พื้นที่ขนาด 900 ตารางเมตรในโครงการ Whizdom 101 ย่านปุณณวิถีแห่งนี้ถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียน-นักศึกษาจนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยเริ่มทำงาน ที่สำคัญคือ ‘Whizdom Club’ แห่งนี้ตั้งใจที่จะเป็นกิจการเพื่อสังคมซึ่งไม่หวังกำไรเพื่อตอบแทนชุมชน
ภายในพื้นที่ Whizdom Club ในโครงการ Whizdom 101 ริมถนนสุขุมวิท ย่านปุณณวิถี หากมองภาพรวมแล้วอาจดูเหมือน co-working space ทั่วๆ ไป เพราะมีพื้นที่ร้านกาแฟ ที่นั่งทำงานพร้อมปลั๊กและ wi-fi มีห้องสมุดเล็กๆ และมีห้องประชุมหลายไซส์ให้ใช้งาน
แต่สิ่งที่ต่างจาก co-working space ทั่วไปคือพื้นที่นี้เปิดให้ใช้งานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แม้กระทั่งกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ผัดเปลี่ยนกันมาทุกสัปดาห์ก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ฟรี
Forbes Thailand พูดคุยกับ กฤษฐ์สยุทธ ชววิทยาธรรม รองประธานกรรมการ-Whizdom Society ผู้บริหารจาก บมจ.แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น หรือ MQDC ผู้ดูแลโครงการ เราถามถึงที่มาของแนวคิดว่าเหตุใดบริษัทอสังหาริมทรัพย์จึงยอมให้มีพื้นที่ที่ไม่ทำกำไร 900 ตร.ม. ในโครงการนี้
“เราต้องการสร้างกลุ่มคนที่ทั้งเก่งและมีจิตใจดี ตามปรัชญาของบริษัทคือ For All Well-being ซึ่งเราเชื่อว่า space ในอาคารเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไปถึงจุดนั้นได้” คือคำตอบของกฤษฐ์สยุทธต่อการสร้าง Whizdom Club แห่งแรกที่นี่
Whizdom Club นับว่าเป็นส่วนหนึ่งใน Whizdom Society ของ MQDC ซึ่งเป็นแผนกที่ดูแลชุมชนลูกบ้าน MQDC แต่ Whizdom Club นี้เป็นการขยายการตอบแทนให้กว้างขึ้น ไม่ใช่เฉพาะลูกบ้านโครงการของบริษัท แต่ไปสู่บุคคลภายนอก
โดยกฤษฐ์สยุทธอธิบายว่าบริษัทต้องการตอบแทนในรูปแบบกิจการเพื่อสังคมซึ่งมุ่งหวังกำไรต่ำ ประกอบกับบริษัทมุ่งเน้นการทำงานเพื่อสังคมไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่น้องๆ วัยเรียนและวัยเริ่มทำงาน นั่นคือตั้งแต่นักศึกษาอายุน้อยกว่า 20 ปีจนถึงคนทำงานวัย 30 ปี
เป็นที่มาให้พื้นที่ 900 ตร.ม.นี้ถูกจัดวางให้ตอบสนองคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นร้านกาแฟและ co-working space 400 ตร.ม. ที่รองรับได้ 150 ที่นั่ง ส่วนที่เป็นห้องเรียน-ห้องประชุม 4 ห้อง รวมพื้นที่ 400 ตร.ม. และส่วนจัดนิทรรศการให้ความรู้และห้องสมุดขนาดเล็กอีก 100 ตร.ม.
ในพื้นที่ห้องเรียน-ห้องประชุมยังมีการจัดเวิร์กช็อปหัวข้อเรื่องที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ทุกสัปดาห์ เช่น อบรมการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ, การสร้างหุ่นยนต์, ซอฟต์สกิลสำหรับการทำงาน, แนะแนวการสร้างโมเดลธุรกิจ ซึ่งล้วนมีใบรับรองการอบรมให้ นำไปใช้อ้างอิงได้จริง หรือเวิร์กช็อปที่ช่วยเสริมสร้างจิตใจก็มีเช่นกัน เช่น โยคะหัวเราะ, พุทธศาสนา, จัดดอกไม้ เป็นต้น
“เรามีพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมจัดเวิร์กช็อป เช่น ทรู คอฟฟี่ ที่มาอบรมการทำกาแฟ Project Lab Robotics ที่เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ การลงทะเบียนก็ทำได้ง่ายโดยร่วมมือกับ ticketmelon.com ในการจอง ถ้าเป็นกิจกรรมในห้องเรียนก็รับได้ 20-30 คนต่อครั้ง แต่ถ้าเป็นห้องประชุมสัมมนารับได้ถึง 120 คน” กฤษฐ์สยุทธแจกแจง
พื้นที่ต่างๆ สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี และเวิร์กช็อปก็สมัครเรียนฟรีเช่นกัน ยกเว้นร้านกาแฟที่จำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม (ห้ามนำอาหาร-เครื่องดื่มจากภายนอกมารับประทาน) เพียงแต่ลูกบ้าน MQDC จะได้สิทธิพิเศษคือส่วนลดร้านกาแฟ 40% และได้สิทธิเข้าเวิร์กช็อปที่เอ๊กซ์คลูซีฟสำหรับลูกบ้านเท่านั้น
กฤษฐ์สยุทธกล่าวว่า ปัจจุบัน พื้นที่นี้ยังพึ่งพารายได้จากร้านกาแฟและสินค้า merchandise ที่นำมาจำหน่ายเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจจะเริ่มเปิดให้เช่าห้องเรียนเพื่อจัดกิจกรรมเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม นอกจากนี้ ปัจจุบันพื้นที่ยังเปิดเฉพาะช่วง 10.00-22.00น. ทุกวัน แต่ต่อไปจะขยายให้เป็นพื้นที่ 24 ชั่วโมงอีกด้วย
เขายังกล่าวด้วยว่า โมเดลนี้จะถูกขยายไปเปิดในแหล่งอื่นๆ เพิ่มอีกภายในปีนี้ แม้จะขอปิดชื่อสถานที่ไว้ก่อนแต่เขาแย้มว่าจะเป็น ‘แหล่งวัยรุ่น’
“ความแตกต่างกับ co-working space อื่นๆ คือที่อื่นเขาเป็นธุรกิจชัดเจน จับกลุ่มคนทำงานที่ต้องการพื้นที่ประชุมงาน แต่เราต้องการจับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา first jobber และเราไม่ได้ขายค่าเช่าที่นั่งทำงาน”
“พื้นที่รอบๆ นี้ในรัศมี 5 กิโลเมตรมีคอนโดมิเนียมของ MQDC หลายพันยูนิต มีโรงเรียนอีกไม่ต่ำกว่า 18 แห่ง ดังนั้นเชื่อว่าจะดึงดูดกลุ่มคนวัยไม่เกิน 25 ปีได้มาก” กฤษฐ์สยุทธกล่าวปิดท้าย