ผู้พลิกเกมตัวจริง - Forbes Thailand

ผู้พลิกเกมตัวจริง

ต้องขอบคุณโทรศัพท์มือถือและ App Store ทั้งหลาย ที่เปลี่ยนความดังของเหล่าคนมีชื่อเสียงให้เป็นเงินในรูปแบบใหม่ ขอเชิญพบกับผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการเกมหน้าใหม่ อาทิ Kim Kardashian ตลอดจนคนดังใจกล้าอีกมากมาย ที่สามารถสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีมูลค่าถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านเกมมือถือได้อย่างรวดเร็ว

เหมือนกับห้องประชุมกระจกของคณะกรรมการบริษัททั้งหลาย ที่ผู้ทรงอิทธิพลต่อสื่อจะนั่งหัวโต๊ะและง่วนกับการวางแผนธุรกิจมูลค่ามหาศาล Kim Kardashian ก็เช่นกัน เธอถือดินสออยู่ในมือ พลิกดูตัวอย่างไอคอนแสดงอารมณ์ (อิโมจิ) ปึกใหญ่ สุดท้ายเธอทำเครื่องหมายไว้ที่รูปผ้าพันคอสีแดง น้ำมันทาผิวสีแทน กับชุดว่ายน้ำ “ฉันน่าจะถ่ายรูปตัวเองในชุดว่ายน้ำวันพีซของ Pablo และคุณจะได้เอาไปใช้” ดารารายการเรียลลิตี้โชว์กล่าวกับสามี Kanye West ยุคนี้เป็นยุคที่คนดังทำธุรกิจกันแบบรวบยอดเบ็ดเสร็จ Kim และสามี ก็เช่นกัน พวกเขาทำธุรกิจในรูปแบบของสินค้าที่ซื้อมาขายไป ต่อจากนี้ เธอก็จะลงรูปตัวเธอในชุดว่ายน้ำบนอินสตาแกรม เพื่อให้ Whalerock Industries นักพัฒนาเว็บไซต์ของเธอสามารถนำไปดัดแปลงเป็นอิโมจิ แล้วนำไปใส่ไว้ในแอพพลิเคชั่นให้แฟนๆ ได้ดาวน์โหลดกันไปในราคา 1.99 เหรียญ เรื่องแบบนี้อาจจะดูไร้สาระเหมือนกับทุกเรื่องที่ Kim Kardashian ทำนั่นแหละ เธอคือภาพสะท้อนของยุคเซลฟี่อย่างแท้จริง อย่างเมื่อครั้งที่มีคลิปเซ็กซ์หลุดราว 10 ปีก่อน เธอก็ยิ่งกระพือข่าวฉาวของตนเองด้วยการแชร์เรื่องราวเกือบทุกรายละเอียดของชีวิต ยิ่งแชร์ก็ยิ่งดัง ราวกับเอาผลงานของ Andy Warhol มาละเลงให้เข้ากับภาพยนตร์เรื่อง Groundhog Day ยังไงยังงั้น ในความหมกมุ่นอยู่แต่กับรูปอวตารของเธอเองอยู่นั้น Kardashian บังเอิญค้นพบวิธีทำเงินจากชื่อเสียงที่มีอยู่ นอกจากนี้เธอยังฉลาดทีเดียวที่รู้จักใช้ฐานมวลชนขนาดใหญ่ให้เป็นประโยชน์ โดยเธอรับบทตัวละครในเกมทางโทรศัพท์ที่มีชื่อว่า Kim Kardashian: Hollywood ซึ่งผู้เล่นเกมจะได้สร้างคนดังขึ้นมาเองแล้วตีสนิทกับ Kim พร้อมไต่เต้าเข้าไปอยู่ในกลุ่มหัวแถวของวงการ อาจจะฟังดูงั้นๆ ก็จริง แต่ผลประกอบการกลับออกมาดีมากๆ นับตั้งแต่เกม Kim Kardashian: Hollywood เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2014 มีการดาวน์โหลดไปแล้ว 45 ล้านครั้ง สร้างรายได้ 160 ล้านเหรียญ FORBES ประเมินว่า Kardashian น่าจะเก็บเงินเข้ากระเป๋าจากเกมนี้ไป 45 ล้านเหรียญในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนในปีนี้ เธอทำเงิน51 ล้านเหรียญ รั้งอันดับ 42 ของ FORBES Celebrity 100 โผการจัดอันดับคนดัง 100 โดยรายได้จากเกม คิดเป็น 40% ของรายได้รายปีของเธอเลยทีเดียว เธอไม่ใช่คนดังเพียงคนเดียวในวงการเกม การเล่นเกมเปลี่ยนแปลงจากเครื่องเล่นเกมมาสู่จอคอมพิวเตอร์และในที่สุดก็เป็นแอพฯ ทางโทรศัพท์มือถือ นักกีฬาอาชีพตลอดจนใครก็ตามที่มีฐานผู้ติดตามต่างก็สามารถสร้างเกมที่สามารถเจาะตลาดได้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็อย่างเช่น Jason Stathamนักแสดงหนังแอคชั่นในเกมแนวยิงต่อสู้เหมือนกับภาพยนตร์ Shoot ‘Em Up ของเขา อย่างไรก็ตาม หลายคนก็กำลังพยายามขุดหาโอกาสที่ปลายแถวโน่นแล้ว เช่น Tom Hanks นักสะสมเครื่องพิมพ์ดีดตัวยง พัฒนาแอพฯ ที่เลียนแบบการเขียนด้วยเครื่องพิมพ์ดีด อย่างไรก็ตามในเวลานี้ พวกเราส่วนใหญ่พกเครื่องเล่นเกมติดตัวและติดกระเป๋ากันตลอดเวลาอยู่แล้ว โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเปิดตลาดเกมให้เข้าถึงผู้ใช้งานมาขึ้น ข้อมูลจากบริษัทวิจัย EEDAR พบว่า ผู้เล่นเกม 55% เป็นผู้หญิง ทำให้คนดังที่เป็นผู้โปรโมทเกมนั้นทำกำไรในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังได้อีกมหาศาลจากสัญญาพรีเซนเตอร์ที่มีอยู่แล้ว “ฉันชอบคอมพิวเตอร์เครื่องใหญ่ของฉัน แต่ฉันจำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่นั่งหน้าคอมพิวเตอร์คือเมื่อไรกัน” Kardashian วัย 35 ปีกล่าว พร้อมชี้นิ้วที่ทาเล็บสีขาวไปยังเครื่อง iPhone 6 Plus ของเธอ “ฉันใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ตลอดเวลา” ผู้นำอุตสาหกรรมเกมทางโทรศัพท์มือถือที่มีคนดังเป็นตัวชูโรงคือ Glu Mobile ผู้พัฒนาที่มีฐานอยู่ใน San Francisco ซึ่งก็คือผู้อยู่เบื้องหลังเกมของ Kardashian และ Katy Perry สำหรับ Glu มี Tencent ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีของจีนเป็นเจ้าของอยู่ส่วนหนึ่ง และวัดดวงด้วยการทุ่มเงินลงทุนมหาศาลให้กับโครงการพัฒนาเกมของเหล่าเซเลบ บริษัทมีรายได้ 249.9 ล้านเหรียญในปี 2015 โดย 30% มาจากเกมที่มีชื่อเดียวกับคนดัง ซึ่งก็รวมถึง 71.8 ล้านเหรียญที่ได้จากเกม Kim Kardashian: Hollywood ด้วย แหล่งข่าวสุดลับของ Glu ซึ่งก็คือ Niccolo de Masi ประธานบริหารระดับสูงกล่าวว่า “เราใช้เครื่องพัฒนาเกมที่รู้อยู่แล้วว่าจะมีคุณค่ามหาศาลตลอดระยะเวลาการใช้งาน จากนั้นนำมันมาทำเงินให้อีกมหาศาล พร้อมหาวิธีเติมพลังเข้าไปอีก”
Niccolo de Masiประธานบริหารระดับสูงของ Glu Mobile
เกมของ Kardashian ก็มีรูปแบบเหมือนกับเกมส์ส่วนใหญ่คือ ให้ดาวน์โหลดฟรี แต่หลังจากนั้นก็ทำเงินจากผู้เล่นในกลุ่มที่ยอมทุ่มสุดตัว คือ แอพฯ แฝงในเกม อันเป็นส่วนประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เกมดูดีอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้แนวทางมาแล้ว Kardashian จึงเริ่มเชื่อมโยงเหตุการณ์ในชีวิตจริงเข้ากับโลกเสมือน เช่น พาตัวละครในเกมเดินทางไปยัง Punta Mita ในเม็กซิโก ในวันเดียวกับที่เธอเดินทางมาถึงจริงๆ “สำหรับไอเดียในภาพรวมคือ สร้างความรู้สึกเหมือนจริงให้ได้มากที่สุด” Kardashian อธิบาย โดยทั่วไปแล้ว เกมฟรีมักจะอยู่ได้ไม่ถึง 18 เดือน นับว่าไม่นานเลยสำหรับความพยายามที่อาจจะต้องใช้ทีมงานนักพัฒนาค่าตัวแพงถึง 24 คน แต่ผลตอบแทนเบื้องหลังนั้นดึงดูดให้คนดังช่วยเข้ามาประชาสัมพันธ์เกมนานกว่างานพรีเซนเตอร์ทั่วไปอยู่มาก พวกเขาไม่ได้รับเงินเบื้องหน้าก้อนโตแล้วจบๆ ไปเท่านั้น แต่ยังมีการทำสัญญากันเป็นเวลาหลายปี ซึ่งโดยปกติแล้วจะระบุเงื่อนไขห้ามแข่งขัน แต่ใช่ว่าศิลปินหลายคนจะประสบความสำเร็จหลังพาตัวเองมาสู่ตลาดเกม ลองมาดูอย่าง Shakira ศิลปินเพลงป็อปชื่อดังเป็นอีกรายที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการทำเกมเมื่อปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดย Rovio บริษัทผู้พัฒนาเกม Angry Birds เปิดตัวเกมแนวแก้ปัญหา Love Rocks Shakira ขึ้นมาในปี 2015 โดยผู้เล่นจะต้องจับคู่เพชรที่วางเรียงเป็นแถว ซึ่งทั้งที่เป็นรูปแบบเกมที่ได้รับความนิยม แต่กลับไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับความสามารถของศิลปินสาวชาวโคลอมเบียผู้นี้แม้แต่น้อย เกมนี้อาศัยภาพลักษณ์ของเธอในการทำการตลาด โดยใช้ชื่อของเธอเป็นชื่อเกมและใช้ดนตรีของเธอเป็นเพลงประกอบอีกเช่นกัน แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเกมเลยนั้นทำให้เกมนี้มียอดดาวน์โหลดรวมเป็นตัวเลข 7 หลักเท่านั้น หรือเท่ากับรายได้เป็นเพียงตัวเลข 6 หลัก แม้แต่นักกีฬาดังระดับหัวแถวของโลกก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จหากเนื้อหาออกมาไม่โดนใจ เช่น ซูเปอร์สตาร์นักฟุตบอลอย่าง Cristiano Ronaldo (อันดับ 4 ในรายชื่อ Celebrity 100) เปิดตัวเกม Cristiano Ronaldo: Superstar Skater ในปี 2015 แต่แทนที่จะเป็นลีลาลูกหนังในสนาม เกมนี้กลับเป็น Ronaldo เล่นสเก็ตบอร์ดหลบหลีกบรรดาปาปารัซซีไปตามท้องถนนใน LasVegas การผสมผสานแบบแปลกๆ ทำให้มียอดดาวน์โหลดประมาณ1.3 ล้านครั้งเท่านั้น หรือไม่ถึง 1% ของจำนวนผู้ติดตามทางสื่อโซเชียลมีเดีย 219 ล้านคนของเขาด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันบริษัทนอกอุตสาหกรรมเกมก็เริ่มกระจายเข้ามาจับแอพฯ คนดังด้วยเช่นกัน โดยอาศัยโอกาสจากการส่งข้อความที่ได้รับความนิยมมากขึ้น “[เกม]ไม่ได้หายไปไหนหรอกครับแต่มันจะรวมเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างทางโทรศัพท์มือถือแทน” Zack Sugarman รองประธานฝ่ายดิจิทัลของ Wasserman กล่าว “คุณต้องรวมการสื่อสาร การแชท และอิโมจิเข้าด้วยกัน” ด้วยเหตุนี้เอง ห้องประชุมของ Kardashianจึงมีแต่ “Kimoji” ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม พร้อมกลับปลุกกระแสการใช้ไอคอนแทนตัว ไม่ว่าจะเป็น StephMoji ของนักบาสเกตบอล Steph Curry และ JustMoji ของ Justin Bieber รวมถึงคนอื่นๆ อีกด้วยในความพยายามครั้งใหม่ของ Kardashian เธอพัฒนาแอพฯ ชื่อเดียวกับตัวเอง ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องจ่ายเงินเดือนละ 2.99 เหรียญ แต่จะได้เคล็ดลับพิเศษเรื่องความสวยความงาม ตลอดจนบทความจาก Kardashian ซึ่งล่าสุดเป็นหัวข้อ “จะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่สระผม 4 วัน” และ “แต่งหน้าและทำผม” “เวลาที่คนมองฉันแบบว่า...เธอจะเข้ามาในโลกเทคโนโลยีทำไมกัน นี่ไม่ใช่ที่ของเธอซะหน่อย กลับไปอยู่กับรายการเรียลลิตี้เถอะ ฉันก็แบบบอกเลยว่าไม่” Kardashian เล่าย้อนให้ฟัง “ฉันว่านี่มันสนุกดีนะคะ ตอนนี้ฉันกำลังจะมี Kimoji และแอพฯ อีก และไอเดียอื่นๆ อีก ฉันไม่คิดว่าจะหยุดเลย” ไม่ว่าเธอจะจับสื่อด้านไหนก็ตาม ดูเหมือนว่าเราถูกผูกติดกับเธอไปตลอดซะแล้ว   เรื่อง: NATALIE ROBEHMED เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ผู้พลิกเกมตัวจริง" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016