บูทีคคอนเซ็ปต์ใหม่ ‘โรลส์-รอยซ์’ ใจกลางสยามพารากอน หรูหรา เป็นส่วนตัว และใกล้ชิดลูกค้ากว่าเดิม - Forbes Thailand

บูทีคคอนเซ็ปต์ใหม่ ‘โรลส์-รอยซ์’ ใจกลางสยามพารากอน หรูหรา เป็นส่วนตัว และใกล้ชิดลูกค้ากว่าเดิม

โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอก ทุ่มงบเกือบ 30 ล้านบาท เปิดบูทีคอัตลักษณ์ใหม่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Galleria” ภายในสยามพารากอน นับเป็นบูทีคแห่งแรกในเอเชียแปซิกฟิกที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า หรูหรา และให้ความเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น


    ไอรีน นิคเคียน ผู้อำนวยการประจำภิภาคเอเชียแปซิฟิก โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส กล่าวว่า โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในตลาดกลุ่มลักชัวรีที่กำลังเติบโต เพื่อนำพาแบรนด์ของเราเข้าไปใกล้กับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยบูทีคแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ใจกลางศูนย์รวมความลักชัวรี รังสรรค์ขึ้นโดย MGC-ASIA ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจของเรามายาวนาน และสามารถตอบโจทย์กลยุทธ์ดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบ


    “การเป็นบูทีคคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งยังสามารถรองรับการเติบโตของตลาดลักชัวรี ที่ขับเคลื่อนโดยความต้องการยนตรกรรมพิเศษแบบ Bespoke ในประเทศไทย”

    กฤษฎา สวามิภักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป โรลส์-รอยซ์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอก กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีโชว์รูมถึง 2 แห่งในประเทศ โดยโชว์รูมหลักของเราตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 ที่เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย

    สำหรับบูทีคแห่งใหม่ที่บริเวณชั้น 2 สยามพารากอนนี้ รังสรรค์ขึ้นโดย MGC-ASIA ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์โรลส์-รอยซ์ อย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมาพร้อมคอนเซ็ปต์ Galleria ที่จะนำพาแบรนด์เข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการนำเสนอยนตรกรรมโรลส์-รอยซ์ ให้กับลูกค้าใหม่ ท่ามกลางตลาดลักชัวรีที่ยังคงเติบโต

    บูทีคแห่งใหม่นี้ใช้งบประมาณในการลงทุนเกือบ 30 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ราว 172 ตารางเมตร การออกแบบได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตและพิถีพิถัน ตั้งแต่บริเวณทางเข้า ที่ลูกค้าจะเดินผ่านประตูที่ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับกระจังหน้าของโรลส์-รอยซ์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเสาหินของวิหารแพนทิออน พร้อมกับสัญลักษณ์ ‘นางฟ้า’ (Spirit of Ecstasy) ที่อยู่ด้านบน


    และเมื่อก้าวสู่ด้านใน ก็จะพบกับยนตรกรรมโรลส์-รอยซ์ ที่จัดแสดงภายใต้ชุดไฟ kinetic lightning ที่สามารถปรับระดับให้เข้ากับแนวหลังคาของโรลส์-รอยซ์แต่ละรุ่นที่นำมาโชว์ได้อย่างงดงาม ขณะที่มุมพักผ่อนด้านหน้าจะมีพื้นที่จัดแสดงงานศิลป์สุดหรูหลากหลายแบรนด์ เรียกว่า ‘Cabinet of Curiosities’ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และเชิญชวนให้เกิดการสนทนาอย่างสร้างสรรค์


    ไฮไลต์ของบูทีคแห่งนี้ คือ Atelier (อาทิลิเญ่) ซึ่งเป็นห้องพิเศษส่วนตัว ให้ลูกค้าสามารถรังสรรค์ยนตรกรรมคันโปรดแบบ Bespoke กลางห้องมีโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ ไล่ระดับความลาดเอียง เปรียบเสมือนโต๊ะทำงานของศิลปินผู้เชี่ยวชาญ โดยมีจอแอลอีดีขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า เพื่อใช้ประกอบการรับชมรายละเอียดต่างๆ หลังจากทำการ Bespoke


    ภายในห้องยังมีไฟแอลอีดีทรงกลมที่แขวนด้วยสลิงจากเพดาน ที่สามารถปรับระดับเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของเนื้อสีหรือวัสดุต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือภายในห้องนี้ยังมีหลังคาดาวตก ‘Starlight Headliner’ ที่สามารถสัมผัสถึงความประณีตและพิถีพิถันกับผลงานระดับ Craftmanship ได้อย่างใกล้ชิด  



    ข้อมูลจากโรลส์-รอยส์ มอเตอร์ คาร์ส แบงคอก ระบุว่า ลูกค้าแต่ละคนจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับการทำการ Bespoke ยนตรกรรมโรลส์-รอยซ์แต่ละคัน และแบรนด์จะใช้เวลาในการผลิตตามที่ลูกค้าต้องการราว 10-12 เดือน ถึงจะส่งมอบได้

    สำหรับยนตรกรรมที่นำมาโชว์ในบูทีคแห่งใหม่นี้คือ Spectre (สเปกเตอร์) ยนตรกรรมไฟฟ้ารุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของโรลส์-รอยซ์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเปิดบูทีคใหม่ โดยมาพร้อมกับตัวถังสีเทา Anthracite ตัดกับห้องโดยสารสีส้ม Mandarin และนำเงิน Navy อย่างโดดเด่น สะท้อนถึงรสนิยมเหนือระดับของลูกค้าในประเทศไทย ที่ได้สั่งซื้อรุ่นนี้เป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของโรลส์-รอยซ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย


ลูกค้าเปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยนแปลงไป

    กฤษฎา เผยอีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าของโรลส์-รอยซ์ มีอายุลดลง กล่าวคือจากเดิมอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ต้นๆ ปัจจุบันอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ต้นๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงอายุเท่านั้น แต่ความต้องการของลูกค้าก็เปลี่ยนไปด้วย คือมีความรู้มากขึ้น มีความต้องการที่เฉพาะมากขึ้น มีสีอยู่ในใจ มีออปชั่นที่ต้องการ ทำให้เราได้เห็นยนตรกรรมของโรลส์-รอยซ์ในสีสันที่แปลกตาไปทั้งภายนอกและภายใน


    “ปีนี้คาดว่ายอดส่งมอบโรลส์-รอยส์ รุ่นสเปกเตอร์ จะมีสัดส่วนเป็น 2 ใน 3 ของโรลส์-รอยซ์ ที่ส่งมอบทั้งหมด และไทยเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียนที่ให้ความสนใจรุ่นนี้ ปัจจัยส่วนหนึ่งมองว่าเพราะเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยมเนื่องจากมีสถานีชาร์จที่ค่อนข้างพร้อมเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

    “นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าที่ซื้อยังเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยลง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสนใจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีความต้องการเปลี่ยนจากรถสันดาปมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นคันแรก และเป็นกลุ่มซื้อโรลส์-รอยซ์เป็นครั้งแรกด้วย”

    “ลูกค้าเราเด็กลงเนื่องจากมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ เจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่กล้าตัดสินใจ และกล้าใช้เงิน ขณะที่ยนตรกรรมของโรลส์-รอยซ์ ไม่ได้กำหนดอายุของผู้ซื้อ แต่เป็นเรื่องของความพร้อมมากกว่า คนจะซื้อโรลส์-รอยซ์เมื่อมีความพร้อม ทำให้เราได้เห็นกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป”

    กฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจำนวนคนซื้อโรลส์-รอยซ์ในไทยอยู่ที่ 200 กลางๆ ส่วนภาพรวมปีนี้แม้ว่าการบริโภคในกลุ่มลักชัวรีและอัลตร้าลักชัวรีจะเกิดการชะลอตัว ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ แต่โรลส์-รอยซ์ ไม่ได้กระทบมากเท่ากับแบรนด์ลักชัวรีอื่นๆ นอกจากนี้ โรลส์-รอยซ์ยังคงเดินหน้าตามเป้าหมายเลิกผลิตรถยนต์สันดาปให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นการดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ไม่มีการนำดีไซน์เดิมมาเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์อย่างแน่นอน



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เปิดศักราชรถไฟฟ้า 100% ‘มาเซราติ กรันคาบริโอ โฟลกอเร ติญาเนลโล’ เปิดประทุนสุดเอ็กซ์คลูซีฟ ย้ำความเป็นเจ้าตำนาน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine