ฉีกธุรกิจตอบโจทย์คนช่างเก็บ ‘Clutter’ สตาร์ทอัพบริการขนย้ายและให้เช่าโกดังเก็บของ - Forbes Thailand

ฉีกธุรกิจตอบโจทย์คนช่างเก็บ ‘Clutter’ สตาร์ทอัพบริการขนย้ายและให้เช่าโกดังเก็บของ

Clutter เดินหน้าพลิกโฉมธุรกิจบริการพื้นที่เก็บของส่วนตัวที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญด้วยระบบการบริหารคลังสินค้าแบบ Amazon พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะเปิดช่องทางให้ลูกค้าสามารถขนส่ง เช่า และซื้อขายสินค้าได้ในอนาคต

บริการของ Clutter คือการอำนวยความสะดวกครบวงจรในการขนส่งและรับฝากสิ่งของในโกดัง เมื่อเรียกใช้งาน พนักงานของ Clutter จะมาถึง ห่อหุ้มของด้วยผ้าพร้อมติดบาร์โค้ดที่สิ่งของและบันทึกภาพลงในแคตตาล็อก จากนั้นก็ยกข้าวของขึ้นรถไปเก็บไว้ในโกดัง ที่สำคัญคือ ค่าบริการฝากของของพวกเขามักจะถูกกว่าพื้นที่เก็บของแบบดั้งเดิม กระบวนการทุกขั้นตอนของ Clutter ฉีกกรอบจากการทำธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้าแบบเดิมๆ ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี Clutter นำอสังหาริมทรัพย์บนทำเลราคาถูก บริการชั้นเยี่ยมและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะมาผสานรวมกันเพื่อนำเสนอบริการที่สามารถดึงดูดลูกค้ามากกว่า 10,000 ราย และจากการคาดการณ์บริษัทน่าจะกวาดรายได้หลายสิบล้านเหรียญในปีนี้
พนักงานในชุดเสื้อยืดสีฟ้าของ Clutter กับรถขนย้าย
Clutter ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Culver City รัฐ California ตั้งเป้าลงชิงเค้กในตลาดที่มีรายได้รวมประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญต่อปี Ari Mir และ Brian Thomas สองผู้ก่อตั้งระดมทุน 97 ล้านเหรียญจากธุรกิจร่วมลงทุนหลายแห่ง เช่น Sequoia Capital, GV (เปลี่ยนชื่อมาจาก Google Ventures) และ Atomico จาก London โดยมูลค่าประเมินบริษัทอยู่ที่ 240 ล้านเหรียญ หลังจากนี้ Clutter วางแผนที่จะขยายขอบเขตการให้บริการจากปัจจุบันอยู่ที่ 7 เมืองในสหรัฐฯ (Los Angeles, New York, Seattle, Chicago, New Jersey, San Diego และ San Francisco) ให้ครอบคลุม 50 เมืองในทั่วโลกภายในระยะเวลา 6 ปี “ถ้าคุณต้องการนำโซฟาไปฝากคุณต้องโทรเรียกเพื่อนและโน้มน้าวด้วยการเลี้ยงพิซซ่าถ้ามาช่วยคุณขนย้ายของในวันหยุดสุดสัปดาห์” Mir ซีอีโอของบริษัทกล่าว “จากนั้นคุณต้องขับรถไปยังโกดังสินค้าเพื่อจัดเก็บของ ขับรถบรรทุกที่เช่ามาจาก U-Haul ไปส่งคืนและเรียกรถ Uber กลับบ้านซึ่งกว่าจะถึงก็เกือบสิ้นวัน แต่ถ้าเลือกใช้บริการของเราสิ่งที่คุณต้องทำคือแค่กดปุ่มเท่านั้น”
Public Storage บริการให้เช่าโกดังเก็บของแบบดั้งเดิม คู่แข่งรายหนึ่งของ Clutter (Cr: securitypublicstorage.com)
ครอบครัวชาวอเมริกันสัดส่วนราว 1 ใน 10 ใช้บริการเช่าพื้นที่เก็บของส่วนตัว ในปี 2016 บริษัท Public Storage ทำรายได้อยู่ที่ 2.6 พันล้านเหรียญและมีอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยราว 90% ปกติแล้วคลังเก็บสินค้ามีการจ้างงานเพียงเล็กน้อยและเป็นอสังหาฯ พาณิชย์ประเภทที่จะต้องนำไปคำนวณเสียภาษีต่ำ ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำให้ธุรกิจบริการโกดังเก็บของมีอำนาจต่อรองโดยสามารถปรับขึ้นค่าเช่าประมาณ 3% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ถือหุ้นแต่เป็นสิ่งที่กวนใจลูกค้า Mir และ Thomas ซึ่งปัจจุบันอายุ 35 ปีเคยเจอกันตั้งแต่สมัยวัยรุ่นใน Los Angeles แต่เพิ่งมาสนิทกันหลังเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มหันมาสนใจในบริการพื้นที่จัดเก็บของเมื่อปี 2013 หลังจากแม่ของ Thomas บ่นเรื่องโดนผู้ให้บริการปรับขึ้นค่าเช่าถึงสองครั้งในรอบหนึ่งปี ในเวลานั้น Thomas ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง “CPO” หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบุคลากรของ Clutter กำลังจะจบ MBA จาก UCLA ส่วน Mir เพิ่งลาออกจาก GumGum บริษัทด้านโฆษณาที่เขาร่วมก่อตั้ง ทั้งสองมองเห็นโอกาสมหาศาลในบริการจัดเก็บสินค้า เนื่องจากเล็งเห็นว่าระบบซอฟต์แวร์และสมาร์ทโฟนสามารถพลิกโฉมธุรกิจให้กลายเป็นบริการที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า
Ari Mir (ซ้าย) และ Brian Thomas (ขวา) ใช้เทคโนโลยีในการเสริมแกร่งให้กับ Clutter บริการขนย้ายของและโกดังให้เช่าเก็บของส่วนตัว
พวกเขาใช้เวลา 2 ปีในการขัดเกลาแผนงานจนกระทั่ง Clutter เปิดให้บริการในปี 2015 โดย Thomas เป็นคนดูแลลูกค้า 100 รายแรกด้วยตนเอง และภายในเวลาไม่นานก็เรียนรู้ว่าลูกค้าเต็มใจควักกระเป๋าจ่ายเพื่อบริการที่สะดวกและไม่ต้องปวดหัว บริษัทไม่ได้กำหนดขนาดพื้นที่ในการเก็บของ แต่ยกตัวอย่างสำหรับกรณีที่ลูกค้าอยู่ใน Los Angeles พวกเขาสามารถเก็บของภายในขนาดพื้นที่ 5X5 ฟุตด้วยราคา 89 เหรียญต่อเดือนโดยมีกำหนดระยะขั้นต่ำว่าต้องฝากของเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ทางด้าน Public Storage คิดค่าบริการประมาณ 125 เหรียญสำหรับพื้นที่ขนาดเท่ากันแต่ราคาจะมีการปรับเปลี่ยนตามจำนวนพื้นที่ว่างและขึ้นอยู่กับข้อตกลง สำหรับบริการเสริมอื่นๆ เช่น การบรรจุ ขนย้ายและจัดส่งของ Clutter จะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 35 เหรียญต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับการเช่าสถานที่เก็บของแบบดั้งเดิม บริการของ Clutter จะมีความยืดหยุ่นกว่า เช่น ลูกค้าสามารถฝากของขนาดน้ำหนักไม่เกิน 35 ปอนด์ในราคา 7 เหรียญต่อเดือน ด้วยจุดเด่นข้อนี้บวกกับข้อสัญญาที่ระบุชัดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าบริการสำหรับพื้นที่เดิมที่ฝากของไว้ช่วยหนุนให้บริษัทกวาดรายได้ไปเกือบ 8 ล้านเหรียญในปี 2016 ซึ่งทะยานขึ้นเกือบ 10 เท่าจากปี 2015
การขนย้ายของ Clutter จะมาพร้อมกับอุปกรณ์ช่วยหีบห่อข้าวของด้วยผ้าและเทปกาว (Cr: The Wall Street Journal)
ศูนย์จัดเก็บสินค้าของ Clutter อย่างเช่น คลังสินค้าขนาด 130,000 ตารางฟุตใน Ontario รัฐ California มีหน้าตาเหมือนห้าง Costco ที่หลอมรวมระบบโลจิสติกส์แบบ Amazon เอาไว้ โดยเทคโนโลยีเปรียบเสมือนหัวใจหลัก ระบบบาร์โค้ดช่วยให้ระบุได้ว่าสินค้าจัดเก็บไว้ที่ช่องไหน อีกทั้งยังเชื่อมต่อเข้ากับระบบการขนส่งสินค้าและแคตตาล็อกออนไลน์ พนักงานจะรู้ล่วงหน้าว่าสินค้าประเภทใดขนาดใดจะเดินทางมาถึงและควรจัดเก็บไว้ตรงไหน บริษัทกำลังพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถออกแบบการใช้พื้นที่และปริมาตรจัดเก็บให้เกิดประโยชน์สูงสุดเหมือนการจัดเรียงบล็อก Tetris นอกจากนี้ Clutter ยังกำลังสร้างระบบประมวลผลสำหรับคาดการณ์ว่าสินค้าประเภทใดที่ลูกค้าจะเลือกรับคืนก่อน เพื่อที่บริษัทจะได้วางแผนด้านสถานที่จัดเก็บ เช่น การนำจักรยานไว้ที่คลังสินค้าใกล้ตัวเมือง ขณะที่เปียโนจะถูกส่งไปยังคลังสินค้านอกตัวเมืองซึ่งที่ดินมีราคาถูกกว่า ในอนาคต Clutter ต้องการนำเสนอบริการที่ลูกค้าสามารถเลือกรายการสินค้าที่ฝากไว้ผ่านวิดีโอ ช่วยให้การรับคืนสินค้าเป็นเรื่องง่ายดาย ลูกค้าเพียงแค่เลือกรูปสินค้าที่ต้องการและของชิ้นนั้นจะถูกจัดส่งถึงหน้าบ้านภายใน 48 ชั่วโมงคล้ายกับบริการ Amazon Prime
พนักงานทุกตำแหน่งของ Clutter รวมถึงทีมขนย้ายและบรรจุหีบห่อจะได้รับจัดสรรหุ้นจากบริษัท (Cr: angel.co)
ขณะนี้ Clutter กำลังวางแผนที่จะรับพนักงานเพิ่มอีก 3 เท่าเป็น 600 คน (คนงานทุกตำแหน่งตั้งแต่ทีมขนย้ายไปจนถึงบรรจุหีบห่อถือเป็นพนักงานและได้รับจัดสรรหุ้นจากบริษัท) ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศและรับฝากสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น ผลงานศิลปะและรถยนต์ นอกจากนี้ Mir และบริษัทยังคิดไปไกลเกินกว่าแค่บริการรับฝากของ ด้วยศักยภาพด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มมากขึ้นและมีข้อมูลการเคลื่อนไหวของสินค้าแบบเรียลไทม์ พวกเขาวางแผนที่จะสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการ ในอีกไม่ช้า Clutter หวังจะเปิดให้ลูกค้าเลือกได้ว่าอยากจัดส่งสินค้าที่ฝากไว้ไปที่ไหน เมื่อลูกค้าอยากได้รองเท้าสกีที่ Aspen หรือกระดานโต้คลื่นใน Hawaii บริษัทจะดำเนินการจัดส่งให้ ยิ่งไปกว่านั้น Mir ยังพูดถึงแนวคิดที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเกี่ยวกับบริการที่จะช่วยลูกค้า “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้กับอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ของตน “เราต้องการให้ลูกค้าเพียงแค่คลิกเลือกว่าจะจัดเก็บ ทิ้ง บริจาค ขนส่ง เรียกคืน จำหน่ายหรือปล่อยเช่าสิ่งของต่างๆ” เขากล่าว เป้าหมายสูงสุดคือการปฏิวัติวิธีการบริหารและจัดเก็บข้าวของสัมภาระซึ่งเป็นเรื่องที่น่าลองเสี่ยง Thomas กล่าว   เรื่อง: Kathleen Chaykowski และ Samantha Sharf เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกเพื่ออ่าน "ฉีกธุรกิจตอบโจทย์คนช่างเก็บ" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine