"สัญญาสาหัส" ของ Eric Baker ผู้ร่วมก่อตั้ง StubHub - Forbes Thailand

"สัญญาสาหัส" ของ Eric Baker ผู้ร่วมก่อตั้ง StubHub

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Jan 2021 | 09:29 AM
READ 2570

หลังจากที่ Eric Baker โดนไล่ออกจาก StubHub บริษัทจำหน่ายตั๋วยักษ์ใหญ่ที่เขาร่วมก่อตั้งขึ้นมาเองกับมือ เขาก็พยายามเอาคืนด้วยการระดมทุน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าซื้อคืนกิจการ เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ธุรกิจของเขาก็โดนไวรัสโคโรนาเล่นงานอาการสาหัสการแก้แค้นไม่ได้หอมหวานเสมอไป

ในวันก่อนวันขอบคุณพระเจ้าเมื่อปี 2019 Eric Baker กำลังฉลองใหญ่ “ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่ในงานแสดงสดแบบนี้อีกแล้ว” เขากล่าวอย่างตื่นเต้นด้วยรู้อยู่แก่ใจว่ากำลังจะทำกำไรได้จากทุกงาน 2 วันก่อนหน้านั้น Baker เพิ่งจะประกาศการทำสัญญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เมื่อ Viagogo ตลาดจำหน่ายตั๋วออนไลน์ของเขากำลังจะเข้าซื้อ StubHub บริษัทคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่ามาจาก eBay ในราคา 4.05 พันล้านเหรียญ สำหรับ Baker แล้วนี่คือเรื่องราวของทั้งชัยชนะและการแก้แค้น ย้อนกลับไปที่ Stanford Business School เขาร่วมก่อตั้ง StubHub ก่อนจะโดนผู้ร่วมก่อตั้งไล่ออก ทำให้ต้องแอบไปเปิดตัว Viagogo ในต่างประเทศ ข่าวใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนจึงเป็นการเอาคืนอยู่กลายๆ “มันคือความพึงพอใจส่วนบุคคลเมื่อลูกรักทั้งสองได้มาอยู่ด้วยกัน ได้รวมตัวกัน” เขากล่าวในเวลานั้น 3 เดือนต่อมา ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขาปิดสัญญาได้สำเร็จโดยบริษัทของเขาจ่ายเป็นเงินสด 2 พันล้านเหรียญ ส่วนอีก 2 พันล้านเหรียญเป็นหนี้สิน Baker วัย 47 ปีสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่จำหน่ายตั๋วเข้าร่วมงานต่างๆ นับล้านๆ ใบในปีที่แล้วสร้างรายได้รวมประจำปี 1.5 พันล้านเหรียญ Baker ถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้ 23% ทำให้เขาใกล้จะครองตำแหน่งมหาเศรษฐีที่มีมูลค่าความมั่งคั่งแตะหลักพันล้านเหรียญ จากนั้นก็เกิดโรคระบาดไวรัสโคโรนาระบาดรุนแรงขึ้นในเอเชีย ก่อนจะลุกลามไปทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ ส่งผลให้ต้องปิดสนามกีฬาต่างๆ ศิลปินยกเลิกงานแสดง ขณะที่ละครบรอดเวย์ก็ต้องยกเลิกไป
Eric Baker
Eric Baker
นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้รายได้ของ StubHub และ Viagogo หายไปไม่น้อยกว่า 90% ปลายเดือนมีนาคม StubHub ให้พนักงานในสหรัฐฯ จำนวน 2 ใน 3 หยุดงาน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง Moody’s ปรับลดคาดการณ์บริษัททั้งสองแห่งจาก “คงที่” เป็น “ติดลบ” “เป็นความโชคร้ายอย่างแสนสาหัสกับการที่เพิ่งจ่ายเงินไป 4 พันล้านเหรียญเพียง 4 สัปดาห์ก่อนที่ทั้งอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์” Eric Fuller ที่ปรึกษาผู้ติดตามตลาดจำหน่ายตั๋วกล่าว แม้ว่าบริษัททั้งสองแห่งจะมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจไม่สูงนัก เนื่องจากไม่ต้องมีคลังสินค้าเป็นของตนเอง  

เส้นทางของ Eric Baker 

ในประวัติของ Baker ปรากฏชื่อ Harvard, Stanford, McKinsey และ Bain ราวกับตำราสอนรวย บางทีเส้นทางชีวิตของเขาส่วนหนึ่งก็มาจากอาณาจักรที่เขาเติบโตขึ้นมาคุณตาของเขาเป็นผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ เขาเข้าศึกษาที่ Harvard ซึ่งเขาเรียนด้านการปกครองจากนั้นมุ่งหน้าสู่ McKinsey เส้นทางที่ใครๆ ก็เลือกกัน เพื่อแสวงหา “เงินก้อนโต” แต่ไม่นานนักเขาก็เริ่มเบื่อ “มันไม่เหมาะกับผม” เขาให้สัมภาษณ์กับ USC ในปี 2012 “มีแต่คนฉลาดๆ เต็มไปหมด แต่ไม่ค่อยจะมีหัวการค้ากันสักเท่าไร” หลังจากทำงานที่นี่ได้ 2 ปี ในปี 1997 Baker ก็ย้ายไปบริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาดอย่าง Bain Capital ซึ่งในเวลานั้นบริหารโดย Mitt Romney “เห็นได้ชัดว่า ผมเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของบริษัท แต่ 2 ปีที่ Bain Capital ทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่อื่นที่เคยอยู่มาเสียอีก”
Jeff Fluhr นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คางเหลี่ยมแหลม ผู้ร่วมก่อตั้ง StubHub
Baker เล่าว่า ที่ Bain นี้เองที่เขาผุดความคิดเรื่องตลาดซื้อขายตั๋วออนไลน์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เนื่องจากแฟนสาวของเขาอยากชมการแสดงบรอดเวย์เรื่อง The Lion King แต่ตั๋วหาได้ยากมาก ทำให้เขาต้องไปหาซื้อในตลาดรอง “จะทำอย่างไรดี” เขาคิดในใจตอนนั้น “ต้องไปดักรอตามหัวมุมถนนไหม ผมต้องหาซื้อออนไลน์จนเจอนายหน้าขายตั๋วซึ่งมีราคาแพงมากๆ ไม่สนุกเลย” เขาเก็บความคิดนี้ไว้จนกระทั่งได้เข้าเรียนที่ Stanford Business School ในฤดูใบไม้ร่วงปีถัดไป ที่นั่นเขาได้พบกับ Jeff Fluhr เขาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คางเหลี่ยมแหลม มีธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาดเป็นของตนเอง ทั้งคู่นำแนวคิดของ Baker เข้าร่วมการแข่งขันแผนธุรกิจประจำปีของ Stanford จากผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดนับสิบๆ รายการพวกเขาผ่านเข้ารอบ 6 คนสุดท้าย แต่ในวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศทั้งสองไม่ได้ปรากฏตัว “เราไม่อยากให้ว่าที่คู่แข่งของเรามาเห็นเข้า” Fluhr กล่าว Baker ยังคงอยู่ที่ Stanford แม้ว่าเขาจะยังคงถือหุ้นไว้ส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมอยู่บ้าง “ในตอนแรกเขาไม่ได้อยากจะเอาจริง” ลูกจ้างของ StubHub ในยุคแรกเริ่มกล่าว ในเดือนตุลาคม 2000 เว็บไซต์ดังกล่าวก็เปิดตัวโดยไม่มีเขากว่า Baker จะกลับมาร่วมงานในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2001 Fluhr ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอและผู้ถือหุ้นรายบุคคลรายใหญ่ที่สุดก็ปรับแผนธุรกิจไปมากแล้ว ไม่เกินปี 2004 ทั้งคู่ก็ไม่ลงรอยกันเสียแล้วทั้งที่ธุรกิจกำลังไปได้สวย ในเวลาต่อมานิตยสาร Fortune รายงานว่า Baker ต้องการเป็นพันธมิตรกับการแข่งขันกีฬาระดับลีกรายการใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ Fluhr อยากจะสร้าง StubHub ให้เติบโตขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจอิสระ “ใครๆ ก็เคยทะเลาะกันทั้งนั้น” Baker กล่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว “แต่ด้วยโครงสร้างของอะไรต่างๆ นานา Jeff เองก็ถือหุ้นมากกว่าผมอยู่เล็กน้อย” Baker บอกว่า Fluhr กับบอร์ดบริหารต้องการไล่เขาออก “พวกเขาบอกแค่ว่า ‘ไปได้แล้ว นายถูกไล่ออกแล้ว ออกไปเลย’” Baker คิดว่าจะออกเดินทางรอบโลกสัก 1 ปี แต่ต่อมาเขาก็มีความคิดที่ดีกว่านั้น ตอนออกจาก StubHub บริษัทไม่เคยขอให้เขาเซ็นสัญญาห้ามเป็นคู่แข่ง “ผมว่าตอนนั้นคงคิดกันว่า Eric เป็นถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 2 เขาไม่มาแข่งกับเราหรอก” Baker เล่าย้อนให้ฟัง ซึ่งพวกเขาคิดผิด เพียงไม่ถึง 1 เดือนหลังจากโดนไล่ออก ขณะที่ Baker กำลังวางแผนการเดินทางในช่วงแรกคือ ไป London นั้นเขาก็นึกขึ้นได้ว่า กว่าเพื่อนร่วมงานเก่าจะขยายตลาดสู่ยุโรปคงใช้เวลาอีกหลายปี เขาจึงคิดจะเอาชนะ Baker สวมเสื้อสีน้ำเงินอ่อนติดกระดุมไม่สวมเนกไท (อย่างที่เขาทำประจำ) ในการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในยุโรปเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 หลังจากแอบวางแผนเงียบๆ มา 1 ปีเต็ม เขาก็จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว Viagogo ซึ่งรายล้อมไปด้วยบรรดาผู้บริหารจาก Manchester United และ Chelsea Football Club 2 พันธมิตรรายแรก “StubHub ไม่รู้ว่าผมลงมือทำจนกระทั่งเราประกาศเปิดตัว” Baker บอกกับ Forbes “ผมคิดว่าพวกเขาตกใจมาก” Baker มีเวลาดื่มด่ำกับการล้างแค้นครั้งนี้ไม่นานนัก ในปีถัดมา eBay เข้าซื้อ StubHub ไปในราคา 310 ล้านเหรียญ Baker ไม่เห็นด้วย เขาให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ในเวลาต่อมาว่าเขาคิดว่า Fluhr และพรรคพวกขายธุรกิจนี้เร็วเกินไป  

ทวงคืน StubHub

กลับไปที่สหรัฐฯ eBay ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ StubHub ก็ตกอยู่ภายใต้ความกดดันเช่นกัน เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่หาเศรษฐีจอมห้าวอย่าง Paul Singer กับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของเขาคือ Elliott Management บีบให้บริษัทขายสินทรัพย์ที่ไม่สำคัญออกไป รวมถึง StubHub และปกติแล้ว Elliott ก็แพ้ใครไม่ค่อยจะเป็นเสียด้วย เขาเป็นที่รู้จักจากการใช้เวลา 15 ปีเปิดศึกกับรัฐบาลอาร์เจนตินาเรื่องการจ่ายค่าพันธบัตร ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้บริษัทได้รับเงินเข้ากระเป๋าไป 2.4 พันล้านเหรียญในปี 2016 ในเรื่องนี้จึงนับว่า eBay มีโชคอยู่ไม่น้อย สำหรับ Baker นั้น เขาไม่ได้วิตกกังวลอะไร แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเมื่อวันที่ 30 มกราคม หรือ 2 สัปดาห์ก่อนที่จะทำสัญญา ความคิดที่ต้องการจะเอาคืนมันเย้ายวนเกินกว่าจะปล่อยผ่าน หลายปีก่อนหน้านี้เขาได้รับบทเรียนอย่างสาสมที่ไม่ยอมออกจาก Stanford เพื่อทำงานให้กับ StubHub อย่างเต็มตัวทำให้เสียทั้งหุ้นและเสียทั้งงานในที่สุด ครั้งนี้เขาเดิมพันอย่างมั่นใจ เขาลุยเรื่องสัญญาต่อไป ระดมทุนทั้งยอมเป็นหนี้ รวมถึงเงินจากนักลงทุนชั้นนำ 2 รายคือ Bessemer Venture Partners ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุน กับ Madrone Capital Partners บริษัทลงทุนในหุ้นนอกตลาดที่มีความสัมพันธ์กับตระกูล Walton แห่ง Walmart (ทั้งสองบริษัทปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น) หลังการเข้าซื้อ Baker ยังคงให้สัมภาษณ์กับ CNBC อย่างใจเย็นว่า “ตอนนี้ไวรัสอยู่แค่ในเอเชีย”
กลุ่ม เซเลปฯ และนักลงทุนที่มีส่วนช่วยให้ Viagogo สามารถระดมและประสบความสำเร็จ
ในเวลานี้บริษัททั้งหลายของ Baker ยังคงมีสภาพคล่อง เมื่อเดือนมีนาคม Moody’s รายงานว่า พวกเขามีเงินสดกว่า 400 ล้านเหรียญ ซึ่งเพียงพอสำหรับระยะเวลา 3-4 เดือนเป็นอย่างน้อย นักลงทุนของ Baker ต่างก็มีเงินกันไม่น้อย หากพวกเขาอยากจะลองเสี่ยงลงทุนเพิ่มเติมกับบริษัทที่อนาคตยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน “ผมคิดว่าเราอยู่ตรงทางแยกที่มีแนวโน้มดีมากๆ ทั้งสองทาง” Baker กล่าวไว้ก่อนการเข้าซื้อกิจการ “หนึ่งในนั้นผมเรียกมันว่าโลกาภิวัตน์เพราะว่าโลกแคบลงแล้ว และสองคือ การแสดงสด” จากนั้นลมก็เปลี่ยนทิศ พร้อมพัดเอาโมเมนตัมของ Baker ไปด้วย แม้เขาจะปิดฉากเรื่องราวธุรกิจอันไม่รู้จบลงได้เสียทีเพียงแต่ไม่ใช่อย่างที่ต้องการ
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine