10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024 ปีนี้ 'เฉลิม อยู่วิทยา' กระโดดขึ้นมานั่งแท่นอันดับ 1 จากการที่ธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังมียอดขายมากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก ขณะที่มหาเศรษฐีของกลุ่มธุรกิจเจริญโภคภัณฑ์หรือที่รู้จักกันดีในนามเจ้าสัวซีพีที่ครองอันดับ 1 มายาวนานเกือบทศวรรษ ร่วงลงมาอยู่อันดับ 2 โดยเป็นผลจากหุ้นหนึ่งในบริษัท Ping An Insurance ของจีนที่ร่วงต่ำลงส่งผลให้รายได้ 3.4 หมื่นล้านเหรียญปีก่อน ลดลงเหลือ 2.9 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้
หลังนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อดีตเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ ได้เข้ารับตำแหน่ง ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังส่งผลให้ดัชนีหุ้นอ้างอิงลดลง 15% นับตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องไปถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ความมั่งคั่งรวมของเหล่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของประเทศจึงลดลงเกือบ 12% เหลือเพียง 1.53 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 1.73 แสนล้านเหรียญในปีที่แล้ว
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลให้มหาเศรษฐีของไทยจำนวน 39 ราย ในปี 2024 นี้ มีฐานะร่ำรวยน้อยลง โดยมีเพียง 7 รายที่มีแนวโน้มรวยสวนกระแสเศรษฐกิจจากกำไรของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรูปของค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ อันดับ 1 ใหม่: เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว หุ้นส่วนของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 2.6 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้มูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มตามไปด้วยเป็น 3.6 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งในปี 2023 ที่ผ่านมา Red Bull มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญ จากยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลก
หลังจากครองตำแหน่งอันดับ 1 มายาวนานเกือบทศวรรษ ล่าสุดพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วงลงมาอยู่อันดับ 2 โดยเป็นผลจากรายได้ 3.4 หมื่นล้านเหรียญในปีก่อน ลดลงเหลือ 2.9 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้ การลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการตกต่ำของหุ้นหนึ่งในบริษัท Ping An Insurance ของจีน ซึ่งรายงานผลขาดทุนในธุรกิจบริหารสินทรัพย์ของบริษัทในปี 2023 มูลค่า 2.7 พันล้านเหรียญ ส่วนอีก 3 อันดับที่เหลือใน 5 อันดับแรกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน แม้ว่ามหาเศรษฐีทั้งสามรายจะมีมูลค่าความมั่งคั่งลดลงก็ตาม
ทั้งนี้ มหาเศรษฐีของธุรกิจเครื่องดื่ม อย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องเผชิญกับความเป็นจริงอันโหดร้าย โดยความมั่งคั่งของเขาหายไปราว 1 ใน 4 ของมูลค่าในปีก่อน ทรัพย์สินหดตัวลงเพียง 1 หมื่นล้านเหรียญในปีนี้ แม้ว่าเขาจะยังครองตำแหน่งอยู่ในอันดับ 3 ตามเดิมเหมือนปีก่อนก็ตาม
ถัดมาอันดับ 4 คือ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ซึ่งถือเป็นเจ้าของกลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลที่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในห้างสรรพสินค้า Selfridges อันโด่งดังในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยล่าสุดในปีนี้มีมูลค่าความมั่งคั่งอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญ ลดลงจากปีก่อนราว 20%
อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของมหาเศรษฐีด้านพลังงานและโทรคมนาคม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เขาเปิดตัวในการจัดอันดับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้ลดลงในปีนี้เป็นครั้งแรกเหลือมูลค่าอยู่ที่ 9.2 พันล้านเหรียญ
สำหรับรายชื่อ 10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2024 มีดังต่อไปนี้
อันดับ 1 เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 หมื่นล้านเหรียญ / 1.32 ล้านล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับ: ขึ้นจากอันดับ 2
เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของร่วม Red Bull เครื่องดื่มชูกำลังอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งขายได้มากกว่า 1.2 หมื่นล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2023 โดยครอบครัวอยู่วิทยาถือหุ้นอยู่ 51% ซึ่งในจำนวนนี้มีหุ้นจำนวนเล็กน้อยที่เป็นของเฉลิม ลูกชายคนโตของผู้ร่วมก่อตั้งกระทิงแดงผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง ‘เฉลียว อยู่วิทยา’
ในปี 2020 Red Bull Thailand ชนะการต่อสู้เครื่องหมายการค้าซึ่งเกี่ยวข้องกับ Red Bull ในประเทศจีนมาหลายปีแล้ว
ขณะที่มหาเศรษฐีชาวออสเตรีย Dietrich Mateschitz ผู้ซึ่งร่วมกับพ่อของเฉลิมเป็นผู้สร้างสรรค์ Red Bull เครื่องดื่มอันเป็นเอกลักษณ์นี้ เสียชีวิตในเดือนตุลาคม 2022 ขณะอายุ 78 ปี
อันดับ 2 พี่น้องเจียรวนนท์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.9 หมื่นล้านเหรียญ / 1.06 ล้านล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับ: ร่วงลงจากอันดับ 1
พี่น้องเจียรวนนท์ ประกอบไปด้วยสามพี่น้อง รวมถึงครอบครัวของมนตรี เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 2 ของท่านเจี่ย เอ็กชอ ผู้ก่อตั้งเจียไต๋ ต้นกำเนิดธุรกิจของเครือซีพี ที่เริ่มจากการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าจากจีนให้เกษตรกรไทยในปี 1921
สำหรับ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ (ในภาพ) เป็นประธานและซีอีโอของซีพีมาเป็นเวลา 48 ปี จนกระทั่งเขาก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2017 แต่ยังคงเป็นประธานอาวุโส โดยมี สุภกิต และศุภชัย ลูกชายของเจ้าสัวธนินท์ เป็นประธานและซีอีโอของซีพี ตามลำดับ
ภาพรวมธุรกิจที่สำคัญคือในปี 2023 ธุรกิจโทรคมนาคมของเครืออย่าง True ได้ควบรวมกิจการเสร็จสิ้นกับค่ายคู่แข่งอย่าง DTAC
อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.0 หมื่นล้านเหรียญ / 3.68 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับ: คงที่
จากลูกชายของพ่อค้าริมถนนในกรุงเทพ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ ได้กลายเป็นผู้กุมบังเหียนไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากรายได้ ซึ่งมีโปรดักต์ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างคือเบียร์ช้าง
ทรัพย์สินขนาดใหญ่อื่นๆ ได้แก่ เครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ Fraser & Neave นอกจากนี้ยังมีอาณาจักรค้าปลีก ได้แก่ เครือไฮเปอร์มาร์เก็ต บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งเข้าซื้อกิจการในปี 2016 ด้วยมูลค่ามากกว่า 6 พันล้านเหรียญ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AWC ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเมื่อตุลาคม 2019 ซึ่งเจริญยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย AWC นั้นมีโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ และพัทยา เป็นต้น
โปรเจ็กต์อสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่คือโครงการมิกซ์ยูสใจกลางกรุงเทพฯ อย่าง One Bangkok มูลค่ากว่า 3.5 พันล้านเหรียญ โดยโครงการนี้ดูแลโดย ‘ปณต’ บุตรชายของเขา
อันดับ 4 ครอบครัวจิราธิวัฒน์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.9 พันล้านเหรียญ / 3.64 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: แฟชั่นและค้าปลีก
อันดับ: คงที่
ครอบครัวจิราธิวัฒน์ เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล (ในภาพคือ สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์) เป็นผู้พัฒนาห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศในแง่ของพื้นที่เช่าสุทธิ
ในปี 2020 ครอบครัวนี้ได้จดทะเบียนบริษัทค้าปลีกเอกชนชื่อ Central Retail ซึ่งระดมทุนได้ 2.5 พันล้านเหรียญในการเสนอขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ในเดือนพฤศจิกายน 2023 กลุ่มเซ็นทรัลยังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในห้างสรรพสินค้า Selfridges ในลอนดอน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อีกด้วย นอกจากนี้ในเดือนเมษายน 2024 กลุ่มเซ็นทรัลได้ซื้ออาคารห้างสรรพสินค้า KaDeWe อันโดดเด่นจากบริษัท Signa ในออสเตรียที่ล้มละลาย ในมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ
อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 9.2 พันล้านเหรียญ / 3.38 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: พลังงาน
อันดับ: คงที่
สารัชถ์ รัตนาวะดี ดำรงตำแหน่งซีอีโอของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากกำลังการผลิตติดตั้ง
เขานำบริษัทเข้าสู่มหาชนในปี 2017 โดยระดมทุนได้มากกว่า 700 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศในรอบทศวรรษ
ในปี 2021 สารัชถ์ได้เข้าถือหุ้นใน InTouch Holdings ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมและหน่วยไร้สาย Advanced Info Service (AIS) ทั้งนี้ การร่วมทุนระหว่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กับ Singtel และ AIS เพื่อจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2025
นอกจากโทรคมนาคมแล้ว สารัชถ์ยังให้ความสนใจในคริปโทเคอร์เรนซี่อีกด้วย โดยในเดือนมกราคม 2024 Gulf Energy ได้ร่วมทุนกับ Binance เปิดตัวกระดานแลกเปลี่ยนคริปโทฯ ในประเทศไทย
อันดับ 6 ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.8 พันล้านเหรียญ / 1.39 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: ธุรกิจแพทย์
อันดับ: ขึ้นจากอันดับ 7
อดีตศัลยแพทย์ ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ร่วมก่อตั้งกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือที่รู้จักกันดีในนามของเครือโรงพยาบาลเอกชน BDMS ถือเป็นผู้ให้บริการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจของ BDMS มีศูนย์ดูแลสุขภาพสุดหรูมูลค่า 370 ล้านเหรียญในกรุงเทพฯ ซึ่งรวมถึงรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ Movenpick จำนวน 211 ห้อง
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงเทพดุสิตได้เปิดโรงพยาบาลโรคมะเร็งในกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลมากกว่า 50 แห่งนอกจากนี้ ประเสริฐ ยังเป็นเจ้าของธุรกิจสายการบินระดับภูมิภาคอย่างบางกอกแอร์เวย์ส ที่เข้าจดทะเบียนในปี 2557
อันดับ 7 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.6 พันล้านเหรียญ / 1.32 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: แฟชั่น & ค้าปลีก
อันดับ: ขึ้นจากอันดับ 8
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นบุตรชายของวิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของธุรกิจ King Power ร้านค้าปลอดภาษีที่ตั้งอยู่ในสนามบินชั้นนำในประเทศไทย โดยวิชัยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในเดือนตุลาคมปี 2018
ปัจจุบัน อัยยวัฒน์ ดำรงตำแหน่งซีอีโอและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของคิง เพาเวอร์ พร้อมแบ่งปันความมั่งคั่งและถือครองมูลค่าทรัพย์สินร่วมกับแม่ของเขา (ซึ่งเป็นประธานกลุ่มบริษัท) และพี่น้องอีกสามคน
นอกเหนือจากนี้ อัยยวัฒน์ยังเป็นประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ สโมสรฟุตบอลอังกฤษที่ครอบครัวของเขาได้เข้าซื้อและถือครองกิจการ รวมทั้งยังเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ของตึกมหานคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
อันดับ 8 วานิช ไชยวรรณ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.3 พันล้านเหรียญ / 1.21 แสนล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: การเงินและการลงทุน
อันดับ: ร่วงจากอันดับ 6
วานิช ไชยวรรณ จากอดีตผู้ค้าข้าวผู้นั่งแท่นเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นบริษัทประกันรายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย
ปัจจุบันบริษัทนี้บริหารงานโดยลูกชายของเขา ได้แก่ ไชย ซึ่งเป็นประธานกรรมการและซีอีโอของบริษัท ขณะที่วรางค์ ลูกสาวของวานิช และลูกชาย วินยู เป็นรองซีอีโอและนั่งในคณะกรรมการ
ทั้งนี้ เมจิ ยาสุดะ บริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่น ได้เข้าถือหุ้น 17% โดยในเดือนกรกฎาคมปี 2022 บริษัทสามารถระดมทุนได้ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ วานิชและครอบครัวยังถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยเครดิต ซึ่งจดทะเบียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมา
อันดับ 9 ครอบครัวโอสถานุเคราะห์
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.2 พันล้านเหรียญ / 8.10 หมื่นล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับ: ขึ้นจากอันดับ 10
ครอบครัวโอสถานุเคราะห์เป็นเจ้าของธุรกิจโอสถสภาที่มีอายุยาวนานถึง 133 ปี ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดของไทยและยังเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ซึ่งเป็นที่ยอดนิยม
ความมั่งคั่งของครอบครัวได้รับแรงหนุนจากการเสนอขายหุ้น IPO ของโอสถสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2018 โดยครองสัดส่วนตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังประมาณ 46% ของประเทศไทย
เพชร โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเคยบริหารบริษัทและเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้ง ได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 สิริอายุได้ 69 ปี
อันดับ 10 ประยุทธ มหากิจศิริ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.15 พันล้านเหรียญ / 7.91 หมื่นล้านบาท
แหล่งความมั่งคั่ง: อาหารและเครื่องดื่ม
อันดับ:
ประยุทธ มหากิจศิริ ได้ร่วมทุนกับเนสท์เล่มายาวนานในโปรดักต์อย่างเนสกาแฟ ขณะที่เมล็ดกาแฟที่ใช้ในกาแฟสำเร็จรูปของ Quality Coffee ล้วนมาจากผู้ปลูกกาแฟในท้องถิ่น นอกจากนี้เขายังมีความสนใจในธุรกิจเหล็ก ทองแดง การขนส่ง การขุดเจาะนอกชายฝั่ง และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เฉลิมชัย ลูกชายของเขา สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน เป็นซีอีโอของบริษัท PM Group ขณะที่ลูกสาว อุษณา เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ PM Group และเป็นผู้ก่อตั้ง Coffee Gallery ซึ่งเป็นเครือร้านกาแฟ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2567
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine