อยู่แบบญี่ปุ่น: ฟังก์ชันห้องชุดคอนโดฯ ที่แตกต่างด้วยวัฒนธรรมความเป็นอยู่ - Forbes Thailand

อยู่แบบญี่ปุ่น: ฟังก์ชันห้องชุดคอนโดฯ ที่แตกต่างด้วยวัฒนธรรมความเป็นอยู่

วิธีการจัดการที่พักอาศัยที่แตกต่างในรายละเอียด สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน Forbes Thailand ขอพาทุกท่านชมฟังก์ชันห้องชุดคอนโดมิเนียม การออกแบบภายในตั้งแต่เชิงโครงสร้างจนถึงรายละเอียดเล็กๆ ที่สะท้อนการอยู่อาศัยของครอบครัวคนญี่ปุ่น

จากการเทียบเชิญโดย บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด Forbes Thailand ได้เข้าเยี่ยมชมห้องตัวอย่างของโครงการคอนโดฯ Pressance Grand Koshien Gobancho ภายใต้การบริหารของ Pressance Corporation บริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ด้านจำนวนยูนิตขายของภูมิภาค Kansai ซึ่งโครงการนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงไอเดียการออกแบบห้องชุดที่แตกต่างตามวัฒนธรรมและกฎหมายควบคุมอาคารของแดนอาทิตย์อุทัย โดยมีทีมงานทั้งจากชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และ Pressance Corporation ร่วมให้ข้อมูล
สำนักงานขาย โครงการ Pressance Grand Koshien Gobancho
โครงการ Pressance Grand Koshien Gobancho ตั้งอยู่ในย่าน Nishinomiya เมือง Osaka ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นย่านระดับบนของเมือง Osaka ตัวโครงการตั้งอยู่ห่างจากสนามเบสบอล Hanshin Koshien 600 เมตร และสถานีรถไฟฟ้า Koshien 500 เมตร อาคารก่อสร้างสูง 4 ชั้นตามกฎหมายผังเมืองของย่านที่อนุญาตให้ก่อสร้างได้สูงสุดเพียง 4 ชั้น และมียูนิตขาย 24 ยูนิตเท่านั้นซึ่งจำหน่ายหมดภายใน 10 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดสร้างเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562 คอนโดฯ แห่งนี้เน้นห้องชุดสำหรับอยู่เป็นครอบครัว พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 55-110 ตร.ม. ราคาขายเฉลี่ยที่ 8.4 แสนเยนต่อตร.ม. (ประมาณ 2.48 แสนบาทต่อตร.ม.) ถือเป็นคอนโดฯ ระดับกลางของ Pressance ส่วนห้องตัวอย่างที่เปิดให้ชมเป็น ห้องพื้นที่ใช้สอย 75 ตร.ม. ฟังก์ชัน 2 ห้องนอน 1 ห้องอาบน้ำ 1 ห้องน้ำ สนนราคาขาย 20-22 ล้านบาทต่อยูนิต
วิชัย จุฬาโอฬารกุล กรรมการบริหาร บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลการจัดวางเลย์เอาท์ห้องชุด
 

ต้อนรับด้วย "เกงกัง" และการใช้ "โทรทัศน์" เป็นศูนย์รวมครอบครัว

การจัดวางเลย์เอาท์ห้องของญี่ปุ่นจะมีความแตกต่างจากไทย เมื่อแรกเปิดประตูจะพบกับส่วนที่เรียกว่า “เกงกัง” เป็นพื้นหินลดระดับไว้สำหรับถอดรองเท้าและมีห้องรองเท้าซ่อนอยู่ด้านข้างสำหรับใช้เก็บรองเท้าโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เศษดินโคลนติดเปื้อนเข้ามาภายในบ้านและมีที่จัดเก็บเป็นระเบียบ บางแห่งอาจจะติดกระจกเงาไว้ด้วยเพื่อเป็นพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของเสื้อผ้าก่อนออกจากบ้านนั่นเอง เมื่อผ่านเกงกังมาแล้วจะเป็นโถงทางเดินยาวตรงกลางโดยยังไม่เห็นห้องนั่งเล่นหรือทานอาหารซึ่งเป็นการจัดวางที่คนไทยคุ้นตา ประตูสองบานแรกทางซ้ายกลับเป็นห้องนอนในทันทีซึ่งอาจขัดกับความรู้สึกของคนไทยที่มองว่าการจัดห้องนอนไว้ด้านหน้าจะรักษาความเป็นส่วนตัวไม่ได้มากนัก
บริเวณ "เกงกัง" ณ ประตูบ้าน ขวามือจะเป็นห้องเก็บรองเท้า
เมื่อเดินตรงไปจนสุดทางจึงจะพบโถงห้องนั่งเล่น ครัว และโต๊ะทานอาหาร พื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวเหล่านี้กินเนื้อที่ 50% ของห้องชุด ครัวเป็นแบบไอส์แลนด์ มีซิงก์ล้างจานและเตาแก๊สตรงกลาง หันหน้าเข้าหาโต๊ะทานอาหาร โดยผู้นำชมบอกว่า ถือเป็นการวางเลย์เอาท์เพื่อเชื่อมต่อสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้านที่กำลังทำอาหารกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ทำให้แม่บ้านมองเห็นลูกๆ อยู่เสมอด้วยเพราะหันหน้าออกจากกำแพงบ้านแม้กำลังทำกับข้าว มุมห้องนั่งเล่นมีสิ่งที่แตกต่างจากไทยเช่นกัน นั่นคือการจัดวางโทรทัศน์ไว้เยื้องจากโซฟาโดยไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดของพื้นที่ ที่ปรึกษาชินวะ เรียลเอสเตท อธิบายให้ฟังว่า ในความคิดของชาวญี่ปุ่น โทรทัศน์เป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน และจะต้องตั้งไว้ตรงกลางห้องให้ทุกคนทั้งบนโซฟา อาร์มแชร์ โต๊ะทานข้าว จนถึงครัว สามารถมองเห็นโทรทัศน์ได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องตั้งตรงกับโซฟาเท่านั้น
โทรทัศน์จะจัดวางให้อยู่ตรงกลางของพื้นที่กลางบ้านให้มากที่สุด
 

ห้องนอนเล็ก-ห้องอาบน้ำแยกส่วน

มาต่อกันที่ห้องนอน ห้องนอนมาสเตอร์กับห้องนอนรองนั้นที่จริงแล้วขนาดแทบไม่แตกต่างกัน เห็นได้ว่าทั้งขนาดและฟังก์ชันในห้องนอนนั้นค่อนข้างน้อย ที่ชัดเจนคือ ไม่มีโทรทัศน์ เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าห้องนอนมีไว้สำหรับนอนพักผ่อนเท่านั้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะทำร่วมกับครอบครัวบริเวณส่วนกลางของบ้าน
ห้องนอนเรียบง่าย เตียงขนาด 5 ฟุต มีตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง และโต๊ะข้างเตียง
ที่แตกต่างอีกอย่างคือการแยกห้องอาบน้ำออกจากห้องน้ำ (หากมีพื้นที่เพียงพอ) ห้องอาบน้ำจะมีอ่างอาบน้ำตามความนิยมการแช่น้ำร้อนของคนญี่ปุ่น ในขณะที่โถสุขภัณฑ์จะแยกออกไปอยู่ในห้องน้ำเล็กๆ ต่างหากอีกห้องหนึ่ง ตัวห้องน้ำเองมักจะใช้ห้องน้ำสำเร็จรูปจากโรงงานมาประกอบเข้ากับห้องชุด ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุกรุผนังให้ดูคล้ายหินหรือไม้มากจนลบความรู้สึกของความเป็นห้องน้ำสำเร็จรูปแบบเดิมออกไป
ห้องอาบน้ำกับห้องสุขาจะแยกเป็นคนละห้องกันในบ้านแบบญี่ปุ่น
ส่วนที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ “ระเบียง” ที่ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายควบคุมอาคารให้ต้องมีระเบียงทุกห้องชุดโดยไม่นับเป็นพื้นที่ขาย พร้อมกับต้องติดตั้งทางหนีไฟไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ระเบียงที่นี่จึงกว้างขวาง กะด้วยสายตากว้างราว 1 เมตรและยาว 5 เมตร เมื่อเป็นเช่นนั้น โครงการจึงมักจะ add-on ให้ลูกค้าด้วยราวตากผ้าสำเร็จรูปแบบพับเก็บได้ สร้างความสะดวกสบายให้การอยู่อาศัย  

วิธีปูพื้นไม้ให้นุ่มเท้า

มาว่ากันที่วัสดุอุปกรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ในห้องชุดนั้นจะเป็นพื้นไม้เอ็นจิเนียริ่งวู้ด แต่กลับให้ความรู้สึกแตกต่างจากการปูพื้นไม้ในไทย รู้สึกถึงความแน่นและนุ่มเมื่อเหยียบลงไป ไม่ส่งเสียงลั่นเอียดอาดหรือแข็งเท่าพื้นห้องของไทย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากเทกนิกการปูฐานใต้พื้นไม้เอ็นจิเนียริ่งวู้ด จะมีไม้และโฟมซ้อนถึง 3 ชั้นรองรับแรงกระแทก ซึ่งนอกจากทำให้พื้นนุ่มแน่นแล้วยังช่วยเก็บกักความอบอุ่นให้กับบ้านเมืองหนาวด้วย
(ซ้าย) ชั้นโฟมที่รองใต้แผ่นไม้เอ็นจิเนียริ่งวู้ด (ขวา) ระบบดูดอากาศในห้องแบบญี่ปุ่น เพียงกดเปิดช่อง ลมก็จะหมุนเวียนภายในบ้านโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
ระบบดูดอากาศ เองก็มีความแตกต่าง โดยห้องญี่ปุ่นไม่ใช้พัดลมดูดอากาศไฟฟ้า แต่ใช้เพียงช่องระบายอากาศสองช่องที่เมื่อเปิดไว้พร้อมกัน ลมจะมีการหมุนเวียนเข้าออกอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ประหยัดไฟ และไม่ต้องเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน นอกจากนี้ โดยรวมจะสังเกตเห็นว่าห้องชุดญี่ปุ่นมีหน้าต่างค่อนข้างเล็กถ้าเทียบกับไทย บางส่วนใช้บล็อกแก้วในการรับแสงเข้ามาในห้องเพราะมีภูมิอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการรับลม อีกทั้งยังสร้างห้องเพดานต่ำและวางเฟอร์นิเจอร์ทรงเตี้ย ตามรูปร่างของชาวญี่ปุ่นเองและความนิยมที่มีมานาน   Forbes Facts
  • Pressance ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ในญี่ปุ่นโดยข้อมูลปี 2560 พบว่าอสังหาฯ ที่เปิดขายในญี่ปุ่นมีทั้งหมด 77,363 ยูนิต เพิ่มขึ้น 5% และเป็นทิศทางเติบโตครั้งแรกในรอบ 4 ปี เฉพาะภูมิภาค Kinki (หมายถึง 7 จังหวัด ได้แก่ Osaka, Kyoto, Hyogo, Nara, Mie, Shiga และ Wakayama) เติบโตสูงสุดในประเทศที่ 4.7%
  • ทั้งนี้ Pressance Corporation มีการร่วมลงทุนกับ ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และบริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ เร็น สุขุมวิท 39 ที่ประเทศไทย มูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้
  • อ่านเพิ่มเติม พาชมเทคโนโลยี "ป้องกันแผ่นดินไหว" ใหม่ล่าสุดในญี่ปุ่น รองรับได้สูงสุดขนาด 7.0