“ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” 67 ประเทศเรียกร้อง UN และ World Bank เร่งแก้ไข - Forbes Thailand

“ปัญหาความเหลื่อมล้ำ” 67 ประเทศเรียกร้อง UN และ World Bank เร่งแก้ไข

ความล้มเหลวในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนทั่วโลกจะยิ่งตอกย้ำปัญหาความยากจนและเพิ่มความเสี่ยงที่สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะย่ำแย่ลง กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ระดับแนวหน้ากว่า 200 คนกล่าว

    

    67 ประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterres และประธานธนาคารโลก Ajay Banga เรียกร้องให้ทั้งสององค์กรยกระดับการทำงานเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงทั่วโลกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

    ในบรรดาผู้สนับสนุนการเรียกร้องคราวนี้ยังมีอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ Ban Ki-moon, อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ Helen Clark พร้อมด้วยบรรดานักเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะ Jayati Ghosh, Joseph Stiglitz และ Thomas Piketty

    การลดความเหลื่อมล้ำภายในปี 2030 เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติหรือ UN ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติในปี 2015 ในจดหมายชี้ว่าการลงมืออย่างเร่งด่วนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อแก้ไขผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ที่มีต่อคนรวยและคนจน

    สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นกำลังถูก “เพิกเฉยอย่างหนัก” ในจดหมายระบุว่าวิธีการประเมินการรับมือกับปัญหา ก็คือการดูรายได้การเติบโตของคนยากจนที่สุด 40% แทนประชากรทั้งหมดนั้นล้มเหลวในการนำเอารายได้และความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีมาพิจารณาร่วมด้วย

    จดหมายยังอีกเผยว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ความยากจนข้นแค้นและความมั่งคั่งสุดขีดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกันทั่วโลก

    “เป้าหมายสำคัญ ความเป็นผู้นำก็สำคัญ ธนาคารโลกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ถูกวางไว้เป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวในการลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นสิ่งที่แต่ละส่วนบนโลกต่างก็ต้องการอย่างเร่งด่วน ณ วันนี้”

    ในจดหมายเรียกเกณฑ์วัดความเหลื่อมล้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และเป้าหมายที่ทะเยอทะยานนี้ในการลดช่องว่างด้านรายได้กับความมั่งคั่ง

    “เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงผิดปกติ ความยากจนสุดขีดและความมั่งคั่งแบบสุดขั้วเพิ่มขึ้นอย่างว่องไวต่อเนื่องเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ช่วงระหว่างปี 2019 และ 2020 ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่าครั้งไหนๆ หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา”    

ภัยแล้งจู่โจมผู้คนในชนบทของประเทศโซมาเลีย

    

    “คนรวยที่สุดซึ่งมีเพียง 10% ของประชากรโลก ณ ปัจจุบันนี้ครอบครองรายได้ 52% ของทั้งหมด ในขณะที่ฝั่งประชากรที่ยากจนได้รับเพียง 8.5% เท่านั้น ผู้คนหลายพันล้านกำลังเผชิญความยากลำบากแสนสาหัสจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นและความหิวโหย ในขณะที่เหล่ามหาเศรษฐีรวยขึ้นเป็นเท่าตัวในทศวรรษที่ผ่านมา”

    เมื่อ Guterres ทบทวนเป้าหมายปี 2030 ในเดือนเมษายน เขาพบว่าความเหลื่อมล้ำนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ มีประเทศเพียง 10% เท่านั้นที่อยู่ระหว่างทางไปถึงเป้าหมายได้

    เมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารโลกเผยว่ากระบวนการลดความยากจนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว โดยคาดคะเนว่าหากไม่มีตัวเร่งความพยายามที่ทรงประสิทธิภาพมากพอ โอกาสบรรลุเป้าหมายหยุดความยากจนก่อนปี 2030 นั้นจะเท่ากับศูนย์

    Bunga กำลังดำเนินการทบทวนภารกิจของธนาคารโลก และได้รับแรงกดดันจากสมาชิกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ที่ต้องการยกระดับความเข้มข้นในการต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

    จดหมายระบุว่า “เรารู้ว่าความเหลื่อมล้ำสูงกระทบเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของเรา กัดกร่อนการเมือง ทำลายความไว้วางใจ สะกัดกั้นความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้ระบบพหุภาคีอ่อนแอ เรายังทราบดีว่าหากไม่ลดความเหลื่อมล้ำในทันที เป้าหมายยุติความยากจนและป้องกันไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นก็จะเผชิญอุปสรรคอย่างชัดเจน”

    ทั้งยังเสริมว่าการรับมือกับความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เป้าหมายโดดๆ แต่ทั้งเศรษฐกิจ การเงิน และนโยบายสังคมควรถูกนำมาประเมินว่าอาจส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง “สิ่งนี้ชัดเจนว่าจะแสดงถึงความทะเยอทะยานทั้งหมดของเราในการสร้างโลกใบใหม่ที่เท่าเทียม”

    Max Lawson หัวหน้าด้านนโยบายความเหลื่อมล้ำจาก Oxfam International กล่าวว่า “ไม่มีศึกเพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับกลุ่มคนจนที่เหลือศึกใดจะเร่งด่วนมากไปกว่านี้ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายคือกุญแจสู่โลกที่ดีกว่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนจะสายเกินไปด้วย”

    Matthew Martin ผู้อำนวยการกลุ่ม Development Finance International บอกว่า “หากเราไม่เริ่มต้นวัดความเหลื่อมล้ำให้ถูกต้องในตอนนี้ เราจะไม่สามารถลดมันได้อย่างจริงจังทันปี 2030”

    โฆษกธนาคารโลกกล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำนั้นสูงมากจนไม่อาจยอมรับได้ในโลกทุกวันนี้ สืบเนื่องมาจากคนยากจนยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วจากโควิด-19 และผลกระทบที่ตามมา ธนาคารโลกให้คำมั่นจะรับมือกับความเหลื่อมล้ำในทุกรูปแบบ และขอให้มั่นใจว่าบนเส้นทางนี้จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”

    “เราเห็นด้วยว่าเราต้องลงมือทำให้มากขึ้นเพื่อชี้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำ และเพื่อให้เกณฑ์การตรวจวัดมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเก่า เรายินดีน้อมรับแนวคิดต่างๆ ในจดหมายเปิดผนึกมาอภิปรายถึงประเด็นดังกล่าวนี้”



    แปลและเรียบเรียงจาก Top economists call for action on runaway global inequality ซึ่งเผยแพร่บน theguardian.com

    

    อ่านเพิ่มเติม : Forbes 30 Under 30 Asia 2023 (ตอน1)

        ​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine