ถาวร โกอุดมวิทย์ จรรโลงงานศิลปะ “หน้าผา รีสอร์ต” - Forbes Thailand

ถาวร โกอุดมวิทย์ จรรโลงงานศิลปะ “หน้าผา รีสอร์ต”

คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะมาตลอดชีวิต ศาสตราจารย์ด้านศิลปะท่านี้ได้รับการยอมรับทั้งในและนอกประเทศด้วยผลงานศิลปะมากมาย วันนี้กับช่วงวัยที่มีอิสระอาจารย์ยังคงรังสรรค์ผลงานศิลปะในธุรกิจ Hospitality ที่แตกต่าง สวยงาม ประณีต และอบอุ่น


    กลางฤดูฝนของปี 2565 ทีมงาน Forbes Thailand มีโอกาสเดินทางไปเยือน “หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต” ซึ่งรีสอร์ตงานศิลป์แห่งนี้รังสรรค์ขึ้นโดย ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ 

    ศิลปินแห่งชาติ ปี 2564 สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ผู้ซึ่งเป็นทั้งศิลปินและนักวิชาการศิลปะที่ทุกคนรู้จักและยอมรับในผลงานด้วยรางวัลจากการแสดงภาพพิมพ์นานาชาติทั่วโลกมากกว่า 10 รางวัล 

    อาทิ “Special Commended Prize” Young Art in Asia Now 1980, ฮ่องกง, “Special Award ”Biennale of Graphic Design Czechoslovakia1982, สหรัฐอเมริกา, Friend of Bradford Art Galleries and Museum 9th International Print Biennia, Bradford,อังกฤษ, เป็นต้น

มุมมอง “ศิลปิน”

    ถาวรเริ่มกิจการ “หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต” ด้วยจุดเริ่มต้นของการพักผ่อนซึ่งต่อยอดมาจากการได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศเขาใหญ่มากขึ้น หลังจากได้เป็นผู้ร่วมออกแบบและดูแล “เขาใหญ่ อาร์ต มิวเซียม” (KhaoYai Art Museum) 

    ด้วยประสบการณ์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชื่อดัง ARDEL Gallery of Modern Art ที่อาจารย์เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง การร่วมงานกับเขาใหญ่อาร์ตมิวเซียมทำให้ถาวรได้มีบ้านพักตากอากาศที่เขาใหญ่

    ถาวรเล่าว่า มีคนมาเสนอขายที่ดินแปลงสวยเขารู้สึกเฉยๆ กับที่ดินแปลงนั้น แต่เมื่อได้เห็นพื้นที่มุมเหมืองหินอ่อนร้างในบริเวณใกล้เคียงกลับทำให้ภาพของงานศิลป์ในบรรยากาศรีสอร์ตหน้าผาผุดขึ้นในจินตนาการ 

    ที่ดินขุมเหมืองแห่งนี้จึงมีเจ้าของใหม่เป็นศิลปินภาพพิมพ์ผู้มากประสบการณ์ ที่มองเห็นความงามอันแตกต่างในที่ดินผืนกะทัดรัด ก่อนพัฒนามาเป็นอาณาจักรความสุขท่ามกลางขุนเขาด้วยการออกแบบอาคารที่พักให้เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวได้อย่างชัดเจน

    “ตัดสินใจสร้างบ้านที่เขาใหญ่ในปีที่น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ (ปี 2554) นี่ก็ 11 ปีแล้ว เรารู้สึกว่าตอนนั้นไม่รู้จะไปไหน อยู่กรุงเทพฯ ก็น้ำท่วม เลย move มาอยู่เขาใหญ่ชั่วคราวแต่มาอยู่จริงช่วงโควิด” 

    ถาวรย้อนที่มาของการย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาเขาใหญ่พร้อมแจกแจงว่า ในตอนแรกยังไปๆ มาๆ เพราะยังไม่เกษียณ เมื่อได้มาใช้ชีวิตประจำที่เขาใหญ่ จึงมีเวลาดูแลพิพิธภัณฑ์และกิจการของหน้าผา รีสอร์ต ก็เริ่มเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น 

    “รีสอร์ตนี้เข้าปีที่ 7 แล้ว เกิดขึ้นจากหลายคนทั้ง สถาปนิกและลูกชายที่เป็นสถาปนิกช่วยกันระดมไอเดียการออกแบบ” นี่เป็นการสรุปที่มาคร่าวๆ ของหน้าผา รีสอร์ตซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างไม่เหมือนใคร

    ถาวรบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีเขาเดินทางมาเขาใหญ่เพราะมาช่วยดูแลอาร์ตมิวเซียมและวันหนึ่งมีเพื่อนของภรรยาชวนไปดูที่ดิน “ตอนนั้นก็คิดว่าเราจะไปดูทำไม มันเสียเวลาเพราะมีบ้านอยู่แล้วคงไม่ซื้อหรอก ภรรยาบอกไปดูเขาหน่อย ไปให้กำลังใจ” 

    จากความเกรงใจกลายเป็นทำให้พบที่ดินแปลงสวยจึงได้ถามว่าขายไหม เจ้าของเดิมบอกว่า ที่ดินแปลงนี้ทำอะไรไม่ได้หรอก ถาวรตอบไปว่าทำได้ไม่ได้เรื่องของเรา ในที่สุดก็ได้ที่ดินแปลงนี้มาในราคาที่ไม่สูงมาก พอซื้อที่ดินได้แล้วก็ให้ลูกชายมาดูว่าอยากจะทำบริษัทไหม 

    ลูกชายที่เพิ่งเรียนจบสถาปนิกมาบอกว่าสนใจหลังจากตกลงซื้อที่ดินแปลงนี้มาก็เริ่มวางแผนออกแบบ แต่จังหวะนั้นลูกชายได้โอกาสไปเรียนต่อที่อังกฤษจึงหายไป 2 ปี ระหว่างนั้นถาวรได้เชิญให้สถาปนิกอีกคนมาช่วยดูก็ได้ทำบ้านและออกแบบรีสอร์ต 

    “เราใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณปีครึ่ง ตอนแรกเริ่มที่ 8 หลัง ทำเป็น gallery villa เสร็จแล้วก็ทำ pool villa” รูปร่างรีสอร์ตเริ่มชัดเจนในบรรยากาศสวยแปลกตา เพราะเป็นที่ดินขุมเหมืองที่ลดหั่นสู่ด้านล่างคล้ายกับห้องพักเป็นอัฒจันทร์นั่งชมการแสดง คล้ายบรรยากาศโคลีเซียมของโรมัน


รีสอร์ตคนรักศิลปะ

    หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต เปิดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2559 ถาวรเลือกที่จะทำให้รีสอร์ตแห่งนี้มีความแตกต่างและมีความพร้อมในด้านที่ตรงใจนักเดินทาง 

    “ผมคิดว่าอะไรที่ไม่ชอบก็จะไม่ใช้ในระบบโรงแรม เช่น ขายเครื่องดื่มที่แพงเกินปกติผมก็ไม่ทำ” รวมถึงการเช็กอิน-เช็กเอาต์ที่หากห้องว่างจะเปิดให้เช็กอิน-เช็กเอาต์ได้ตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ ถือเป็นแนวทางที่ถาวรเลือกตอบโจทย์จากตัวเอง ซึ่งมีคนทักว่าให้แขกเข้าพักเร็วแบบนี้เปลืองน้ำเปลืองไฟมากกว่าเดิมไหม 

    อาจารย์ตอบว่า ไม่เป็นไรหรอกถือเป็นงบประชาสัมพันธ์แล้วกัน แทนที่เราจะไปซื้อโฆษณาทำแบบนี้ก็ได้โฆษณาแบบปากต่อปาก “เช็กเอาต์กี่โมงก็ได้ก่อนพระอาทิตย์ตก ถ้าไม่มีแขกเราให้อยู่ถึง 5 โมงเย็นเลยเขาก็แฮปปี้” ด้วยบริการที่รีแลกซ์ตามความต้องการลูกค้า ยืดหยุ่นได้ตามแต่โอกาส กลายเป็จุดขายของรีสอร์ตที่ลูกค้าเลือกได้ ไม่ได้จำกัด


“แกลเลอรี่ วิลล่า” คือความแตกต่าง

     อีกส่วนของรีสอร์ต นอกเหนือจากวิวพิเศษแบบขุมเหมืองที่หาที่ไหนไม่ได้แล้ว ห้องพักที่เป็นเสมือนห้องแสดงงานศิลปะก็หาที่ไหนไม่ได้อีกเช่นกัน ถาวรนำงานศิลปะต่างๆ มาตกแต่งห้องให้สวยงามแปลกตา 

    และหากมีลูกค้าสนใจก็อาจติดต่อขอจับจองกันได้ห้องพักกลุ่มนี้จึงเต็มไปด้วยงานศิลปะภาพจิตรกรรมต่างๆ ในสนนราคาห้องพัก
ต่อคืน 20,000 บาท สำหรับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว แต่หากเป็นนอกฤดูจะขายที่ 6,000-8,000 บาท ราคาแตกต่างตามช่วงเวลา 

“ผู้มาพักหลากหลายส่วนใหญ่ก็จะชมเรื่องการบริการ รสนิยมของห้องพัก วัสดุที่ใช้ การออกแบบ การเอาใจใส่ เราเคยได้เรตติ้งถึง 8.8 แม้ไม่ใช่ professional ด้านโรงแรม” 

    ถาวรบอกว่า เพิ่งทำรีสอร์ตเป็นครั้งแรก และได้นำทักษะความรู้ด้านศิลปะเข้ามาใช้กับที่นี่อย่างมาก “เราใช้ศิลปะเยอะมาก พิถีพิถันสร้างอัตลักษณ์ในห้องด้วยเม็ดเงินน้อยแต่คุณภาพสูง” วิธีการคือใส่ความคิดเข้าไปตลอดเวลา แต่ละห้องจะออกแบบไม่เหมือนกัน มีเอกลักษณ์ต่างกันไป 


    การออกแบบห้องพักในรีสอร์ตเป็นคอนเซ็ปต์สไตล์โมเดิร์น สวยหรู เรียบง่าย และห้องพักที่มีผนังเป็นกระจกทำให้เหมือนโคมไฟเปิดเรียงรายลดหลั่นในหน้าผา เสมือนจุดเทียนให้ความสว่างเรืองรองในค่ำคืนดินเนอร์ที่โรแมนติก ไม่เพียงแสงไฟจากห้องพักแต่ที่รีสอร์ตยังออกแบบให้มีโคมไฟจัดแสงเป็นไลท์ติ้งให้ความสว่างสบายตาควบคู่ไปด้วย เป็นการออกแบบที่ปรับตามสภาพพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง

    ปัจจุบันรีสอร์ตแห่งนี้มีห้องพัก 10 วิลล่าและล่าสุดยังได้ออกแบบตกแต่งห้องพักใส่ในโบกี้รถไฟ 2 โบกี้ เป็นทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้า ตกแต่งให้ดูดีสวยงาม อบอุ่นและสะดวกสบาย เพิ่งเปิดให้บริการก่อนปีใหม่ได้ไม่นาน เป็นห้องพักในโบกี้รถไฟขนาดความกว้าง 2.4 เมตร ที่ดูโปร่งตาสวยงามหรูหราในแบบที่จับต้องได้ด้วยราคา 8,000 บาทต่อคืน

    เพิ่มห้องพักใหม่ให้มีทางเลือกใหม่และเพิ่มพื้นที่ให้บริการด้วยการเปิด “ร้านชา” ให้เป็นแหล่งแฮงก์เอาต์ที่ต่างไปจากคาเฟ่ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่เขาใหญ่ 


    ถาวรเลือกเปิดร้านชาแทนคาเฟ่เพื่อเป็นทางเลือกให้กับแขกผู้มเยือนได้มานั่งจิบชาพร้อมชื่นชมงานศิลปะที่จัดแสดงในร้านและในโครงการ มีชิ้นงานโดดเด่นบอกเล่าเรื่องราวที่มาของอารยธรรมโบราณได้อย่างเพลิดเพลิน

    “เราใช้หินทุกอันเป็นสื่อสัญลักษณ์ ใช้ดินจากที่นี่ไปทำเซรามิกเป็นดินผสมดินแดงและจัดพื้นที่ตรงนี้ให้เชื่อมโยงกัน ระหว่างร้านชากับถ้วยเซรามิก” ถาวรย้ำว่า ด้วยการเป็นศิลปินมีประสบการณ์เรื่องการจัดแสดงอยู่แล้วจึงมีคนที่จะมาคอยดูแลให้กาจัดแสดงเครื่องเซรามิกพร้อมปรับเปลี่ยนทุก 2-3 เดือน 

    “เราดีไซน์เป็นการบอกเล่าเรื่องราวไม่ใช่แค่จิบชา เมื่อคุณเข้ามาที่นี่จะเห็นว่าทุกอย่างมันไม่ใช่เปลือก คุณจะเห็นความตั้งใจ ความละเอียดอ่อนที่เต็มไปด้วยดีไซน์” ร้านชาและรีสอร์ตเป็นผลงานศิลปะทั้งสองชิ้นที่ถาวรบอกว่า เขาและทีมงานทุ่มเทการออกแบบให้พิเศษและแตกต่าง 

    ห้องพักน้อยใหญ่ที่เรียงราย 10 ยูนิตมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทุกห้อง แต่อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์หน้าผาที่นำเสนอความโมเดิร์นแบบเรียบง่าย แต่ทว่าหรูหรา ประณีต และผ่อนคลาย

    สายตาของอาจารย์เวลาพูดถึงงานศิลปะเหมือนมีประกายแห่งความสุขปะปนออกมา สิ่งนี้เองคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ศิลปินนักวิชาการวัย 66 ปี ดูผ่อนคลาย สนุกสนานและมีรอยยิ้มเล็กๆ เมื่อพูดถึงสิ่งที่ทำซึ่งมาจากความชอบและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต ทั้งในฐานะศิลปินและอาจารย์ผู้สอนศิลปะ 

    เขาบอกว่าใส่ใจทุกเรื่องในรีสอร์ตแห่งนี้ จริงและตั้งใจไม่ต่างจากการสร้างสรรค์งานศิลปะ “เรา 66 ใกล้จะ 70 แล้ว ชีวิตเราเดินมาบนเส้นทางคนทำศิลปะ มีความสุขกับสิ่งที่ทำด้วยรักและศรัทธา วันที่เป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ และวันที่ได้มาทำรีสอร์ต ความสุขคนละแบบ สนุก และตื่นเต้น” 

    ถาวรเล่าอย่างเรียบง่ายก่อนจะบอกว่า “ไม่ได้หวังอะไรสำหรับธุรกิจรีสอร์ต ชีวิตไม่ลำาบากอะไรแต่พอได้ทำอะไรก็ทำให้ดี ทำแล้วได้เจอผู้คนก็มีความสุข” ถือเป็นความสุข ของศิลปินผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะจนมีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนรู้จักนับถือมากมาย เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทขนาดใหญ่มานับไม่ถ้วน 


    ประสบการณ์ทั้งงานศิลป์และการจัดการต่างๆ ถูกกลั่นกรองมาไว้ในความเป็น “หน้าผา เขาใหญ่ รีสอร์ต” ที่สะท้อนตัวตนของศิลปินแห่งชาติคนดังได้อย่างชัดเจนก่อนจบการพูดคุยในวันนั้น 

    ถาวรฝากแนวคิดสำหรับทุกคนที่มีความฝันว่า ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้หากมีความตั้งใจและลงมือทำ “ไม่มีหลักคิดอะไรมากนอกจากเน้นเรื่องความใส่ใจ ตั้งใจ ในการทำงาน” นี่เป็นคำกล่าวที่เรียบง่าย แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความใส่ใจ และแน่นอนเป็นที่มาของความแตกต่างในรีสอร์ตศิลปะแห่งนี้ 

ภาพ: หน้าผา รีสอร์ต


อ่านเพิ่มเติม: วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล WARRIX เปิดเกมรุกเวทีโลก


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในรูปแบบ e-magazine