'ไข่มุก' หนึ่งในเครื่องประดับหรูหราที่นับวันยิ่งมีราคาสูงมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่กระทบต่อกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจึงทำให้หายากกว่าเดิมเมื่อเทียบกับในอดีต ขณะเดียวกันการเพาะเลี้ยงไข่มุกในฟาร์มก็ต้องใช้ระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 12-18 เดือน ดีมานด์ความต้องการไข่มุกจึงเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางผลผลิตที่สวนทาง ผู้ประกอบการธุรกิจบางส่วนจึงมีการทำไข่มุกเลียนแบบของแท้ขึ้นมา ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อของดีมีคุณภาพ ผู้บริหารของ Trez Jewelry จึงได้บอกเคล็ดลับและเรื่องราวดีๆ สำหรับการเลือกซื้อไข่มุกแท้ให้ตรงกับตามความต้องการของแต่ละคน
'ไข่มุก' เครื่องประดับสุดคลาสสิกตลอดกาลที่ช่วยเสริมบุคลิกให้แก่เหล่าผู้สวมใส่ดูสวยสง่าและยังช่วยบ่งบอกฐานะความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี แหล่งกำเนิดไข่มุกที่แรกของโลกที่นักประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1492 โดยมีถิ่นกำเนิดจากอ่าวเปอร์เซียในทวีปยุโรป ต่อมาในปี ค.ศ. 1498-1502 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ที่ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นนักสำรวจหรือนักเดินเรือชาวอิตาลีผู้บุกเบิกทวีปแห่งใหม่ (New world) ได้ค้นพบว่า อ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานามาซึ่งถือเป็นแหล่งกำเนิดของหอยมุกเช่นเดียวกันและยังกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญด้านไข่มุกที่โด่งดังยาวนานกว่า 100 ปี แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมด้านการประมงและการสำรวจน้ำมันบริเวณอ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไข่มุกทางธรรมชาติได้อีกต่อไป
ถัดมาในศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ต่างค้นพบวิธีการเพาะพันธุ์ไข่มุกที่เกิดจากการเลี้ยงโดยมนุษย์เป็นแห่งแรกของโลก นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะพันธุ์ไข่มุกเลี้ยงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสินค้าหรือเครื่องประดับต่างๆ ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุที่ทำมาจากไข่มุกเลี้ยงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก อาทิ ไข่มุกน้ำเค็ม Akoya จากประเทศญี่ปุ่น และไข่มุกน้ำจืดจากประเทศจีน (GIA pearl history lore, 2545.)
เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท เทรซ จิวเวลรี่ จำกัด ผู้เปิดช็อปจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีสุดหรู อาทิ เพชร พลอย และไข่มุก ซึ่งตั้งอยู่ ณ ชั้น 1 ห้าง พารากอน ได้เปิดร้านต้อนรับทีมงาน Forbes Thailand พร้อมบอกเล่าข้อมูลที่น่าสนใจให้ฟังว่า "ปัจจุบันเครื่องประดับที่ทำจากไข่มุกแท้ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและเรื่องของราคาจำหน่ายนั้นก็สูงขึ้นตามเกรดคุณภาพและแหล่งที่มาของผลผลิตอีกด้วย โดยกลุ่มลูกค้าหลักที่นิยมเลือกซื้อไข่มุกยังคงเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ผู้มีกำลังซื้อสูงที่ต้องการหาซื้อเครื่องประดับสวยๆ คลาสสิก แต่ยังคงไว้ซึ่งความหรูหราสำหรับสวมใส่ไปงานในช่วงเทศกาลสำคัญๆ หรือเนื่องในโอกาสพิเศษ แต่ทั้งนี้ในกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น Gen Z ก็เริ่มหันมาเลือกซื้อเครื่องประดับไข่มุกเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจะเน้นเลือกซื้อเครื่องประดับแบบชิ้นเล็กๆ ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน"
สำหรับแวดวงธุรกิจของเครื่องประดับไข่มุกนั้น กรรมการบริหาร บริษัท เทรซ จิวเวลรี่ จำกัด ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า "กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะนิยมเลือกซื้อไข่มุก Tahitian, ไข่มุก South Sea และ ไข่มุก Akoya ที่ผลิตจากญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันไข่มุกน้ำจืดจากจีนซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของโลกก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กันแต่อาจจะมีราคาถูกกว่าไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มจากทั้ง 3 แหล่งข้างต้นเนื่องด้วยสามารถผลิตเม็ดไข่มุกเลี้ยงได้ครั้งละจำนวนมากกว่าขณะที่ไข่มุกน้ำเค็มจะผลิตได้เพียงครั้งละ 1-2 เม็ดต่อหอยไข่มุก 1 ตัวเท่านั้น และสำหรับผู้ที่ต้องการอยากจะหาซื้อเครื่องประดับมุกคุณภาพดีไว้สวมใส่บ้าง ก็สามารถเรียนรู้รายละเอียดรวมถึงเคล็ดลับการเลือกดูไข่มุกในเบื้องต้นด้วยตาเปล่าได้ว่าแบบไหน 'แท้ หรือ เทียม' ไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพื่อให้เลือกซื้อได้อย่างคุ้มค่า คุ้มราคาที่สุด นอกเหนือจากการตรวจสอบคุณภาพโดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่อง"
ไข่มุกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. ไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยมนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต
2. ไข่มุกเลี้ยง (Cultured pearl) เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยมนุษย์
รูปแบบการเกิดของไข่มุกธรรมชาติและการผลิตไข่มุกเลี้ยง
ไข่มุกธรรมชาติ เกิดจากสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอยู่ในตัวหอยมุกทำให้มุกเกิดการระคายเคือง จึงทำใหเ้กิดการสร้างเซลลแ์ละแบ่งเซลลอ์อกมาล้อมสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจนกลายเป็นถุงมุกก่อนที่มุกจะผลิตชั้น nacre ที่ประกอบไปด้วย 1. แร่ Aragonite 2. โปรตีนเชื่อม Conchiolin เมื่อเวลาผ่านไป หอยมุกจะสร้างชั้น nacre จนสะสมตัวหนามากขึ้นจนกลายเป็นไข่มุกที่ผู้คนนิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับ ซึ่ง ณ ปัจจุบันไข่มุกธรรมชาติหาได้ยากขึ้นและยังมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
ไข่มุกเลี้ยง มีขั้นตอนของการผลิตโดยเริ่มจากการตัดเนื้อเยื่อของหอยให้มีขนาด 2x2 มิลลิเมตร หลังจากนั้นนำ bead nucleus ขนาด 6 มิลลิเมตร ใส่คู่กันลงไปในหอยมุกเพื่อให้หอยสร้างปฏิกิริยาในการผลิตชั้น nacre ที่มีความแวววาวขึ้นมาครอบคลุมเม็ด bead nucleus ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาราวๆ 12-18 เดือน
ซึ่งในส่วนของไข่มุกเลี้ยงนี้ แยกตามแหล่งน้ำที่กำเนิดเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. มุกเลี้ยงน้ำจืด สามารถใส่เม็ด bead nucleus ลงไปในหอยได้ครั้งละหลายๆ เม็ดเพื่อให้ผลิตออกมาเป็นไข่มุกได้ ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวที่ผลิตออกมาทำให้มีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับมุกเลี้ยงน้ำเค็มเพราะสามารถผลิตได้เพียงครั้งละ 1-2 เม็ดเท่านั้น โดยแหล่งผลิตที่สำคัญของวงการธุรกิจได้แก่ ประเทศจีน มีหลากหลายสีสัน และหลากหลายรูปร่าง ทั้งทรงกลม ทรงเม็ดข้าว และทรงหยดน้ำ เป็นต้น (บางกรณีสามารถใส่เฉพาะเนื้อเยื่ออย่างเดียวได้เช่นกัน)
2. มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มี 3 ประเภทหลักที่นิยมเป็นอย่างมากในแวดวงเครื่องประดับ ได้แก่
2.1 ไข่มุก Akoya จากแหล่งผลิตประเทศญี่ปุ่น มีสีขาวหรือครีม ลักษณะกลม มีโทนสีชมพูหรือเขียวเหลือบ (overtone) และมีความแวววาวสูง ขนาดของไข่มุกจะอยู่ที่ 2-9 มิลลิเมตร
2.2 ไข่มุก South Sea จากแหล่งผลิตประเทศออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถือเป็นไข่มุกที่มีขนาดใหญ่สุด 8-18 มิลลิเมตร ส่วนมากมักมีสีขาว สีเงินและสีเหลืองทอง
2.3 ไข่มุก Tahitian จากแหล่งผลิตของหมู่เกาะตาฮิติ ประเทศเฟรนช์พอลินีเชีย มักมีลักษณะสีเข้มเทาอมเขียวและมีโทนเหลือบเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว และชมพูแดง มีขนาด 7-12 มิลลิเมตร
วิธีการแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยง
เนื่องจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยงมีลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกันจึงทำให้สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก นักอัญมณีศาสตร์จึงมีการศึกษาโครงสร้างดังกล่าวจากเครื่องมือขั้น สูงผ่านเครื่อง X-ray เพื่อใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน โดยไข่มุกเลี้ยงจะมองเห็นรอยต่อของเม็ด bead nucleus ที่อยู่ด้านใน ส่วนไข่มุกที่เกิดขึ้นเองจากธรรมชาติจะพบว่า ไม่มี bead nucleus และมีลักษณะการสร้างชั้นมุกหลายๆ ชั้น คล้ายกับชั้นของหัวหอม
เคล็ดลับการแยก 'ไข่มุกแท้กับไข่มุกเลียนแบบ' ด้วยตาเปล่า
1. มองหาจุดตำหนิเล็กๆ น้อยๆ เพราะไข่มุกแท้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอาจจะมีรอยตำหนิเล็กๆ หรือรอยขรุขระอันเกิดมาจากวิถีที่สวยงามตามธรรมชาติ แตกต่างจากไข่มุกปลอมที่ทำขึ้นเลียนแบบที่มักจะเรียบเนียนเกลี้ยงเกลาเหมือนกันหมดทุกเม็ดจนเกินปกติ
2. ตรวจสอบความเด่นชัด แวววาว ไข่มุกชั้นดีจะต้องมีความแวววาวที่เปล่งประกาย สดใส และหากได้ลองมองใกล้ๆ เราจะสามารถเห็นเงาตัวเองสะท้อนอยู่บนผิวมุกได้
3. ดูสีโอเว่อร์โทน ไข่มุกของเทียมมักจะไม่มีสีโอเวอร์โทนแทรกอยู่ เพราะเป็นการยากที่จะจำลองหรือเลียนแบบแสงตกกระทบขึ้นมาใหม่ ดังนั้น วิธีการนี้คือหนึ่งในองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินใจร่วมกับวิธีการอื่นๆ เข้าด้วยกัน
4. สังเกตรอบๆ รูที่เจาะสำหรับร้อยไข่มุก ไข่มุกของแท้มักจะมีรูเจาะที่ขอบเรียบเนียน (เหมือนขอบของรูในทรงกระบอก) ส่วนของปลอมมักจะมีขอบที่ขรุขระหรือเป็นขอบมนๆ กลมๆ แต่อย่างไรก็ตาม ไข่มุกแท้ที่สวมใส่จนเก่าแล้ว ขอบรูอาจจะมนๆ กลมๆ ได้เช่นกัน ส่วนไข่มุกปลอมอาจเป็นรอยโค้งเห็นได้ชัดที่ผิวนอกของไข่มุกมากกว่าที่จะดูเป็นรูปทรงกระบอกอย่างสมบูรณ์แบบ
5. สังเกตเส้นระหว่างเปลือกมุกกับเนื้อไข่มุก โกนไข่มุกของแท้มักจะมีชั้นผิวมุกข้างนอกที่เห็นได้ชัด ขณะที่ไข่มุกของปลอมจะมีชั้นเปลือกมุกปลอมบางๆ หรือไม่ทั่วทั้งผิวมุก
เคล็ดลับการแยก 'ไข่มุกแท้กับไข่มุกเลียนแบบ' ด้วยการสัมผัส
1. ใช้ฟันหน้าถูไข่มุก วิธีการคือ ถือเม็ดไข่มุกไว้ด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ แล้วค่อยๆ กดลงไปเบาๆ บนขอบล่างของฟันหน้าแล้วถูไปมา ไข่มุกของแท้จะมีเนื้อสัมผัสให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างหยาบ ส่วนมุกปลอมที่ทำจากแก้วหรือพลาสติกมักจะให้ความรู้สึกที่เรียบเนียนมากกว่าปกติ
2. ถูไข่มุกเข้าหากัน ถือไข่มุกสองสามเม็ดเอาไว้ แล้วค่อยๆ ถูไข่มุกให้เสียดสีไปมาเบาๆ มุกแท้จะรู้สึกว่ามีความหยาบหรือมีแรงเสียดทานเล็กน้อย เพราะเปลือกของมุกนั้นไม่ได้เรียบเนียนสมบูรณ์แบ
3. ตรวจสอบความกลมของมุก มุกแท้คุณภาพดีจะต้องมีตำหนิบ้างเพียงเล็กน้อย แต่จะไม่กลมเกลี้ยงเสมือนการผลิตจากโรงงานที่ผลิตออกมาเท่ากันทุกองศาในทุกๆ เม็ด
4. ตรวจสอบอุณหภูมิ ไข่มุกแท้เมื่อวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องแล้วลองสัมผัสได้จะความรู้สึกเย็นใน 2-3 วินาทีแรกก่อนที่จะอุ่นขึ้นเป็นปกติ
5. ตรวจสอบน้ำหนัก มุกแท้จะมีน้ำหนักตามแต่ละขนาดของแต่ละเม็ด ส่วนมุกปลอมหรือมุกเลียนแบบซึ่งโดยส่วนใหญ่ทำจากเม็ดพลาสติกจะมีน้ำหนักเบา
5 ปัจจัยหลักประเมินคุณภาพไข่มุก
1. ขนาด (size) วัดจากเส้นผ่านศูนยก์ลางของไข่มุก มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร โดยการวัดแบบเม็ดเดี่ยวและวัดจากสร้อยจะมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย ซึ่่งการวัดจากสร้อยจะวัดแบบตั้งฉากกับรู ขณะที่เม็ดเดี่ยว/เม็ดร่วงจะวัดแบบแนวขวางตามรูแทน อีกทั้งไข่มุกที่มีขนาดใหญ่จะมีราคาสูงสำหรับการประเมินราคาด้วย
2. รูปร่าง (shape) แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่
2.1 กลุ่มทรงกลม (spherical),
2.2 กลุ่มทรงสมมาตร(symmetrical) เช่น รูปไข่, รูปทรงกว้าง และทรงหยดน้ำ
2.3 กลุ่มที่ไม่มีรูปทรง (baroque)
3. สี (color) มีองค์ประกอบทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
3.1 สีหลัก (Body Color) คือ สีพื้นทั่วทั้งเม็ดของไข่มุก
3.2 สีเหลือบ (Overtone Color) คือ สีเหลือบที่เคลือบอยู่บนสีพื้นผิวของไข่มุก
3.3 สีรุ้ง (Orient) คือ สีที่อยู่ใต้ผิวมุกเกิดจากการแทรกสอดและเลี้ยวเบนของแสงผ่านชั้นต่างๆ ของผิวมุก ซึ่งการประเมิณคุณภาพสีจะพิจารณาจากสีหลักและสีเหลือบเป็นหลัก
3.4 ความแวววาว (Luster) มีทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่ 1) ดีเยี่ยม (Excellent) มีความวาวสะท้อนทั่วทั้งเม็ด 2) ดีมาก (Very Good) มีความสะท้อนแสงได้ดี 3) ดี (Good) มีความสะท้อนของแสงน้อยลงแต่ยังมีความวาวอยู่ 4) พอใช้ (Fair) มีความสะท้อนของแสงที่ผิวน้อยและมีความวาวน้อยมาก และ 5) แย่ (Poor) คือการสะท้อนของแสงน้อยมากมีความด้านมากกว่าความวาว
3.5 พื้นผิว (Surface) โดยดูจากผิวที่เรียบสม่ำเสมอ หรือตำหนิมลทินที่เป็นรอยหลุมบนผิวมุกแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1) ไม่มีรอย 2) มีรอยที่ผิวเล็กน้อย มองเห็นยากดว้ยตาเปล่า 3) มีรอยปานกลาง สามารถสังเกตุเห็นรอยหลุมดว้ยตาเปล่า แต่มีปริมาณไม่มากนัก และ 4) มีรอยมลทิน หลุม ชัดเจนทั่วเม็ด
วิธีดูแลรักษาไข่มุก
ทั้งนี้ ไข่มุกถือเป็นอัญมณีที่มีความแข็งแกร่งเพียงระดับ 3 เท่านั้น หากเทีบกับเพชรและการจัดระดับความแข็งของ Mohs scale (GIA Mohs Scale - Gem and Mineral Hardness, 2555.) ดังนั้น พื้นผิวจึงมีความเปราะบาง ทำให้เกิดรอยขีดข่วนได้ง่ายกว่าอัญมณีทั่วไปจึงต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษกว่าเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีอื่นๆ ด้วยการใช้ผ้านุ่มสะอาดเช็ดล้างอย่างเบามือ และปล่อยให้แห้งสนิทก่อน จึงเก็บใส่กล่องเครื่องประดับ พร้อมหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเวลาใส่เครื่องประดับมุก เช่น น้ำหอม หรือเครื่องอำสางต่างๆ เป็นต้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'Dermond' เครื่องประดับเพชรสุดเลอค่า เจียระไนความงามตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หญิงสาวยุคปัจจุบัน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine