J-Town เมืองใหม่ของชาวอาทิตย์อุทัยในศรีราชา - Forbes Thailand

J-Town เมืองใหม่ของชาวอาทิตย์อุทัยในศรีราชา

แสงแดดยามบ่ายของเดือนเมษายนแผดใส่หลังคาเหลืองสองชั้นที่มองแล้วดูคล้ายสถาปัตยกรรมเจดีย์วัดในญี่ปุ่น แท้จริงแล้ว ชั้นล่างเป็นร้านค้าของอาคารแถวสูง 2 ชั้น ที่ประกอบไปด้วยร้านอาหารญี่ปุ่น ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านขายยา และร้านค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ รายล้อมด้วยบ่อน้ำยาวที่มีปลาคาร์ฟสีสดใสว่ายไปมา  โดยมี “ดอกซากุระ” ทำจากผ้าสีชมพูสดบริเวณทางเข้าของ J-Park คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์ญี่ปุ่นเป็นไฮไลท์ของการถ่ายรูปคนผู้มาเยี่ยมเยียน บนพื้นที่ 15 ไร่ ในอำเภอศรีราชา ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว

J-Park คือ การตีโจทย์ธุรกิจอย่างชาญฉลาดของกลุ่มสหพัฒน์ฯ หลังเปิดมาเพียง 2 ปี ทำเลสะดวกต่อการเข้าถึงทั้งต่อลูกค้าในพื้นที่ และคนที่มาจากกรุงเทพสามารถเลือกเส้นทางมอเตอร์เวย์สายตะวันออกเพียง 1 ชั่วโมงก็ถึงแล้ว ล้อมรอบมอลล์แห่งนี้ คือ หมู่บ้านจัดสรรระดับบีบวกอย่างน้อย 20 โครงการ ห่างจากตัวเมืองศรีราชาเพียง 6 กิโลเมตร พร้อมกับยังมีนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ กระจายอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือราว 15 กิโลเมตรจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง “J-Park มีความเป็นญี่ปุ่นสมบูรณ์แบบที่สุด...ที่นี่ของจริง ทั้งออกแบบและสร้างโดยคนญี่ปุ่น เราแค่เป็นคนช่วย ต้องการสร้างให้ออริจินอลที่สุด ฉะนั้น ครั้งแรกที่เราลงทุน เราลงทุนเต็มที่ ทำอะไรต้องให้เป็นที่หนึ่ง อย่าไปเลียนแบบ แล้วมันจะได้รับการยอมรับ สร้างชื่อเสียง” ทนง ศรีจิตร์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หนึ่งในเครือสหพัฒน์ กล่าวกับ Forbes Thailand เริ่มจาก J-Park J-Park เปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการเดือนกรกฎาคม 2556 เป็นการพัฒนาเฟสแรก บนเนื้อที่ 15 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมด 20 ไร่ งบลงทุน 800 ล้านบาท ปัจจุบันพื้นที่ขายเต็มหมดแล้ว มีร้านค้าต่างๆ และร้านอาหาร รวม 42 ร้าน ขณะที่อีก 1 ร้านอยู่ระหว่างรอการเปิด ปัจจุบัน บริษัทเริ่มพัฒนา 5 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดด้านการออกแบบ คาดการก่อสร้างจะเริ่มปลายปีและจะค่อยๆ เปิดให้บริการบางส่วนในปลายปี 2559 งบประมาณน่าจะใช้อย่างน้อย 400 ล้านบาท สู่ J-Town อภิมหาโครงการ อีกไม่นาน J-Park จะถูกพัฒนาจนเต็มพื้นที่ แต่บริษัทยังมีที่ดินอีก 600 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงข้ามของ J-Park ที่จะพัฒนาต่อ บริษัทเตรียมงบลงทุนราว 1 หมื่นล้าน เพื่อสร้าง J-Town ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่กว่า ครบเครื่องกว่า สามารถตอบสนองคนญี่ปุ่นได้ครบด้าน ทนงบอกว่า ความสำเร็จทุกวันนี้ เขายกความดีความชอบให้กับนายใหญ่ของเขาคือ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ฯ ที่วางรากฐานการลงทุนกับญี่ปุ่นมากว่า 40 ปี ปัจจุบัน สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ทำธุรกิจพัฒนาสวนอุตสาหกรรม 5 แห่ง และทนงเป็นผู้ดูแล โดยเขาทำงานกับสหพัฒน์ฯ ตั้งแต่อายุ 25 ปี จนวันนี้อายุ 60 ปี ไม่เคยเปลี่ยนงานไปอยู่ไหน ทนงบอกว่า บริษัทยังร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นอย่างน้อย 10 บริษัทเกือบทุกปี ทุกวันนี้ เขาเองก็รู้สึก “ผูกพัน” กับคนเหล่านี้ เพราะบางบริษัทรู้จักกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ จนมาวันนี้ รุ่นลูกเข้ามาบริหาร ทำให้ความสัมพันธ์แน่นขึ้นไปอีก เป็นเหมือนญาติที่ต้องช่วยกันสร้างธุรกิจร่วมของทั้ง 2 ชาติให้ยั่งยืนต่อไป “ด้วยนิสัยคนไทยกับคนญี่ปุ่นเข้ากันง่าย ผมถามคนญี่ปุ่นไปเวียดนาม ไปพม่า ไม่ happy คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส อะไรก็ได้ เฟรนด์ลี่ คนงานก็ไม่หัวแข็ง...ตอนนี้เขาอยู่ไทยก็ไม่ต่างกับญี่ปุ่น อย่างไปพม่าเจ็บป่วยก็ลำบาก อย่างที่นี่โรงพยาบาลมีคนพูดญี่ปุ่นได้ ทำงานเหมือนอยู่ประเทศของเขา”
เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: สุภชัย รอดประจง
อ่านฉบับเต็ม "J-Town เมืองใหม่ของชาวอาทิตย์อุทัยในศรีราชา" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MAY 2015