อียิปต์..อารยธรรมจากฟ้าจรดทรายสู่มรดกโลก - Forbes Thailand

อียิปต์..อารยธรรมจากฟ้าจรดทรายสู่มรดกโลก

อียิปต์ ดินแดนแห่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่แห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ประเทศที่อดีตกาลยังคงนำความยิ่งใหญ่สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่นักเดินทางจากทั่วโลกดั้นด้นเดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง

พาดผ่านสถาปัตยกรรมอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างมหาพีระมิดแห่งกีซ่า พลังศรัทธาหลังความตายด้วยการคิดค้นศาสตร์ทางการแพทย์ที่สามารถสร้างมัมมี่ฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ภาษาภาพอักษรไฮโรกลิฟ (Hieroglyph) อันเก่าแก่ การเดินทางเยื่อนอียิปต์ของ ForbesLife Thailand ครั้งนี้ เราตระเวณไปยังเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ไล่เรียงตั้งแต่กรุงไคโรเมืองหลวงของอียิปต์  เมืองอเล็กซานเดรียที่ตั้งอยู่ทางเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเดียนซึ่งถูกปกครองจากหลายชนชาติ เมืองซัคคาราและเมืองกีซ่า 2 เมืองแห่งศรัทธาและต้นกำเนิดพีรามิด และ ปิดท้ายที่ ลักซอร์ เมืองพักตากอากาศหรูที่สงบเงียบและยังเป็นที่ตั้งของสถาปัตยกรรมอันสวยงามตระการและที่ตั้งของหุบผากษัตริย์และราชินี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ตอน

กรุงไคโร

ระยะทางราว 7,269 กิโลเมตร กับการเดินราว 10 ชั่วโมง โดยสายการการบินอียิปต์ แอร์ พาเรามาถึงกรุงไคโร จุดเริ่มต้นของการเดินทาง ท่ามกลางอากาศ 12 องศาฯ ของปลายปี 2018 ซึ่งช่วงปลายถึงต้นปีเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว การเดินทางภายในกรุงไคโรบอกเรื่องราววิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยกว่า 19.5 ล้าน ผ่านการจราจรที่คับคั่ง ด้วยพาหนะทุกประเภท อาทิ ม้า-ลาเทียมเกวียนเพื่อขนม้วนผ้า งานสิ่งทอ พรม ที่เป็นงานหัตกรรมขึ้นชื่อ รถตู้-รถแวนที่ดัดแปลงเป็น รถขนส่งสาธารณะที่พร้อมรับผู้โดยสารและสัมภาระเมื่อมีผู้คนโบกเรียก ท่ามกลางอาคารบ้านเรือนเสร็จสมบูรณ์ อาคารบางแห่งก่อสร้างไม่เสร็จสิ้นเพราะเหตุผลการเก็บภาษีที่อยู่อาศัยของรัฐบาล และซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่มลงมาเนื่องจากเหตุการณ์เรียกร้องของประชาชนและการปฎิวัติการปกครองเมื่อปี 2013 ทำให้สถานที่สำคัญของรัฐบาล ธนาคาร รวมถึงที่พักชั้นนำจะมีตำรวจนั่งตรวจยามเฝ้าระวังโดยมีเครื่องตรวจวัสดุก่อระเบิด บริเวณทางเข้าและออก  

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอียิปต์ (National Museum of Cairo)

จุดหมายปลายทางของเราคืออาคารสีเหลี่ยมผื่นผ้าสีแดงฉาด ที่ล้อมรั้วลวดหนามอย่างรัดกุม มีกล้องวงจรปิดที่สอดส่อง รักษาสมบัติของชาติและอารยธรมของโลก ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอียิปต์ (National Museum of Cairo) หรือบางคนเรียกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งโบราณวัตถุ เพราะภายในพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมวัตถุโบราณเก่าแก่มากกว่าแสนชิ้น เมื่อพ้นจากจุดตรวจคัดกรองวัตถุระเบิดและของมีคมต่างๆ ถึงสองขั้นตอน ภายในอาคาร ปฎิมาติกรรมขนาดใหญ่จากยุคสมัยต่างๆ ตั้งตระหง่านอยู่เต็มพื้นที่ชั้นหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก แบ่งเป็นโซนต่างๆ ตามยุคสมัยการปกครอง ตั้งแต่ยุคแรกภายหลังการรวบรวบอาณาจักร ยุคกลาง ยุคอาณาจักรสมัยใหม่ ยุคอาณาจักรกรีก โรมัน ซึ่งในแต่ละยุคสมัยการปกครองมีศิลปะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อขึ้นบันไดสู่ชั้นสอง พิพิธภัณฑ์ฯ จัดแสดงวัตถุโบราณที่มีน้ำหนักเบา โดยแบ่งเป็นประเภทการใช้งาน อาทิ เครื่องมือล่าสัตว์ เครืองมือทำสงคราม เครื่องมือทำศพ อ่างอาบน้ำไม้ รูปปั้นชิ้นเล็ก เครื่องประดับและเพชรนิลจินดา ที่ค้นพบจากสุสานต่างๆ ไฮไลท์ของชั้นที่สองนี้คือสมบัติของฟาโรห์ตุตันคามุนที่ขุดค้นพบจากหุบผากษัตริย์ (Valley of the King) โดย Howard Carter เป็นผู้ค้นพบเมื่อ 4 พฤศจิกายน 1922 และนำมาจัดแสดง อาทิ หีบพระศพทองคำที่หนักกว่า 110 กิโลกรัม หน้ากากทองคำแห่งฟาโรห์ตุตันคามุน ซึ่งถูกจัดแสดงภายในห้องที่มีความปลอดภัยสูงสุดจากเจ้าหน้าที่และระบบรักษาความปลอดภัย ซึ่งภายในห้องนี้ห้ามถ่ายภาพและวีดิโอใดๆ เด็ดขาด อีกห้องจัดแสดงที่ไม่สามารถถ่ายรูปได้คือห้องจัดแสดงมัมมี่ ซึ่งรวบรวมมัมมี่หายากและสมบูรณ์หลายๆ องค์ อาทิ มัมมี่พระศพขององค์ฟาโรห์ รามเสสที่ 2 ผู้ครองราชย์ยาวนาน 66 ปี ไว้ภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งในโซนจัดแสดงนี้ยังมีภาพถ่ายการขุดค้นพบมัมมี่ที่ไม่สมูบรณ์ ขั้นตอนการทำมัมมี่และอุปกรณ์ ภาชนะต่างๆ สำหรับการเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอียิปต์ ตั๋วเข้าชมแบ่งเป็นค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ และค่าถ่ายรูป ซึ่งการถ่ายรูปอาจจะมีการสุ่มตรวจจากเจ้าหน้าที่บ้าง ซึ่งไม้เซลฟี่เป็นอุปกรณ์ต้องห้ามภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือจำนวนวัตถุโบราณล้ำค่าจำนวนมากแต่กลับวางกองไว้ สิ่งที่มีค่าขึ้นมาจะถูกเก็บไว้ภายในตู้กระจก ซึ่งในระยะอันใกล้หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้เตรียมย้ายพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอียิปต์ไปยังเมืองกีซ่า ใช้ชื่อว่า The Grand Egyptian Museum (GEM) ซึ่งจากคาดการณ์ว่าสามารถเปิดใช้งานหลังปี 2020 โดยพิพิธภัณฑ์เดิมเตรียมจัดเป็นสถานที่งานแสดงศิลปะ  

ตลาดข่าน เอล-คาลิลี

เสียงต้อนรับและทักทายภาษาเอเชียที่หลากหลายดังระงมมากจากพนักงานท้องถิ่น บ่งบอกให้รู้ว่าตลาดข่าน เอล-คาลิลี (Khan Al-Khalili) เป็นที่นิยมกับนักเที่ยวเที่ยวที่เดินทางมาจากเอเชียมากแค่ไหน ตลาดข่าน เอล-คาลิลี ถือเป็นตลาดเก่าแก่ในอียิปต์ มีมาตั้งแต่ปี 1382 มีร้านค้ากว่า 900 ร้าน ตลอดเส้นทางภายในตลาด อาคารทรงเก่าแก่แบบอาหรับโบราณถูกดัดแปลงเป็นร้านค้า ยิ่งเดินลึกเข้าไปจะพบมีร้านค้าที่คงเอกลักษณ์แบบโบราณของกรุงไคโรให้พบเห็นรวมทั้งสินค้าที่ไม่คุ้นตา สำหรับสินค้าที่จำหน่ายตลาดแห่งนี้มีให้เลือกอย่างหลากหลาย อาทิ เครื่องแก้ว เครื่องทองเหลือง น้ำหอม อัญมณี ของพื้นเมือง อาทิ ขวดน้ำหอมทำด้วยมือ พรม เครื่องทองรูปพรรณ และเพชรพลอยลวดลายแบบอาหรับ เป็นต้น ด้วยทางเดินของตลาดเชื่อมถึงกันแบบเครือข่ายใยแมงมุม บางจุดไม่คนอาจเดินผ่านน้อย การเดินชมควรไปเป็นกลุ่มเพื่อความปลอดภัย  

เมืองอเล็กซานเดรีย

อเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมืองใหญ่เป็นลำดับสองของประเทศอียิปต์ มีประชากรราว 5.2 ล้านคน ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หากจากกรุงไคโรเมืองหลวงราว 224 กิโลเมตร ศิลปะและสถาปัตยกรรมของเมืองเป็นส่วนผสมจากกรีก โรมัน ตุรกี ปะปนกันไป ตามยุคสมัยของการปกครองเมื่อประมาณ 1,200 ปี ก่อนคริสตกาลและตำนานอันยิ่งใหญ่ ดินแดนตอนเหนือสุดแห่งนี้เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ชื่อ ราคอนดาห์ (Rocondah) จนการกระทั่ง พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเดินทางมาพบเมื่อราว 332 ปี ก่อนคริสตกาล จึงทำการปรับปรุงเมืองเพื่อเป็นเมืองหลวงและนำพระนามของตนมาตั้งเป็นชื่อเมือง ความสำคัญของเมือง Alexandria คือตำนานรักอันยิ่งใหญ่ของ พระนางคลีโอพัตรา และ มาร์ค แอนโทนี จอมทัพแห่งอาณาจักรโรมัน รวมไปถึงสหายรวมรบ อย่าง จูเลียส ซีซาร์ และ ออกเตเวียส ปัจจุบัน Alexandria เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียง และเป็นที่อยู่ของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคแรก 2 แห่ง คือ ประภาคารฟาโรสแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย และ สุสานพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งพังทลายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ราวศตวรรษที่ 13-14 รวมไปถึงพระราชวังของพระนางคลีโอพัตราที่จมลงสู่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากการประเมินของนักโบราณคดีคาดไว้ว่าสถานที่แห่งนี้เคยมีประชากรราว 5 แสนคน  

ป้อมปราการไควท์เบย์

ป้อมปราการไควท์เบย์ (Qaitbay Citdel) ป้อมปราการโบราณที่มีความสวยงาม สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 15 สร้างทับ ประภาคารฟาโรสเดิมที่พังทลาย โดยสุลต่านไควท์เบย์ (Sultan Al-Ashraf Sayf al-Din Qa’it Bay) ปัจจุบันป้อมปราการเป็นหนึ่งส่วนในพิพิธภัณฑ์ท่องเที่ยวทางทะเล สามารถมองเห็นได้จากถนนเลียบชายหาด ในอดีตป้อมปราการไควท์เบย์แบ่งเป็น 3 ชั้น ในชั้นแรกเป็นส่วนของการทำพีธีทางศาสนา ชั้นที่ 2 เป็นส่วนห้องจัดเก็บและที่พักของทหารและชั้นในส่วนเป็นสถานที่เก็บอาวุธและสถานที่ประชุมทางทหาร เมื่อเข้ามาภายในความแข็งแกร่งอาคารหลักป้องกันลมทะเลที่พัดแรงตลอดจากด้านนอกได้สนิท ในฐานะมัสยิด สถานที่แห่งนี้ถือเป็นมัสยิดที่เก่าแก่เป็นลำดับสองในเมืองอเล็กซาเดรีย ภายในชั้นแรกสร้างตามสไตล์ Mamlouki มีสิ่งที่เรียกว่า “Sahn” อยู่กึ่งกลางของโดยชั้นหนึ่งมีห้องอยู่สองห้องเป็นที่อาศัยและผักผ่อนของชีกและห้องเก็บอุปกรณ์ต่าง อาทิ ตะเกียง น้ำมัน หนังสือ เป็นต้น ภายในบันไดขึ้นสู่ชั้นสองค่อนข้างชันและแคบเมื่อเดินเรื่อยขึ้นมาเจอบันไดแยกเป็นสองทางซ้ายและขวาซึ่งทั้งสองสามารถทางเดินเชื่อมกลับมายังจุดขึ้นลงนี้ การออกแบบที่ให้แสงภายนอกเข้ามาทำให้ภายในชั้นสองที่แบ่งเป็นห้องต่างๆ สว่างพอสมควร   ปัจจุบัน ป้อมปราการไควท์เบย์ เป็นสถานที่นิยมของบรรดาคนพื้นเมืองและนักท่องเที่ยวมาเก็บบรรยากาศซึ่งในวันที่ท้องฟ้าเปิดบรรยากาศที่มองออกไปจากป้อมฯ สวยงามยิ่ง  

เสาปอมเปย์

เสาปอมเปย์ (Pompey's Pillar) เสาที่ตั้งชื่อตาม ปอมเปย์ (Pompey) เพื่อนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ ที่ทั้งสองหนีภัยมาอาศัยยังเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นอนุสาวรีย์โบราณที่แสดงถึงการฉลองชัยชนะของโรมันในการปกครองอียิปต์ ปรากฎการค้นพบเป็นบันทึกจากนักเดินทางชาวมุสลิม Ibn Battuta ที่เดินทางมายังเมืองท่าแห่งนี้ราวปี 1326 ก่อนศตวรรษเดิมที่ เสาแกรนิตสูง 27 เมตร ตั้งตระหง่านสองแท่ง โดยปี ค.ศ.1803 ถูกทหารอังกฤษนำกลับไปยังยุโรปและหายสาบสูญไป จากประวัติศาสตร์เสาแห่งนี้ได้ชื่อมาจาก ปอมเปย์ (Pompey) เพื่อนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ ที่ทั้งสองหนีภัยมาอาศัยยังเมืองอเล็กซานเดรียก่อนที่ทั้งสองกลายเป็นศัตรูต่อกัน ภายใน Pompey's Pillar มีสฟิงซ์สองตัวตระหง่านดั่งความเชื่อในการปกป้องทำหน้าที่เฝ้าสถานที่แห่งนี้  

สุสานโรมันใต้ดินคาตาคอมป์

หนึ่งในเจ็ดมหัศจรรย์แห่งโลกยุคกลาง สุสานของชาวโรมันในอดีตที่ใช้เก็บร่างผู้เสียชีวิตมากกว่า 50,000 ศพ เจาะเป็นอุโมงค์ลึกที่สร้างด้วยหินขนาดใหญ่และลึงไปเป็นชั้น โดยสุสานใต้ดินแห่งนี้ แบ่งเป็นสามชั้น ชั้นที่ 1 สำหรับลำเลียงโลงและศพเข้ามา ชั้นที่ 2 เป็นสถานที่ฝั่งศพ และชั้นที่ 3 เป็นที่รวมฐาติเพื่อระลึกถึงผู้ตาย เล่ากันว่าครั้งแรกที่นักโบราณคดีขุดพบยังมีขวดไวน์และจานวางอยู่และในชั้นที่ลึกที่สุดยังพบอุโมงค์ฝั่งศพใต้ดินของกษัติรย์อียิปต์โบราณ ขอบคุณการเดินทางโดย KTC