คนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรค NCDs สูง รพ.วิมุต-เทพธารินทร์ เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ ป้องกันเกิดโรคเบาหวานและ NCDs - Forbes Thailand

คนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรค NCDs สูง รพ.วิมุต-เทพธารินทร์ เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ ป้องกันเกิดโรคเบาหวานและ NCDs

FORBES THAILAND / ADMIN
20 Feb 2025 | 11:52 AM
READ 172

คนไทย 1 ใน 10 เป็นเบาหวาน คนวัยทำงานเสี่ยงเป็นโรค NCDs สูง โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ ฉลองครบรอบ 40 ปีแห่งความสำเร็จในการดูแลสุขภาพของคนทุกวัย ประกาศเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคเบาหวานและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) พร้อมแนวทางการปรับไลฟ์สไตล์ก่อนถึงวันที่สาย


    ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เทพ หิมะทองคำ ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า “โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้ประชาชนทุกวัย โดยแนวคิดนี้เกิดจากประสบการณ์ศึกษาดูงานต่างประเทศ ซึ่งทำให้เห็นว่าการดูแลโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ต้องเน้นการป้องกันและให้ความรู้ควบคู่กับการรักษา เพราะผู้ป่วยมักเผชิญกับปัญหาซ้ำซากเมื่อพึ่งพาการรักษาเพียงอย่างเดียว

    "ผมตระหนักว่าการให้ความรู้คือกุญแจสำคัญ แต่ต้องมีทีมสหสาขาวิชาชีพที่แข็งแกร่งและระบบที่บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เพื่อเป็นต้นแบบการดูแลผู้ป่วยที่ครอบคลุมทั้งการรักษา การให้ความรู้ และการป้องกัน โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่สามารถป้องกันได้หากสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้อง”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เทพ หิมะทองคำ


    องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าในปี 2021 โรค NCDs คร่าชีวิตประชากรทั่วโลกอย่างน้อย 43 ล้านคน โดยมีประชากร 18 ล้านคนที่เสียชีวิตจากกลุ่มโรคดังกล่าวก่อนอายุ 70 ปี กลุ่มโรคดังกล่าว จึงถือว่าเป็นหนึ่งใน "ภัยเงียบของคนวัยทำงาน"

    สำหรับสถานการณ์ในไทย งานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ WHO บ่งชี้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง

    นอกจากนี้ โรค NCDs ยังเป็นภาระทางเศรษฐกิจที่รุนแรง โดยกรมควบคุมโรค เผยว่าโรค NCDs ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 9.7% ของ GDP ล่าสุด สธ. จึงประกาศให้การต่อสู้กับโรค NCDs เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ พร้อมเสนอให้ทุกภาคส่วนร่วมป้องกันการป่วยก่อนเป็นโรคและส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพที่ดี พร้อมหาทางแก้ไขให้ตรงสาเหตุ


    นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ กล่าวว่า "โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจสุขภาพด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาอันท้าทายเช่นนี้ หลังจากที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ และจะมีประชากรอายุเกิน 65 ปีเพิ่มขึ้นถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า

    การฉลองครบรอบ 40 ปีภายใต้แนวคิด 'The Heart of Giving, The Gift of Caring' จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งการรักษา การป้องกัน และการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เราสามารถสร้างความตระหนักรู้เพื่อป้องกันได้อย่างตรงจุดอย่างกลุ่มโรค NCDs"

นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา


    สำหรับสถานการณ์น่ากังวลและสาเหตุของโรค NCDs นายแพทย์สมเกียรติ ได้กล่าวเสริมว่า "สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในกลุ่มโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ หัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การขยายตัวของเมือง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป การผลักดันให้การลดอัตราการป่วยด้วยโรค NCDs เป็นวาระแห่งชาติจึงเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศ

    วัยทำงานในเมืองกำลังเผชิญความเสี่ยงด้านสุขภาพที่น่าวิตก โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค NCDs ไม่ว่าจะเป็นการปาร์ตี้ที่มักมาพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานบุฟเฟต์ที่เน้นของมัน และของหวาน การติดกาแฟและเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อต่อสู้กับความเหนื่อยล้า รวมถึงการเลือกอาหารจานด่วนและอาหารสำเร็จรูปเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

    เมื่อประกอบกับความเครียดจากการทำงาน การนั่งทำงานเป็นเวลานาน และการขาดการออกกำลังกาย จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่าคนวัยทำงานกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ซึ่งมีแนวโน้มพบในกลุ่มอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ

    ด้วยความตระหนักถึงความท้าทายด้านสุขภาพที่ซับซ้อนนี้ โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ จึงมุ่งมั่นนำระบบการดูแลผู้ป่วยแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งได้ถูกพัฒนาและเป็นต้นแบบการดูแลรักษาของประเทศไทยมานาน 40 ปี พร้อมต่อยอดสร้างประโยชน์ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

    โดยระบบการดูแลผู้ป่วยด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพนี้ไม่เพียงมุ่งการรักษาอาการของโรคเท่านั้น แต่เน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขยายผลการดูแลสุขภาพไปสู่สมาชิกในครอบครัวและสังคม เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านสุขภาพที่ยั่งยืนสำหรับคนทุกวัย”


    นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อเทพธารินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์โรคเบาหวานในไทยว่า "จากรายงานสถิติสาธารณสุขไทยพบว่า มีผู้เป็นเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 300,000 คนต่อปี และปัจจุบันมีคนไทยถึง 1 ใน 10 คน หรือประมาณ 6.5 ล้านคนที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน

    ที่น่าเป็นห่วงคือ เรากำลังพบผู้ป่วยในกลุ่มคนทำงานที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระงานหนักและมีความเครียดสูง ซึ่งมักพึ่งพาอาหารหวาน มัน และของทอด เพื่อบรรเทาความเครียด แม้น้ำตาลจะช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดได้ชั่วคราว แต่พฤติกรรมเช่นนี้กลับทำลายสุขภาพในระยะยาว

    นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเป็นจุดเริ่มต้นของโรค NCDs อื่นๆ ที่อันตรายไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำลายหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังจากการที่ไตต้องทำงานหนักในการกรองน้ำตาล ภาวะจอประสาทตาเสื่อมที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น และภาวะปลายประสาทเสื่อมที่ทำให้เกิดแผลที่เท้าซึ่งรักษายาก และสามารถนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ

    การป้องกันโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ และธัญพืชเต็มเมล็ด ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหมั่นตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความผิดปกติให้พบแต่เนิ่นๆ รวมถึงการลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้"

นายแพทย์เอกลักษณ์ วโนทยาโรจน์


    ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ได้มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อพัฒนาสุขภาพของผู้คนในสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นผ่านภารกิจต่างๆ

    1) การสร้างต้นแบบการทำงานแบบทีมสหสาขาวิชาชีพ (Introduced Diabetes Team Care Model) ด้วยการจัดตั้งศูนย์เบาหวานและไทรอยด์แห่งแรกของประเทศไทย จัดรูปแบบการดูแลที่ให้ทีมทำงานร่วมกันเพื่อเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เป็นเบาหวานและญาติ เพิ่มขีดความสามารถในการดูแลตนเองที่ถูกต้อง จนได้รับการรับรองเฉพาะโรค (เบาหวาน และไทรอยด์) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

    2) การสร้างวิชาชีพใหม่ (Introduced New Diabetes Team Care Professions) ได้แก่ ผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน (diabetes educator) นักกำหนดอาหาร (dietitian) และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้า (foot care specialist) ผ่านการสร้างต้นแบบที่โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ แล้วขยายจำนวนบุคลากรผ่านการสอนต่อ โดยทำงานประสานกับภาคมหาวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพ และสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ

    3) การทำงานและส่งต่อแนวคิดป้องกันโรค (Introduced Preventive Mindset) ผ่านการพัฒนาให้โรงพยาบาลไม่ใช่สถานที่เพื่อดูแลความเจ็บป่วยเท่านั้น แต่เป็นสถานที่ที่มาแล้วช่วยทำให้ไม่เกิดการเจ็บป่วยได้ อีกทั้งยังจัดตั้งมูลนิธิสู้เบาหวาน เพื่อเอื้อให้เกิดกลไกการนำแนวคิดทำงานป้องกันโรคสู่ชุมชนนอกรั้วโรงพยาบาล



Image by yanalya on Freepik

ภาพ: โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เครื่องดื่มและขนมหวาน คืออุปสรรค! 74% คนไทยเริ่มใส่ใจสุขภาพ คุมน้ำหนัก หลังอัตราโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้น

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine