Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค จากไปด้วยวัย 76 ปี - Forbes Thailand

Stephen Hawking นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค จากไปด้วยวัย 76 ปี

Stephen Hawking นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางแห่งยุคสมัย จากไปด้วยวัย 76 ปีที่ประเทศอังกฤษ Hawking เป็นที่รู้จักและนับถือจากงานค้นคว้าวิจัยทฤษฎีจำนวนมากเกี่ยวกับฟิสิกส์และอวกาศ ทั้งยังถ่ายทอดเรื่องราวที่เข้าใจยากอย่างหลุมดำหรือทฤษภีสัมพัทธภาพทั่วไปผ่านหนังสือให้สาธารณชนอ่านได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา Hawking ยังใช้ชีวิตอยู่กับโรค ALS ที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่นั่นไม่ได้หยุดเขาจากการวิจัยและใช้ชีวิต

ลูกๆ ทั้งสามของ Stephen Hawking ได้แก่ Lucy, Robert และ Tim ออกแถลงการณ์เมื่อเช้าวันพุธที่ 14 มีนาคม 2018 ว่าพ่อของพวกเขาได้เสียชีวิตแล้วที่บ้าน ณ เมือง Cambridge ประเทศอังกฤษ

“เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และชายที่พิเศษ ผลงานและความรู้ของเขาจะมีชีวิตต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า ความกล้าหาญและอดทนของเขารวมถึงความปราดเปรื่องและอารมณ์ขันได้ให้แรงบันดาลใจแก่คนทั่วโลก ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า จักรวาลคงไม่มีค่าอะไรนัก หากไม่มีคนที่เรารักอาศัยอยู่’ เราจะรำลึกถึงเขาตลอดไป” เหล่านี้คือข้อความในแถลงการณ์จากลูกทั้งสามคนของ Hawking

การจากไปของ Hawking เป็นความสูญเสียของมนุษยชาติ เขาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคของ Albert Einstein 

Hawking ร่วมกับนักคณิตศาสตร์ Roger Penrose ร่วมกันต่อยอดทฤษฎีสัมพัทธภาพของ Einstein และสรุปการกำเนิดของอวกาศว่าเกิดจากทฤษฎี Big Bang และจะสิ้นสุดในหลุมดำ นอกจากนี้เขายังทำนายว่าในหลุมดำนั้นมีการปล่อยรังสีออกมาโดยรังสีดังกล่าวถูกตั้งชื่อตามชื่อของเขาว่า รังสี Hawking” ซึ่งในที่สุดรังสีนี้จะระเหิดหายไป

Stephen Hawking และ Jane Wilde ภรรยาคนแรก ในช่วงทศวรรษ 1960s (Photo Credit: dailymail.co.uk)

นอกจากการค้นคว้าวิจัยทางฟิสิกส์และอวกาศ เขายังนำเรื่องราวการค้นพบมาเขียนเป็นหนังสือหลายเล่ม เล่มที่มีชื่อเสียงได้แก่ ประวัติย่นย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และ จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell) ซึ่งล้วนเป็นหนังสือขายดีจากการที่เขาเปรียบเทียบทฤษฎีฟิสิกส์เข้ากับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ทำให้คนทั่วไปอ่านได้เข้าใจมากขึ้น

Hawking ไม่ได้มีชื่อเสียงเพียงเพราะผลงานเท่านั้น แต่เรื่องราวชีวิตส่วนตัวและบุคลิกของเขายังน่าทึ่ง เขาเกิดเมื่อปี 1942 ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาได้เข้าเรียนสาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Oxford และในปี 1962 ด้วยวัยเพียง 20 ปี Hawking เข้าเรียนสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์และทฤษฎีฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge เพื่อค้นคว้าวิจัยด้านอวกาศ

ระหว่างนั้นเอง ในปี 1963 เมื่อเขาอายุ 21 ปี แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรค ALS ซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้แต่การกลืนหรือการหายใจจะลำบากขึ้นเรื่อยๆ และแพทย์ยังลงความเห็นว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียง 2 ปี

Hawking กับเครื่องสังเคราะห์เสียงที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเขา

อย่างไรก็ตาม Hawking กลับมีชีวิตต่อมาได้มากกว่า 5 ทศวรรษอย่างน่าอัศจรรย์ แต่การใช้ชีวิตของเขาก็ไม่ง่ายในสายตาคนทั่วไป เพราะเขาจำเป็นต้องเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจทำให้ไม่สามารถพูดได้ และยังขยับส่วนใดในร่างกายไม่ได้มากกว่าการกระพริบตาและกระตุกแก้มข้างขวา

เรื่องราวของเขาทำให้ Walt Waltosz ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์จากรัฐ California คิดประดิษฐ์เครื่องแปลงเสียงสังเคราะห์ขึ้นจากการใช้แว่นอินฟราเรดตรวจวัดการกระตุกของแก้มเพื่อเลือกตัวอักษร การสะกดคำของเขาจึงค่อนข้างช้า เขาต้องใช้เวลา 10 นาทีในการสร้างประโยคเพียงประโยคเดียว ปัญหาเดียวของเครื่องสังเคราะห์เสียงคือมันทำให้สำเนียงผมเป็นคนอเมริกัน” Hawking กล่าวถึงอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยอารมณ์ขัน 

Hawking ในวัย 65 ปี ได้ขึ้นยานจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงน้อย (microgravity) ใกล้เคียงกับสภาวะในอวกาศ โดยยานดังกล่าวลอยอยู่เหนือมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นเวลา 2 ชั่วโมง (Photo Credit: Zero G/AFP)

Hawking พยายามใช้ชีวิตต่อไปเหมือนคนปกติ เขายังสามารถวิจัยทฤษฎีฟิสิกส์และตีพิมพ์หนังสือออกมา จวบจนวันที่เขาเสียชีวิต เขามีหนังสือตีพิมพ์ทั้งหมด 15 เล่ม ทั้งยังมีภรรยาคนแรกคือ Jane Wilde และลูกๆ อีก 3 คน หลังช่วงเวลา 20 ปีของการแต่งงานและการดูแล 24 ชั่วโมงของ Wilde ทั้งคู่ตัดสินใจแยกทางกัน และ Hawking แต่งงานใหม่กับ Elaine Mason พยาบาลพิเศษผู้เคยดูแลเขา และหย่าอีกครั้งช่วง 11 ปีต่อมา การใช้ชีวิตอย่างมีพลังของ Hawking แม้แทบจะขยับร่างกายไม่ได้นั้นเองคืออีกแรงบันดาลใจสำหรับคนทั่วโลก

เรื่องราวอัจฉริยะแห่งวงการฟิสิกส์และการดำเนินชีวิตด้วยทัศนคติเชิงบวกของ Stephen Hawking ถูกถ่ายทอดด้วยฝีมือการแสดงของนักแสดงชาวอังกฤษ Eddie Redmayne ผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2014 และได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

อ้างอิง: