะเริ่มทดสอบการปล่อยตัวในปี 2023 หรือเพียง 3 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ทั้งนี้ไม่ใช่แค่บริษัท VC ที่มุ่งลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงหรือวิทยาศาสตร์ที่ตื่นเต้นเกี่ยวกับการผลิตในอวกาศอย่าง Lux Capital เข้ามา แต่ยังมีบรรดาบริษัท VC ทั่วไปอย่าง Khosla Ventures และ General Catalyst เข้าร่วมเดินทางไปกับวิสัยทัศน์นี้ 

ข้อมูลของ Space Capital ระบุว่า อีกด้านหนึ่งที่นักลงทุน VC จับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ดาวเทียม ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด VC ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัทจรวด โดยมีการลงทุนเฉพาะในไตรมาส 2 ในปี 2021 จำนวน 1.9 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ความก้าวหน้าในการสร้างดาวเทียมที่เล็กลง ถูกลง และปล่อยตัวได้ในราคาไม่แพงได้เปิดประตูไปสู่ความเป็นไปได้มากมายเกี่ยวกับยานอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นวิธีใหม่ในการใช้งานโดยบริษัทที่มีอยู่หรือบริการที่เกี่ยวข้อง Asparouhov วาดภาพเศรษฐกิจในอนาคตทั้งหมดเกี่ยวกับดาวเทียม ตั้งแต่สถานีเติมเชื้อเพลิง การซ่อมหุ่นยนต์ ไปจนถึงบริการแท็กซี่ดาวเทียม SpaceX เองก็เริ่มพัฒนาดาวเทียมได้ดีขึ้น และเร็วขึ้นเช่นกัน และบริษัทต่างๆ เช่น Rocket Lab และ Loft Orbital ใน San Francisco ก็สร้างแพลตฟอร์มที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถใช้เป็นโมเดลธุรกิจบริการดาวเทียมการขยายตัวของดาวเทียมทำให้ Asparouhov คาดการณ์ว่า จะมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต 

Asparouhov กล่าวว่าการเปรียบเทียบที่เห็นภาพที่สุดคือ การที่รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นที่นิยมมากขึ้น การลงทุนในทางด่วนจึงสมเหตุสมผลขึ้นนี่เป็นสิ่งเกิดซ้ำๆ ในหมู่นักลงทุน VC กล่าวคือ อุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์รวมความเป็นไปได้หลากหลาย โดยความก้าวหน้าใหม่ๆ แต่ละอย่างจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากของเดิม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีรากฐานจากสิ่งที่เศรษฐีพันล้านได้สร้างไว้ 

การแข่งขันด้านอวกาศของเศรษฐีพันล้านเป็นมากกว่าเวทีให้ธุรกิจสตาร์ทอัพต่อยอด แต่ยังช่วยสร้างศักยภาพคนอีกด้วย บริษัทหลายแห่งที่กล่าวถึงในบทความนี้มีผู้ก่อตั้งที่เคยเป็นวิศวกรของ Blue Origin หรือ SpaceX บางคนอย่าง Lapsa อดีตผู้อำนวยการฝ่ายเครื่องยนต์ของ Blue Origin กล่าวว่า งานของพวกเขาในบริษัทอวกาศใหญ่ๆ ช่วยให้พวกเขาพบช่องว่างในการนำเสนอโซลูชัน ซึ่งเหมาะที่จะเข้าไปหาประโยชน์ หรือสำหรับ Bruey อดีตเจ้าหน้าที่ยานอวกาศของ SpaceX การเปิดบริษัท Varda ทำให้เขามีโอกาสหลอมรวมประสบการณ์ของเขาในธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ากับความหลงใหลในอวกาศ ซึ่งเขายกเครดิตส่วนใหญ่ให้การถูกล้างสมองตั้งแต่เด็ก 

อดีตพนักงานจากบริษัทอวกาศของเศรษฐีพันล้านกำลังหวังว่าจะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ชั้นถัดไปเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในแบบเดียวกับที่อดีตพนักงานจากที่อื่นๆ อย่าง PayPal และ Facebook เดินหน้าสร้างบริษัทจนประสบความสำเร็จ เช่น บริษัทให้บริการซอฟต์แวร์ Asana หรือบริษัทด้านกลาโหม Palantir ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วหลังจากระดมเงินร่วมลงทุนได้หลายร้อยล้านเหรียญหลายคนอยากตั้งบริษัทของตัวเอง Josh Wolfe ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนบริหารของ Lux Capital บริษัทร่วมลงทุนที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านอวกาศกล่าวเราจะได้เห็นศักยภาพอีกมากมาย ซึ่งเป็นศักยภาพที่มาจาก SpaceX ซึ่งมีความสามารถในการดึงคนจากบริษัทอื่นและการสร้างทีม ซึ่งเป็นไปได้มากๆ” 

นักลงทุนผู้ระมัดระวังชี้ให้เห็นว่า ยังมีอีกหลายด้านของอุตสาหกรรมอวกาศที่กระแสแรงเกินจริง อย่างน้อยก็ในตอนนี้ เช่น การขุดแร่บนดาวเคราะห์น้อย หรือความหวังของ Musk เรื่องการตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร แต่ 6 ทศวรรษหลังการแข่งขันด้านอวกาศครั้งแรก การแข่งขันครั้งล่าสุดคือ กระดูกสันหลังของคลื่นนวัตกรรมแห่งอนาคต และบรรดาเศรษฐีพันล้านผู้นำทางกำลังพานักลงทุน VC และผู้ประกอบการร่วมแข่งไปด้วยกันระบบนิเวศทั้งหมดนี้กำลังพัฒนาไปทีละขั้น หากคุณหลับไปวันนี้และตื่นมาอีกทีใน 10 หรือ 12 ปีข้างหน้า คุณจะต้องทึ่งกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น Wolfe กล่าว 

เรื่อง:

อ่านเพิ่มเติม:


คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine

TAGGED ON