“ลูกขนไก่” ให้ชีวิต : ‘เมย์’ รัชนก อินทนนท์ - Forbes Thailand

“ลูกขนไก่” ให้ชีวิต : ‘เมย์’ รัชนก อินทนนท์

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Apr 2016 | 11:04 AM
READ 12775

เธอวางกระเป๋าใบใหญ่สีดำ-ฟ้า คู่ใจ แฝงความน่ารักด้วยพวงกุญแจใหญ่ที่มีทั้งลูกขนไก่อ้วนป้อม รองเท้าแตะ สีแดงถักโครเชต์ และตุ๊กตา Winnie the Pooh ไว้บนเก้าอี้ยาวข้างสนามก่อนหยิบไม้แบดมินตันออกไปฝึกมือกับโค้ชแรงเต็ม กำลังใส่ไปไม่ยั้ง!!

เมื่อ ‘เมย์’ รัชนก อินทนนท์ อายุ 6-7 ขวบ เธอมักใช้เวลาวิ่งเล่นอยู่ในโรงงานทำขนมไทยที่ วินัสชัย อินทนนท์-คำผัน สุวรรณศาลา พ่อและแม่ของเธอทำงานอยู่ วันหนึ่ง ‘แม่ปุก’ กมลา ทองกร เจ้าของโรงงานและผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดเห็นเข้าจึงพาเมย์มาลองเล่นแบดมินตันจะได้ไม่กวนพ่อแม่ พร้อมทั้งหาอุปกรณ์การเล่นให้ทั้งหมด ความอดทน มุ่งมั่น ตั้งใจ และมีวินัย ทำให้เมย์พัฒนาทักษะขึ้นมาอย่างรวดเร็วกลายเป็นหนึ่งในนักแบดมินตัน “มือดี” แห่งบ้านทองหยอดแข่ง ในไทยคว้ารางวัลนับไม่ถ้วน เมย์ก็ก้าวสู่ระดับนานาชาติ ด้วยการเป็นแชมป์เยาวชนโลก BWF World Junior Championships อายุน้อยสุดเมื่อปี 2009 ด้วยวัย 14 ปี ทั้งยังเป็นคนแรกที่ครองแชมป์การแข่งขันดังกล่าวได้ถึง 3 สมัยซ้อน แม้ชื่อชั้นจะโดดเด่น แต่ก็เฉพาะในแวดวงคนกีฬา กระทั่งการแข่งขัน London 2012 Summer Olympics เด็กสาวลงแข่งแบบสู้ยิบตาบวกกับบุคลิกนอบน้อม คนไทยทั่วประเทศจึงร่วมลุ้นเอาใจช่วย ถึงไม่ได้เหรียญใดติดมือกลับมา แต่นั่นก็ทำให้เมย์กลายเป็นขวัญใจคนไทยในชั่วข้ามคืน “ตอนโอลิมปิกดูจากสายแล้วก็คิดว่าหนักที่เจอนักแบดฯ เยอรมันก็ไม่เคยชนะมาก่อนแต่พอได้ยินเขาให้สัมภาษณ์ว่าสายที่เขาอยู่ถือว่า สบาย เมย์ก็คิดในใจว่าเราไม่ใช่หมูให้เขาเชือดนะ เลยเป็นแรงผลักดันให้ฮึดซ้อมจนได้เข้าไปรอบ 8 คนสุดท้าย ไปแพ้นักแบดฯจีน” เธอเริ่มเรื่อง หลังกีฬาระดับโลกครั้งนั้น เมย์เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเอง ทั้งการคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว Yonex-Sunrise India Open 2013 รองแชมป์หญิงเดี่ยว Yonex All England Open Badminton Championships 2013 รวมถึงแชมป์หญิงเดี่ยวคนแรกของไทยในศึก SCG Thailand Open 2013 มิถุนายน 57 เมย์ยังเป็นนักแบดมินตันหญิงไทยคนแรกที่ขึ้นถึงมือวางอันดับ 3 ของโลก กระนั้นเด็กสาวก็กล่าวอย่างถ่อมตัว “อาจเพราะนักแบดฯ ที่อยู่ข้างบนทำผลงานได้ไม่ดีเหมือนปีที่แล้ว เลยทำให้ rank ตกเมย์เลยขึ้นไป” ทุกความสำเร็จที่ได้เกิดจากการฝึกซ้อม อย่างหนักวันละ 5-6 ชั่วโมง วัน อังคาร-อาทิตย์ ช่วงเช้า 8.00-10.00 น.ออกกำลังกาย เพื่อเน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วงบ่าย 15.00-17.00 น. ซ้อมแบดมินตัน เน้นฝีมือและเทคนิคการตี ช่วงสุดท้าย 19.00-21.00 น. ฝึกซ้อมโดยลงเล่นในสนาม ส่วนวันจันทร์ซ้อมรอบเดียวตั้งแต่ 16.00-19.00 น. โดยมี เซี่ย จื่อ หัว และ ภัททพล เงินศรีสุข เป็นโค้ช ส่วนการเรียนเมย์ก็ไม่ทิ้งเพิ่งเข้าเป็นน้องใหม่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อไม่กี่เดือนก่อน “บางทีโค้ชสอนจนโมโห เพราะเมย์ทำไม่ได้สักที เมย์ก็อ้อนแม่บอกว่าเหนื่อย อยากเลิก แต่ไม่ได้พูดจริงจัง แม่บอกให้ตีไปก่อนลูก อย่าเพิ่งเลิก แล้วบอกว่า จริงๆ พ่อกับแม่จะกลับต่างจังหวัดไปหางานอื่นทำก็ได้แต่ที่ยังทำงานที่นี่เพราะ อยากดูแลเมย์อย่างใกล้ชิด ฟังแล้วก็มีกำลังใจกลับไปซ้อมต่อทันที เมย์อยากให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้นบางครั้งเหนื่อยก็ต้องอดทน” นักแบดฯ สาววัย 18 บอกยิ้มๆ ความถนัดของเมย์ คือประเภทหญิงเดี่ยวเคยลองเล่นประเภทหญิงคู่ และคู่ผสมมาบ้างแต่บุคลิกและการเล่นที่เป็นคนละแบบ เธอจึงเลือกในสิ่งที่ถนัดมากกว่านั่นคือหญิงเดี่ยวถึงชั้นเชิงจะดีแค่ไหนแต่ก็ยังมี “จุดอ่อน” ดวลกับนักแบดฯ ระดับโลกเมื่อไร ความเร็วลูกที่แตกต่างก็มักเป็นปัญหาแทบทุกครั้งส่วนเรื่องกำลังที่เมื่อทุ่มสุดตัวแล้วกลับเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด เธอบอกว่าตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเพราะโค้ชเพิ่มการฝึกทั้งการยกน้ำหนักและการฝึกระบบหายใจ เสียงเชียร์ดังกระหึ่มทุก ครั้งเมื่อเมย์ ลงสนามโดยเฉพาะในประเทศบ้านเกิดเหรียญด้านหนึ่งหมายถึงกำลังใจชั้นดีส่วนเหรียญอีกด้านกลับแปรเป็นความคาดหวังและความกดดันที่ทำให้เธอยิ่งต้องทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งที่ฟอร์มของเมย์ไม่เข้าฝัก แต่เมื่อยึดหลัก “ตีให้ดีกว่าซ้อม” เธอจึงดึงตัวเองกลับมาแล้วตั้งใจเล่นให้เต็มที่ที่สุด ชื่อเสียงและเงินทองที่ตีคู่สูสีมากับฝีมือไม่ได้ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป เธอยังคงใช้ชีวิตเรียบง่ายในบ้านทองหยอด รับประทานอาหารในโรงอาหารเหมือนคนอื่นมีเมนูโปรดเป็นส้มตำไทย วันไหนพอมีเวลาว่างหลังฝึกซ้อมก็ไปเดินเล่นที่ห้างใกล้ๆ แถมมีเพื่อนสนิทที่คุยด้วยเหมือนวัยรุ่นทั่วไป หยาดเหงื่อทุกเม็ดจากการแข่งขันกลั่นมาเป็นเงินรางวัลให้เมย์ ไม่ต่ำกว่าล้านบาทต่อปี สโมสรชิงเต่าของจีนให้ค่าตัวราว 1 ล้านบาท พร้อมตั๋วเดินทางไป-กลับ จีน-ไทยตลอดเวลา 1 ปี รายการ India Openที่ผ่านมา ก็ได้เงินรางวัลชนะเลิศราว 4.5 แสนบาท ส่วนรายการ All England ได้เงินรางวัล 4-5 แสนบาท ยังไม่นับอีกหลายรายการที่เธอขึ้นชื่อเป็นตัวเต็งคว้าแชมป์ ปีนี้ (2557) เธอจึงคาดว่าน่าจะทำรายได้จากการแข่งขันเกินกว่า 2 ล้านบาท ด้วยศักยภาพที่มีบวกกับ “ความสด” ของวัยทำให้เมย์ ประเมินตัวเองว่าถ้ามีวินัยในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอก็สามารถถักทอความฝันให้เป็นความจริงได้ไม่ยาก ล่าสุดหลังจากรอคอยมาทั้งชีวิต เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมย์สามารถคว้าแชมป์โลกประเภทหญิงเดี่ยวในการแข่งขันแบดมินตันชิงแชมป์โลก 2013 ที่ประเทศจีนได้สำเร็จ “ตั้งเป้าอีก 2 แชมป์คือมือ 1 ของโลกและแชมป์โอลิมปิก” นักแบดฯ มือรุ่งของไทยบอกอย่างมาดมั่น เธอบอกว่าแต่ก่อนไม่เคยตั้งเป้าให้ไกลถึงระดับโลก เพราะคิดว่าเกินฝัน มองขึ้นไปก็มีแต่นักแบดฯ จีน 3-4 คน เรียงเป็นแถวแต่เดี๋ยวนี้แต่ละชาติไม่มีใครยอมใครผลัดกันแพ้-ชนะ ผลัดกันขึ้น-ลง รวมถึงนักกีฬาไทยที่ตอนนี้ถือว่าขึ้นไปอยู่ใน top20 มากกว่านักกีฬาจีนเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นต่อจากนี้เธอจึงจะทุ่มพลังทั้งหมดที่มีเพื่อไปให้ถึงมือ 1 ของโลก และเดินหน้าสู่การเป็นแชมป์หญิงเดี่ยวแบดมินตัน Summer Olympics ในปี 2016 เมย์ ยังบอกด้วยว่าสภาพร่างกายของนักแบดฯ หญิงเดี่ยวนั้น ส่วนใหญ่จะอิ่มตัวที่อายุ 25-26 ปี แต่ก็มีหลายคนที่ร่างกายยังไหวยืดระยะแข่งได้ต่อ เมื่อถึงวันที่ไม่สามารถลงสนามได้ในฐานะนักแข่ง เมย์ก็จะผันตัวไปถ่ายทอดความรู้ เทคนิคและประสบการณ์ให้รุ่นน้อง ซึ่งทุกวันนี้ เธอก็แนะนำเคล็ดลับให้น้องๆ บ้านทองหยอดบ้าง รวมทั้งช่วยสอน ‘แมนยู’ รัชพล อินทนนท์ น้องชายวัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักกีฬาแบดมินตันบ้านทองหยอดคลุกคลีกับแบดมินตันมากว่า 10 ปีเมย์บอกว่าเห็นพัฒนาการตัวเองชัดเจนจากเด็กที่ทำอะไรเชื่องช้าไม่ค่อยทัน คนอื่นก็เปลี่ยนเป็นทำอะไรรวดเร็วและมีร่างกายที่แข็งแรงมากขึ้น “แบดมินตัน ทำให้เมย์เปลี่ยนตัวเองไปเยอะมาก การที่มาถึงจุดนี้และชีวิตดีขึ้นแบบนี้ เป็นเพราะแบดมินตันล้วนๆ เพราะฉะนั้นเมย์เลยไม่เคยมองกีฬาอื่นเมย์ต้องอยู่ ตรงนี้ไปเรื่อยๆ และทำทุกวันให้ดีที่สุด” อีกไม่กี่นาทีจะได้เวลาฝึกซ้อมช่วงบ่ายเมย์หันไปหยิบไม้แบดมินตันขึ้นมา มือขวากระชับด้ามไม้แน่น เตรียมพร้อมลงสนามที่สร้างชีวิตให้เธอ
กมลา ทองกร “แม่พระ” บ้านทองหยอด
ทุกวัน กมลา ทองกร หรือ ‘แม่ปุก’ วัย 54 ผู้อำนวยการโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดจะนั่งประจำที่เก้าอี้แดงริมคอร์ต แบดมินตัน คอยสังเกตพัฒนาการของทุกคนในสนามอย่างมีความสุข แม่ปุก เจ้าของโรงงานทำขนมไทยบ้านทองหยอดชอบเล่นแบดมินตัน และเมื่อเห็นแววว่า ภัททพล เงินศรีสุข ลูกชายคนโต หลงใหลในกีฬาลูกขนไก่ จึงได้จ้างโค้ชทีมชาติไทยมาช่วยฝึกสอน แต่เมื่อโค้ชต้องย้ายไปต่างจังหวัด ‘แม่ปุก’ ก็ลงทุนจ้างโค้ชจีน คือ เซี่ย จื่อหัว บินตรงมาสอนถึงไทย พร้อมตั้งชมรมแบดมินตันในราวปี 2534-2536 กระทั่งกลายเป็นโรงเรียนสอนแบดมินตันเต็มรูปแบบย่านพุทธมณฑลสาย 3 เปิดสอนทั้งแบบเป็นคอร์ส และแบบอยู่ประจำ รวมทั้งให้นักแบดมินตันทีมชาติ อย่าง อินเดีย ญี่ปุ่น สเปน แคนาดา ฯลฯเข้ามาฝึกซ้อม ลูกของพนักงาน ในโรงงานทำขนม แม่ปุกพามาเล่นแบดมินตันเกือบทั้งสิ้นหาให้ทั้งเสื้อผ้ารองเท้า และอุปกรณ์การเล่น หากเข้ารอบแข่งขันไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ แม่ปุกจะควักเงินส่วนตัวออกค่าใช้จ่ายให้หมดรวมแล้วก็หลายล้านบาท เพื่อพา “ลูกๆ” ไปหาประสบการณ์ ลูกๆ ส่วนหนึ่งของบ้านทองหยอดจึงผลิดอกออกผลเป็นนักแบดฯ ทีมชาตินับสิบ ทั้ง ภัททพล เงินศรีสุขสุดเขต ประภากมลพิสิษฐ์ พูดฉลาดรัชนก อินทนนท์ ฯลฯ เมื่อนักแบดฯ เริ่มมีชื่อเสียง sponsor หลายรายก็เริ่มเข้ามาสนับสนุนและเพื่อป้องกันข้อครหา แม่ปุกจึงไม่ขอจับเงิน แต่ใช้วิธีขออนุมัติตามจริงที่สามารถชี้แจงการใช้เงินได้ทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน “เงิน รางวัลของใครก็ของคนนั้น แม่ไม่มีหักเปอร์เซนต์ อย่างเมย์ไปแข่งได้เงินรางวัลมา 5 แสน ก็เป็นของเขาหมด สมาคมแบดมินตันฯ รับเงินรางวัลจากเมืองนอกก็โอนเข้าบัญชีเมย์เลยไม่ผ่านแม่ถือว่าอยู่กันด้วยใจ” มอง “บ้านทองหยอด” ในเชิงธุรกิจ เจ้าตัวบอกทันทีว่า “ไม่คุ้ม” เฉพาะลงทุนกับค่าที่ดินและค่าสร้างสนามแบดมินตัน 18 สนาม ก็ร่วม 100 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ส่วนค่าเรียนตกชั่วโมงละประมาณ 100-160 บาทเท่านั้น ขณะที่รายจ่ายมีทั้งค่าโค้ชเดือนละหลายแสนบาท ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสึกหรอต่างๆ โรงเรียนแบดมินตันจึงไม่เคยทำกำไรและต้องหมุนเงินจากขนมไทยซึ่งเป็นธุรกิจหลักมาช่วยอยู่เสมอ “จะบอกว่าการกุศลก็ใช่ เพราะแม่อยากให้เด็กของเราไปเป็นทีมชาติแต่เป้าหมายที่ไกลกว่านั้นคือระดับโลก แม่หวังมาตลอดว่าวันหนึ่งนักกีฬาของเราจะได้เหรียญในโอลิมปิก” What they said: “เมย์เป็นคนที่ประสบความสำเร็จเร็วกว่าคนอื่น ซึ่งการที่ได้อะไรมาเร็วด้วยอายุแค่ 18 จะทำให้อนาคตเขาไม่อยากได้อะไร และการที่ชนะบ่อยๆ อาจทำให้ชะล่าใจ อันตรายสุดคือแมตช์ที่ต้องเจอกับคู่แข่งที่คิดว่าง่ายสุดต้องพยายามดึงไม่ ให้เขาเหลิงด้วยการ ให้อยู่กับน้องๆและสังคมที่ไม่ได้มีแต่เยินยอ ตอนนี้วางแผนให้เมย์เลือกแมตช์เล่น ซ้อมเยอะ แข่งน้อย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เขาอยากแข่ง เมย์ชอบความท้าทาย คนที่เขาไม่เคยชนะเป็นสิ่งที่เขาชอบ”
กมลา ทองกรผู้ปลุกปั้นเมย์
“เป็นโค้ชให้เมย์มา 7 ปี ได้เห็นพัฒนาการของเขาแบบก้าวกระโดด จากเด็กธรรมดาที่แข่งในระดับประเทศก็ไปได้แชมป์ยาวชนโลกเมื่ออายุ 14 และ ตอนนั้นยังไปแข่งรายการระดับโลกที่เวียดนามก็สามารถเอาชนะผู้เล่นระดับโลกได้อีก เขาเป็นคนมี วินัย มีความขยัน ตั้งใจ 80-90% แต่เป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราไม่ได้เต็มร้อยตลอด ตอนนี้เมย์อายุยังน้อย ขาดความเร็วและความแข็งแรงต้องให้เขาฝึกและสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น น่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี กว่าที่เมย์จะขึ้นถึงมือ 1 โลก”
ภัททพล เงินศรีสุขโค้ชของเมย์
“เท่าที่อยู่ในวงการแบดมินตันมา 6 ทศวรรษ เมย์เป็นนักเล่นของไทยเพียงไม่กี่คนที่เล่นโดยธรรมชาติ มีความฉลาดในการเล่นทุก stroke แต่ความแข็งแกร่งในการเล่นของเขาโดยเฉพาะการรุกหน้ายังต้องปรับปรุงและต้องเติมการเป็นฝ่ายรุกให้มากกว่านี้อีกนิด ต้องคุมเกมให้ได้แล้วเมย์จะก้าวสู่การเป็นมือ 1 ของโลกได้ไม่ยาก”
ศาสตราจารย์เจริญ วรรธนะสินอดีตนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย และนักแบดมินตันระดับโลก
  เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: กิตติ บวรพัฒน์นนท์