Honda หาแนวร่วม - Forbes Thailand

Honda หาแนวร่วม

ในที่สุดค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่มักชอบฉายเดี่ยวก็ยอมรับแล้วว่า บริษัทไม่สามารถมุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตได้เพียงลำพัง ทีนี้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valley จะพร้อมจับมือผนึกกำลังหรือไม่ล่ะ?

Honda Motor Co. กำลังซุ่มเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตขององค์กรอย่างใจเย็น ณ ศูนย์วิจัยลับใน Mountain View รัฐ California “Nick” Sugimoto ลูกหม้อมากประสบการณ์ของ Honda วัย 55 ปีใช้เป็นฐานบัญชาการเพื่อเสาะหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลก สองโครงการล่าสุดจากศูนย์วิจัยของ Sugimoto คือหน้าจอแสดงผลภายในรถยนต์ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีสามมิติและ “ไมโครโฟน” รับส่งสัญญาณผ่านเส้นใยแก้วนำแสงที่ทำให้คุณสมบัติวิเคราะห์เสียงพูดแม่นยำขึ้นอย่างมากด้วยเทคโนโลยีประมวลผลแรงสั่นสะเทือนบนผิวหน้าสิ่งนี้เรียกเสียงฮือฮาจากบรรดาสาวกยานยนต์และผู้หลงใหลเทคโนโลยีในงาน Consumer Electronics Show ซึ่งจัดขึ้นที่ Las Vegas เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ที่มาภาพ: www.autoblog.com
ที่มาภาพ: www.autoblog.com
“เมื่อพูดถึงนวัตกรรม การคิดค้นพัฒนาทุกอย่างจากภายในองค์กรไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง” Sugimotoกล่าวโดยสะท้อนถึงแนวทางใหม่ของบริษัท “การเปิดให้มีความร่วมมือจากภายนอกคือกุญแจสำคัญ”เหมือนเป็นการเน้นย้ำถึงแนวทางวางหมากธุรกิจดังกล่าว เมื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 8 ของโลกประกาศว่าได้เจรจาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ Waymo บริษัทลูกของ Alphabet ซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อหน่วยงานพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของ Google ทั้งนี้ นอกจาก Fiat Chrysler ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีของ Waymo ไปบรรจุในรถมินิแวนที่ผลิตขึ้นจำนวน 100 คันของตน บริษัทผู้ผลิตยานยนต์รายอื่นต่างพากันระแวดระวัง Google เนื่องจากกังวลว่ายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลกจะรุกสู่ธุรกิจและแย่งส่วนแบ่งตลาดเข้าสักวัน ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวของค่ายยานยนต์ผู้ผลิตรถรุ่นขวัญใจชาว babyboomer อย่าง Civic, Accord และ CR-V โดย Honda ขึ้นชื่อมายาวนานเรื่องความมุ่งมั่นและหลงใหลในการบุกเบิกพัฒนาวิศวกรรมยานยนต์ด้วยตัวเอง นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1948 Honda ได้ผลิตมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เครื่องตัดหญ้าเครื่องบินไอพ่น เซลล์เชื้อเพลิง หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เองทุกอย่าง ทว่า ในตลาดยานยนต์แห่งโลกอนาคตที่รถยนต์เริ่มกลายเป็นเหมือนอุปกรณ์เทคโนโลยีขับเคลื่อนได้ จุดแข็งของ Honda ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมยานยนต์จึงเริ่มไม่เพียงพอ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน Honda จำเป็นต้องทิ้งนิสัยปิดกั้นความคิดจากภายนอกองค์กรที่มีมาแต่เดิม และดังที่ศูนย์วิจัยภายใต้การนำทัพของ Sugimoto รวมถึงการเปิดโต๊ะเจรจากับ Waymo สื่อให้เห็นว่าบริษัทกำลังก้าวไปข้างหน้า “Honda ตั้งใจที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ให้ประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย เพื่อเบิกทางสร้างนวัตกรรมร่วมกับบริษัทอื่นๆ และขณะเดียวกันก็แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะของบริษัท” Takahiro Hachigo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Honda กล่าวผ่านอีเมล์ การเดินหมากครั้งนี้มีเดิมพันสูงลิบ วงการยานยนต์ได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้ง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ระบบเซ็นเซอร์แอพพลิเคชั่นและบริการรถร่วมโดยสาร เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์รายอื่น ผู้บริหารของ Honda กำลังเดินแผนภายใต้แนวคิด “เสริมสร้างประสบการณ์ขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม (Cooperative Mobility Ecosystem)” โดยมุ่งผลิตรถยนต์ที่สามารถสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้ขับ รถยนต์ที่อยู่โดยรอบและเซ็นเซอร์บนถนนสะพานและอาคารต่างๆ เพื่อให้การเดินทางปลอดภัยมากขึ้น Honda รายงานยอดขายรถยนต์ 4.4 ล้านคันในปี2015 ตัวเลขดังกล่าวไม่ถึงครึ่งของบริษัทคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Toyota, VW และ GM ส่วนรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2016 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 9.6% มาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่บริษัทประมาณการว่ารายได้ของปีปัจจุบันจะลดลง 6% ขณะที่คาดว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ S&P Global Ratings ยังได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทลงเมื่อไม่นานมานี้ข้อมูลด้านอื่นๆ ที่ไม่อาจประเมินวัดได้ด้วยตัวเลขก็ส่งสัญญาณน่ากังวลเช่นกัน หากพูดถึงเทคโนโลยีภายในรถยนต์ “คะแนนประเมินของ Honda อยู่ที่ระดับปานกลาง” Alexander Edwards ประธานของ Strategic Vision บริษัทวิจัยจาก San Diego กล่าว Honda ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ที่ติดอันดับความน่าเชื่อถือมาเป็นเวลานาน แต่บริษัทรั้งอันดับที่ 6 ในการสำรวจความพึงพอใจผู้บริโภคโดยนิตยสาร Consumer Reports ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนนี้จึงถึงคิวของผู้มีหัวคิดสร้างสรรค์และเปิดรับนวัตกรรมอย่าง Sugimoto ที่จะช่วยเข้ามาพัฒนาบริษัท “เทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ในการผลิตจริงให้เร็วที่สุด” Sugimoto ซึ่งจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก University of Tokyo และปริญญาโท MBA จาก Haas School of Business แห่ง UC Berkeley กล่าว หนึ่งในโครงการเหล่านั้นคือจอแสดงผลระบบ 3 มิติในรถยนต์ ภายในเวลาเพียง 6 เดือนวิศวกรจาก Leia 3D ธุรกิจเกิดใหม่ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในย่าน Menlo Park ได้ร่วมพัฒนาเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้เชี่ยวชาญของ Honda เพื่อปรับแต่งนาโนเทคโนโลยีที่ Leia พัฒนาขึ้นให้เหมาะสมกับการใช้งานในรถยนต์ ผลลัพธ์ที่ได้คือหน้าจอแสดงผลอัจฉริยะอันล้ำยุคซึ่งผู้ขับขี่สามารถมองเห็นความลึกตื้นของภาพแม้ในเวลาที่ศีรษะมีการเคลื่อนไหวและมุมการมองเปลี่ยนไปจากเดิม Sugimoto กล่าวว่าเทคโนโลยีนี้มาจากหนึ่งใน “สิบกว่า” โครงการที่มีต้นกำเนิดจากศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ Xcelerator ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือธุรกิจเกิดใหม่เป็นเวลานาน 2 ปี Xcelerator คือศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเกิดใหม่ผ่านประสบการณ์จริงโดยจะจัดหาสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจ เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เงินทุนและทีมงานที่ปรึกษา ไมโครโฟนใยแก้วนำแสงซึ่งมาจากความร่วมมือระหว่าง Honda และ Vocal Zoom ธุรกิจเกิดใหม่จากอิสราเอลก็มาจากโครงการ Xcelerator เช่นกัน ในปี 2014 ศูนย์วิจัย Honda ได้เปิดห้องปฏิบัติการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อร่วมมือกับผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นในการผสานเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้าไปในรถยนต์ Honda และ Acura บริษัทยังได้จับมือกับ Visa ในการพัฒนารถยนต์ให้สามารถชำระค่าที่จอดรถและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบอัตโนมัติ และจับมือกับเครือธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเพื่อให้ผู้ขับรถยนต์ที่เกิดหิวระหว่างทางสามารถสั่งและชำระค่าอาหารล่วงหน้า  
คลิกอ่าน "Honda หาแนวร่วม" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine