นาฬิกาหรูสวิสประกาศสงครามกับ Apple Watch - Forbes Thailand

นาฬิกาหรูสวิสประกาศสงครามกับ Apple Watch

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Jul 2015 | 02:06 PM
READ 4904
ปี 1982 อุตสาหกรรมนาฬิกาของ Switzerland เผชิญวิกฤตแห่งการอยู่รอด หลังถูกถล่มอย่างหนักจากคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งหันมาใช้แบตเตอรี่กับนาฬิกา quartz แต่แทนที่จะมองว่ากลไกของนาฬิกาเป็นจุดอ่อน Jean-Claude Biver ผู้ที่เพิ่งซื้อแบรนด์ Blancpain ซึ่งเลิกกิจการไปแล้ว กลับลุกขึ้นประกาศอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า กลไกนาฬิกาที่กำลังจะตกยุคนี้ จะเป็นตัวแทนแห่งอนาคตของอุตสาหกรรม “นับตั้งแต่ปี 1735 เป็นต้นมา ไม่เคยมีนาฬิกา Blancpain ระบบ quartz” Biver ประกาศสโลแกนใหม่ของเขา “และจะไม่มีวันนั้น” หนึ่งทศวรรษต่อมา เขาพิสูจน์คำพูดตัวเองด้วยผลลัพธ์และขาย Blancpainให้กับ Swatch Group เป็นเงิน 43 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยมูลค่าส่งออกมากกว่า 2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2013 แต่ประดิษฐกรรมอย่างนาฬิกาอัจฉริยะและการเปิดตัว Apple Watch ทำให้ผู้ที่มองโลกแง่ร้ายทั้งหลาย นึกสงสัยว่า ของเก่าๆ กำลังจะถูกทิ้งให้หล่นหายในกาลเวลาหรือไม่ ดังนั้นในงาน Baselworld (ซึ่งเปรียบได้กับ Super Bowl ประจำปีของอุตสาหกรรมนาฬิกา) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Biver วัย 65 ปี ผู้ที่ตอนนี้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกนาฬิกาของ LVMH Group ซึ่งรวมแบรนด์อย่าง TAG Heuer และ Hublot จึงได้ประกาศกร้าวอีกครั้ง “เราไม่อาจเพิกเฉยต่อกระแสของนาฬิกาอัจฉริยะ” แต่นี่ไม่ใช่เป็นการฝืนกระแส หากเป็นการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเครื่องบอกเวลาของสวิสตอบโต้การรุกรานของนาฬิกาอัจฉริยะสู่ดินแดนของพวกเขา Biver กล่าวว่า ยุทธวิธีที่ดีที่สุดในการต่อกรก็คือแสดงความอัจฉริยะที่เหนือกว่า ในวันเปิดงาน Baselworld เขาเปิดแนวรบครั้งแรกด้วยการแถลงข่าวประกาศ 3 ความร่วมมือแห่งศักราชของ TAG Heuer, Google และ Intel ผลลัพธ์จากความร่วมมือนี้จะนำไปสู่นาฬิกาอัจฉริยะแบบสวิส นั่นคือเครื่องบอกเวลาระบบปฏิบัติการ Android ที่ใช้เทคโนโลยีของ Intel ถึงแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องรูปลักษณ์ ดีไซน์ ฟังก์ชั่นต่างๆ (และแน่นอน สนนราคาของมัน) จนกว่าเดือนตุลาคม แต่ Biver เชื่อว่าสัมพันธภาพทางธุรกิจครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดผลในด้านบวกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “เรายินดีที่ได้ทำงานร่วมกับ Intel และ Google รวมทั้งได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของพวกเขา มากเท่าๆ กับที่พวกเขาจะได้เรียนรู้จากเรา” Biver บอกกับ Forbes “ทั้งสองบริษัทมุ่งบรรลุผลในด้านเทคโนโลยีมากกว่าเรา ขณะที่เรามุ่งเน้นความหรูหรามีระดับมากกว่า” น่าสนใจที่ไอเดียการเปิดไลน์สินค้าประเภทเทคโนโลยีสวมใส่ได้ของ TAG Heuer มาจาก Guy Sémon ผู้จัดการทั่วไปและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ TAG ขณะที่ผู้ผลิตสวิสมักถูกมองว่าเอาแต่ปกป้องขนบเก่าๆ ที่มีอายุหลายศตวรรษของอุตสาหกรรมนาฬิกาของพวกเขา Biver กลับให้เครดิตกับ Sémon ในการเป็นผู้ผลักดัน TAG “ให้เข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่ด้วยภูมิปัญญาของเรา แต่ด้วยการจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่แห่ง Silicon Valley นำมาซึ่งความร่วมมือทางธุรกิจอันสมบูรณ์แบบ” และไม่ได้มีแต่ TAG เท่านั้นในภารกิจนี้ ที่งาน Baselworld Breitling เองก็ได้นำเสนอนาฬิกา concept ด้วยการรังสรรค์ประดิษฐกรรมรุ่น B55 Connected ให้เป็นนาฬิกาอัจฉริยะ นาฬิกาและเทคโนโลยีที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว และครึ่งหนึ่งของเครื่องมือทั้งสองชนิดนี้ต่างก็ทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง ผลที่ได้คือนาฬิกานักบิน (pilot’s watch) ที่มีมาตรวัดเวลาผ่านการรับรองโดย COSC ซึ่งรวมถึงระบบตั้งเวลา ระบบปรับเขตเวลา และระบบตั้งปลุก ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านโทรศัพท์ เช่นเดียวกัน B55 Connected สามารถอัพโหลดมาตรวัดต่างๆ จากนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นจับเวลา (เช่น ค่าที่อ่านจากเครื่องวัดความเร็วรอบอิเล็กทรอนิกส์) ไปไว้ในโทรศัพท์เพื่อการจัดเก็บแบบไม่ซับซ้อนและการถ่ายโอนข้อมูล สำหรับ Jean-Paul Girardin CEO ของ Breitling โทรศัพท์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมในการปรับปรุงฟังก์ชั่นของนาฬิกา ปลายปีนี้ Breitling จะเปิดตัวนาฬิกาที่ผลิตขึ้นโดยอิงจากรุ่น concept B55 Connected แต่ Girardin บอกว่า “ในอนาคต ความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้งานและความน่าดึงดูดใจของเทคโนโลยีจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง เราไม่มุ่งหวังที่จะผลิตอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้เพียงเพื่อตามกระแส” แบรนด์อย่าง Frédérique Constant และ Alpina ก็ประกาศผลิตนาฬิกาอัจฉริยะ Swiss Horological Smartwatch ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Switzerland กับ Silicon Valley เจ้านาฬิกาที่ว่านี้จะสามารถติดตามกิจกรรมความเคลื่อนไหวและการนอน กระทั่งบอกได้ด้วยว่าผู้สวมใส่อยู่ในเขตเวลาใด พร้อมหน้าปัดที่ดูง่ายในระบบ analog ไม่ใช่ digital ด้าน Jean-Christophe Babin CEO ของ Bulgari เปิดเผยว่านาฬิกาคอนเซ็ปรุ่นใหม่ของ Bulgariนั้น “ต้องไม่ถูกเข้าใจสับสนว่าเป็นนาฬิกาอัจฉริยะ” สำคัญที่สุดคือนาฬิการุ่น Diagono Magnesiumเป็นนาฬิกากลไกสวิสระดับไฮเอนด์ที่บังเอิญติดตั้งไมโครชิพ NFC ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อล็อกหรือปลดล็อก Cloud ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด Bulgari พัฒนาสิ่งที่พวกเขาเรียกแบบล้อเลียนว่า “นาฬิกาอัจฉริยะ” (intelligent watch) ร่วมกับ WISeKey บริษัทด้านความปลอดภัยข้อมูลของสวิส ดังนั้นผู้สวมใส่ Diagono Magnesium จึงสามารถเข้าถึงและปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล โดยทั้งหมดนี้ทำผ่านเพียงนาฬิกากลไกที่ทำหน้าที่เสมือนกุญแจเข้ารหัสที่สามารถไขเปิดล็อคที่จัดเก็บข้อมูล หลังได้บทเรียนจากวิกฤตนาฬิกา quartz แบรนด์สวิสทั้งหลายต่างก็ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วว่า จะใช้เทคโนโลยีสวมใส่ได้นี้อย่างไรให้เป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาด้านกลไกนาฬิกาของตน มากกว่าจะเป็นแค่การผลิตนาฬิกาอัจฉริยะที่มีกลิ่นอายของ Apple ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกค้ารุ่นหนุ่มสาวเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้เคยชินกับความเข้าใจว่านาฬิกาต้องมีฟังก์ชั่นเชื่อมต่อแบบใดแบบหนึ่ง แต่ Biver ยืนกรานว่า TAG Heuer จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง DNA ของตนในการเป็นแบรนด์นาฬิกาชั้นสูง อันที่จริง เมื่อปี 1982 นี้เอง ที่ผู้มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเครื่องบอกเวลาของสวิสยังมองว่านาฬิกากลไกคืออนาคต และพวกเขามีเหตุผลดีๆ ที่คิดเช่นนั้น “เพราะยังไงเสีย นาฬิกาอัจฉริยะจะต้องมีวันหมดสมัย ต่างจากนาฬิกากลไกแบบดั้งเดิมของเราซึ่งเป็น ‘อมตะ’" Biver กล่าวอย่างมั่นใจ “แน่นอน ในอีกร้อยหรือพันปี นาฬิกากลไกแบบดั้งเดิมก็ยังสามารถซ่อมได้และยังบอกเวลาได้!”   เรื่อง: โดย Valerie Jack เรียบเรียง: เอมวลี อัศวเปรม (คลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine)
คลิ๊กเพื่ออ่าน Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine