บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ประกาศจัดงานใหญ่ "The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร" โชว์ศิลปะร่วมสมัยไทย-อาเซียน สู่สายตาชาวโลก - Forbes Thailand

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ประกาศจัดงานใหญ่ "The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร" โชว์ศิลปะร่วมสมัยไทย-อาเซียน สู่สายตาชาวโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Mar 2024 | 03:33 PM
READ 2316

มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ประกาศความพร้อมจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ "The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร" ยกระดับผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทย และอาเซียนสู่สายตาชาวโลกในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60

    มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายพันธมิตร ทุกภาคส่วน ประกาศความพร้อมจัดงาน The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (The 60th International Art Exhibition, La Biennale di Venezia) ณ นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 20 เมษายน - 24 พฤศจิกายน 2567

    เตรียมพบกับศิลปะที่โดดเด่นตั้งแต่ภาพวาด ประติมากรรม สื่อผสม และวิดีโอจัดวางภายในงาน โดย 15 ศิลปินจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เข้าร่วมงานแสดงผลงานจำนวน 40 ชิ้น ซึ่งเจาะลึกประเด็นเรื่องการพลัดถิ่น ลัทธิล่าอาณานิคม และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นไปที่สัญลักษณ์ของการข้ามน้ำและทางทะเลเป็นพิเศษ


The Sea is a Blue Memory (2022) โดย ปรียากีธา ดีอา

    ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในนามประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กล่าวถึงการจัดแสดงงาน The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในครั้งนี้ว่า

    "เราได้รับเกียรติจากศิลปินที่มีชื่อเสียงจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 15 ท่าน เข้าร่วมแสดงผลงานจำนวน 40 ชิ้น ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสพิเศษที่ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในฐานะภัณฑารักษ์ และศิลปินไทย ได้แสดงศักยภาพในการจัดแสดงผลงานศิลปะให้ทัดเทียมนานาชาติ ในการแสดงให้เห็นว่าต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรม ที่พัฒนาสู่คุณค่าทางศิลปกรรมของภูมิภาคอาเซียน จะได้เผยแพร่สู่สายตาชาวโลก ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยและอาเซียนในงานระดับโลก"

    โดยงานครั้งนี้ ยิ่งจะเป็นการยกระดับให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy แก่เมือง และชุมชน ทั้งชุมชนศิลปะ และชุมชนที่เกี่ยวข้องในด้านการผลิต การบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ของภูมิภาคอาเซียน

    "การจัดงานครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันสนับสนุนศิลปินอาเซียนให้ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพที่เรามีมากมาย มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยง พร้อมทั้งเผยแพร่เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมอาเซียน ที่จะถูกจัดแสดงขึ้นในงานมหกรรมศิลปะนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ เวนิส เบียนนาเล่ ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะทั่วโลกอย่างเป็นทางการ และไฮไลท์ที่สำคัญภาพยนตร์ The Spirits of Maritime Crossing นำแสดงโดย Marina Abramovic และพิเชษฐ กลั่นชื่น จะได้เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ ที่มูลนิธิ Generali Procuratie Vecchie ที่จัตุรัส San Marco อีกด้วย" ฐาปนเล่า


Terang Boelan (2022) โดย จอมเปท คุสวิดานันโต


    ทั้งนี้จากบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยได้ทรงเสด็จประพาส เพื่อชมความงดงามของศิลปะในงานเวนิส เบียนนาเล่ ค.ศ 1897 พระองค์ทรงจ้างศิลปินและสถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนอย่าง Galileo Chini , Mario Tamagno, Corrado feroci มาร่วมออกแบบ และสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ ในประเทศไทย และที่สำคัญต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการออกแบบและสร้างบ้านที่เรียกว่า "วิลล่านรสิงห์ (Villa Norasingh)" ปัจจุบันก็คือ "ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล" ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเวเนเชียน โกธิค รีไววัล Venetian Gothic Revival อาคารตกแต่งด้วยองค์ประกอบยุคโกธิคแบบเมืองเวนิช คล้ายกับที่ Palazzo Ca’d’Oro (Golden House) อันเป็นเอกลักษณ์

    "ท้ายนี้ผมขอขอบพระคุณพันธมิตรทุกภาคส่วน ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ ในครั้งนี้ และศิลปินทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องสื่อมวลชนที่มาร่วมกัน เผยแพร่ผลงานศิลปะร่วมสมัยของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลก ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระหว่างศิลปินไทยกับศิลปินนานาชาติ และผู้สนใจศิลปะ ที่จะนำไปสู่สัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐอิตาลี ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนานถึง 157 ปี รวมไปถึงนานาประเทศที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น"

    ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในนามประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ให้ข้อมูลว่า "เรามีความยินดีที่จะประกาศให้ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร เป็นงานประวัติศาสตร์ เนื่องจากศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ หรือ International Art Exhibition La Biennale di Venizia ครั้งที่ 60 ยิ่งไปกว่านั้นถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะมีการฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่นำแสดงโดย Marina Abramovic ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ชนะรางวัล สิงโตทองคำ ที่ Venice Biennale โดยจัดแสดงที่ Palazzo Mangilli Valmarana ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์และนิทรรศการนี้จะเน้นเกี่ยวกับการเดินทางข้ามทะเล และการพลัดถิ่นเกี่ยวข้องโดยตรงกับหัวข้อธีมของเบียนนาเล่ Foreigners Everywhere"


Our Place in Thier World (2023) โดย จิตติ เกษมกิจวัฒนา และนักรบ มูลมานัส


    The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร มุ่งเน้นไปที่ความหวังและความตระหนักรู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของโลก แนวคิดเรื่องกระแสน้ำและการข้ามทะเลไม่เพียงเกี่ยวกับการค้าและการพาณิชย์เท่านั้น การข้ามทะเลจะเกี่ยวกับความทรงจำและการค้นหาวิธีแก้ปัญหาและความเข้าใจว่าเราจะปรับตัวอย่างไรต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเวลา ธรรมชาติ และโรคภัยที่กัดกร่อนโครงสร้างแห่งชีวิต หัวข้อเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระแสการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ลดลงและไหลเวียน กระแสน้ำที่นำประสบการณ์และความเร้าใจมาสู่ เวนิสจากสถานที่อันห่างไกล

    The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จะเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้มาเยือน เพื่อใคร่ครวญและใช้เวลาสัมผัสประสบการณ์การตีความทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และที่หลบภัย

    สำหรับรายชื่อ 15 ศิลปินจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ศิลปินชื่อดังไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่ที่มีพรสวรรค์ ที่ร่วมแสดงงานในครั้งนี้ นำโดย มารีน่า อบราโมวิช (เซอร์เบีย-สหรัฐอเมริกา), พิเชษฐ กลั่นชื่น (ไทย), ปรียากีธา ดีอา (สิงคโปร์), จิตติ เกษมกิจวัฒนา (ไทย), นักรบ มูลมานัส (ไทย), จอมเปท คุสวิดานันโต (อินโดนีเซีย), บุญโปน โพทิสาน (ลาว), อัลวิน รีอามิลโล (ฟิลิปปินส์), คไว สัมนาง (กัมพูชา), โม สัท (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า-เนเธอร์แลนด์), จักกาย ศิริบุตร (ไทย), เจือง กง ตึง (เวียดนาม), นที อุตฤทธิ์ (ไทย), กวิตา วัฒนะชยังกูร (ไทย) และ หยี่ อิ-ลาน (มาเลเซีย)


There's no Place (2020) โดย จักกาย ศิริบุตร


    พิเชษฐ กลั่นชื่น ตัวแทนศิลปินที่เข้าร่วมแสดงงาน เผยความรู้สึกว่า "การได้รับเชิญให้ร่วมงานในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าศิลปินไทย ผลงานศิลปะของคนไทย ได้รับการยอมรับในพื้นศิลปะระดับสากล การเข้าร่วมในเทศกาลศิลปะที่เก่าแก่ของโลกจะส่งผลดีไปสู่อนาคตของประเทศและศิลปะต่อไป สำหรับงานชิ้นนี้เป็นการเดินทางของจิตวิญญาณการค้นหาคำตอบที่มนุษย์ทุกคนมีคำถามร่วมกัน เป็นการค้นหาคำตอบในวัฒนธรรมร่วม ด้วยวัฒนธรรมอื่น จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยว ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะร่วมสมัยเดินทางมาเที่ยวชมงาน The Spirits of Maritime Crossing ซึ่งเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่จะตอบคำถามให้กับผู้ชมถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้และอนาคต ถ้าท่านต้องการคำตอบในอนาคตท่านอาจจะได้คำตอบบางอย่างกลับไป"

    นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญจากภาครัฐและเอกชนมากมาย อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร, บริษัท กลุ่มเซนทรัล จำกัด (Central Group), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : จาก Coldplay ถึง Taylor Swift สิงคโปร์กำลังใช้คอนเสิร์ตดูดเม็ดเงิน ดันเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine