วีรวัฒน์ วลัยเสถียร ออกแบบชีวิตด้วย Passion - Forbes Thailand

วีรวัฒน์ วลัยเสถียร ออกแบบชีวิตด้วย Passion

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Sep 2023 | 11:00 AM
READ 78931

เกิดมาในครอบครัวฐานะดี แต่เด็กหนุ่มคนนี้เบื่อการเรียนเพราะรู้สึกว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง เขาจึงหันไปเรียนภาคค่ำและทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย

    

    ราวต้นเดือนเมษายน ปี 2566 อากาศร้อนอบอ้าว บรรยากาศกรุงเทพฯปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน แต่ทว่าความรู้สึกนั้นหายไปในทันทีเมื่อก้าวเข้าสู่บ้านหลังใหญ่พร้อมอาณาเขตร่มรื่นในซอยสุขุมวิท 10 ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ปกคลุมร่มครึ้ม มีบ่อน้ำขนาดกลางพร้อมปลาคาร์ปสีสันสวยงามแหวกว่ายไปมาช่วยลดดีกรีความร้อนลงได้ไม่น้อยยิ่งไปกว่านั้นในบริเวณบ้านยังมีจุดดึงดูดสายตาด้วยสปอร์ตคาร์และลักชัวรี่คาร์ที่จอดเรียงรายนับสิบคัน รูปแบบและสีสันสะดุดตา

    นี่คือของสะสมล้ำค่าของนักธุรกิจหนุ่มฉายา “อายุน้อย 100 ล้าน” ในฐานะนักธุรกิจ ส่งออกปลาสวยงาม วีรวัฒน์ วลัยเสถียร หรือดิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เฉียน หวู่ จำกัด บุตรชายของ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร กูรูการเงินและอดีตรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ คงไว้ซึ่งชื่อเสียงในฐานะผู้เขียนหนังสือ “พ่อสอนลูกให้รวย” หรือ “พ่อรวยสอนลูก” แบบไทยๆ ที่ยังถูกกล่าวถึงในปัจจุบัน
วีรวัฒน์เป็นคนหนุ่มที่มีสไตล์และวิธีคิดในแบบตัวเองที่ไม่เหมือนใคร คิดนอกกรอบและแตกต่างมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น กระทั่งวันนี้เขาอายุ 45 ปี ทำงานมาแล้วกว่า 26 ปี นั่นหมายความว่าเขาทำงานจริงจัง (เริ่มต้นธุรกิจส่วนตัว) มาตั้งแต่อายุ 19 ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ ซึ่งคือความตั้งใจของเขาที่บอกเล่าให้ทีมงาน Forbes Thailand ฟังด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความภูมิใจลึกๆ เมื่อย้อนอดีตตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น จนถึงปัจจุบัน วีรวัฒน์มีสไตล์การใช้ชีวิตที่ไม่ซ้ำแบบใคร

    “ผมเรียนไม่เก่งจึงหาทางไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ คือการทำงานหาเงิน อยากเป็น
เจ้าของกิจการ ในที่สุดก็ทำได้ตอนอายุ 19 ปี” วีรวัฒน์บอกเล่าสิ่งที่อยู่ในใจเขาตั้งแต่วัยเด็กที่เขาไม่วิตกกังวลกับการเรียนไม่เก่ง แต่ตรงกันข้ามเขามองหาแนวทางที่ตัวเองชอบ และเลือกที่จะทำมันในแบบที่ใจต้องการ โดยไม่คิดว่าการเรียนไม่เก่งคือจุดอ่อนหรือปัญหา แต่ไขว่คว้าสิ่งที่อยากทำมากกว่ามาแทนที่ นั่นคือการทำงานหาเงิน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เด็ก “ผมไม่ค่อยมีหัวเรื่องการเรียนหนังสือเท่าไรอีกอย่างผมก็เชื่อว่าประสบการณ์มันหาได้จากการทำงานมากกว่าการเรียน ผมไม่กล้าดูถูก การศึกษาสำคัญแต่ว่ามันไม่จำเป็นต้องศึกษาภายในห้องเรียนเท่านั้น” เขาเผยสิ่งที่คิดเพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ประสบการณ์เพิ่มเติมได้ ถ้าเปิดหูเปิดตาทุกอย่างมาได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน เป็นการเรียนจากชีวิตจริง 

    ด้วยแนวคิดนี้วีรวัฒน์จึงเลือกเรียนปริญญาตรีภาคค่ำในวิชาด้านกฎหมายเพื่อจะมีเวลาไปทำงานในตอนกลางวัน ซึ่งเขาทำงานกับบริษัทเพื่อนของบิดา จนกระทั่งเรียนถึงปี 3 บิดาเขามอบหมายให้ไปต้อนรับแขกชาวสิงคโปร์ วีรวัฒน์ได้พบหุ้นส่วนธุรกิจปลาสวยงาม และเกิดธุรกิจเพาะเลี้ยงส่งออกปลาสวยงามในที่สุด ซึ่งดำเนินการโดย บริษัทไทย เฉียน หวู่ จำกัด เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อเขาอายุ 19 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันรวมกว่า 26 ปี โดยบริษัทนี้มีรายได้สูงสุดแตะระดับพันล้านบาทมาแล้ว

    “ทำงานตอนเช้า ตอนค่ำไปเรียน มันค่อนข้างลำบากและเหนื่อย แต่เราเลือกเอง เพราะผมอยากมีรายได้เยอะ ผมเป็นคนชอบเงินมากเป็นพิเศษเพราะมีไลฟ์สไตล์ที่ต้องใช้เงินเยอะ” เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่เป็นเหตุและผลว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจคิดหาเงินตั้งแต่อายุยังน้อย พอได้เริ่มทำบริษัทช่วงแรกขาดทุนแต่ก็สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้ในเวลาไม่นาน

    

    Passion สะสมรถหรู

    

    ธุรกิจเพาะเลี้ยงส่งออกปลาสวยงามเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง วีรวัฒน์บอกว่า นี่เป็นเพียงที่มา 1 ใน 3 ของรายได้ เขายังมีอีก 2 ธุรกิจที่ทำเงินคือ กิจการทนายความ บริษัทที่ปรึกษาไทย จำกัด ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบิดา และอีกหนึ่งที่มาของรายได้หลักคือ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรายได้หลักกว่า 90% ที่ทำให้เขามีความพร้อมในการใช้เงินสะสมสปอร์ตคาร์และลักชัวรี่คาร์รวมกว่า 40 คันในปัจจุบัน โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

    วีรวัฒน์ วลัยเสถียร มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น 1 ใน 10 ของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ปจำกัด (มหาชน) โดยถือครอง 8.6 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.07% มูลค่ากว่า 827 ล้านบาท ทำให้มีรายได้จากเงินปันผลสูงถึง 66 ล้านบาทต่อปี เขาบอกว่า ลงทุนในหุ้นหลายตัวนั่นหมายความว่ารายได้ต่อปีมากกว่านี้แน่นอน

    ด้วยแนวคิดที่ต่างไปจากคนอื่น วีรวัฒน์มองว่าการเริ่มต้นก่อนได้เปรียบ “อายุ 19ผมเป็นเถ้าแก่แล้ว แต่ถ้าทั่วไปคุณจบปริญญาตรีอายุ 21 ต้องไปเป็นพนักงานฝึกหัด กว่าจะเป็นเถ้าแก่ต้อง 26-27 คุณช้ากว่าผม 5 ปี” เขาอธิบายวิธีคิดซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัวและเผยว่า หลักคิดเรื่องวินัยทางการเงินเขาได้จากบิดามาไม่น้อยและนำมาปรับเป็นสไตล์ของตัวเอง

    เมื่อฐานะการเงินมั่นคงมีรายได้ที่ดีวีรวัฒน์ก็เริ่มใช้เงินตอบสนองความชอบส่วนตัว แพสชั่นของเขาคือ รถยนต์หรูทั้งซูเปอร์คาร์และลักชัวรี่คาร์ เขามีความฝังใจกับรถยนต์ Rolls-Royce และตัดสินใจซื้อแม้สนนราคาค่อนข้างแพงหากเทียบกับลักชัวรี่คาร์อื่นๆ ปัจจุบันเขาครอบครองรถ Rolls-Royce ไว้ถึง 4 คัน สนนราคารวมกันไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และยังมีสปอร์ตคาร์ยี่ห้อดังอีกหลายรุ่น จำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 คัน มูลค่ารถยนต์รวมกันกว่า 1 พันล้านบาท

    “รถคันแรกราคา 2-3 ล้านบาทเป็นรถธรรมดาไม่ใช่เป็นซูเปอร์คาร์ จำไม่ได้ว่ายี่ห้ออะไรเพราะผมซื้อรถมาเป็น 100 คันซื้อมาขายไป ใช้เบื่อมีคนมาขอซื้อก็ขายขาดทุนก็ขาย” การสะสมรถเป็นไลฟ์สไตล์และความชอบส่วนตัวที่วีรวัฒน์บอกว่า เขาชื่นชอบมานานแล้ว แต่ในช่วงที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ยังไม่ได้สะสมเนื่องจากเพิ่งเริ่มธุรกิจ ซึ่งแม้จะทำรายได้เดือนกว่า 1 ล้านบาทมาตั้งแต่อายุ 20 แล้วก็ยังไม่ได้ซื้ออะไร และหลังจากนั้นในปี 2550 เขาเริ่มเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

    “ผมเริ่มเล่นหุ้นมาตั้งแต่ปี 2550 รวมถึงปัจจุบัน 16 ปีแล้ว ส่วนใหญ่เลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีและเงินปันผลดี พอร์ตที่มีอยู่ก็ขยายเพิ่มเรื่อยๆ เน้นหุ้นพื้นฐานดีเป็นหลัก” วีรวัฒน์เผยว่า เม็ดเงินจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่เองที่ทำให้เขากล้าใช้เงินด้วยการซื้อรถยนต์อย่างที่ชอบได้โดยไม่จำกัด

    การสะสมเริ่มจากน้อยไปหามาก “สมัยก่อนรถแพงที่ผมใช้มี Mercedes-Benz S-Class และ BMW Series 7 ราคา 6-7 ล้านบาทผมถือว่าแพง รถ Porsche ผมก็ซื้อแค่ Cayman ราคา 6-7 ล้าน ใช้แค่นี้เหมือนวอร์มก่อน” เป็นยุคแรกๆ ของการเริ่มซื้อรถสปอร์ตของวีรวัฒน์ เขาเล่าว่า “ตอนนั้นจะซื้อ Ferrari คันหนึ่ง 20 กว่าล้านก็ยังไม่กล้า แพงเหลือเกิน จริงๆ เงินก้อนแรกที่ใช้คืออยากซื้อรถ Rolls-Royce” แต่ไม่ได้ซื้อในทันทีเขาใช้เวลาถึง 6 ปีกว่าจะตัดสินใจซื้อ Rolls-Royce คันแรก แต่ปัจจุบันซื้อไว้ 4 คัน ขับเองแต่ไม่บ่อย

    วีรวัฒน์บอกว่า รถ Rolls-Royce แพงกว่า Ferrari ซึ่งมีราคาประมาณ 20 กว่าล้าน แต่ Rolls-Royce เริ่มต้น 38-40 ล้านบาท แล้วแต่ออปชั่น “เงิน 40 ล้านซื้อบ้านหลังใหญ่ได้หลังหนึ่งเลย คอนโดก็อยู่ทำเลใจกลางเมืองเลย แต่ก็เอานะ ของมันอยากก็ต้องมี”เขาเล่าพร้อมหัวเราะก่อนจะบอกว่า ตอนแรกรถ Ferrari 20 ล้านบาทเขาไม่กล้าซื้อจึงไปซื้อ California มือสองมาลองใช้ก่อน

    “สำหรับ Rolls-Royce ผมไม่เคยซื้อมือสองซื้อใหม่เลย 42 ล้านบาทรวมออปชั่น ตอนนี้มีอยู่ 4 คันซึ่งแพงกว่านั้นด้วย รวม 4 คันราคาประมาณ 200 ล้านบาท” เขารวบรวมข้อมูลก่อนจะอธิบายว่า ที่ต้องเป็น Rolls-Royce เพราะมันมีความเป็นรสนิยมเหมือนเป็นรถผู้ดี “คนขับ Ferrari มีเยอะแล้ว คนขับ Lamborghini ก็เยอะ คนขับ McLaren ก็มีเยอะ แต่คนที่ขับ Rolls-Royce เป็นกลุ่มคนที่น้อยมากๆ” เป็นความรู้สึกพิเศษส่วนตัวล้วนๆ

    วีรวัฒน์บอกว่า โดยส่วนตัวเขาชื่นชอบซูเปอร์คาร์และมีสะสมอยู่หลายคัน “ซูเปอร์คาร์มันก็จะมีความเร็วกับสมรรถนะ แต่ Rolls-Royce กับ S-Class ไม่ได้ต่างกันในแง่สมรรถนะ ต่างกันที่ความพรีเมียม” เขาย้ำและว่า Rolls-Royce ใช้วัสดุที่เนี้ยบกว่า คุณภาพหนัง การตัดเย็บทุกอย่างดูเนี้ยบ และออปชั่นทุกอย่างในรถดีมาก เขาบอกว่า Rolls-Royce เขาขับเองทุกคันไม่เคยให้คนรถขับเลย
“ใช้ไม่บ่อยครับกลัวไมล์ขึ้น ส่วนใหญ่จอด ผมเป็นคนไม่ออกงาน ชอบเก็บตัว ไม่ค่อยยุ่ง
กับใคร หาเงินอย่างเดียว มันเป็นความสุขที่เราสัมผัสได้และไม่เคยโชว์” เขาบอกว่าเวลาไปไหนมาไหนส่วนใหญ่ก็ขับรถธรรมดาไม่ได้ขับ Rolls-Royce ไป เพราะไม่อยากให้ใครมาจอดข้างๆ เขาบอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะคล้ายจะบอกว่านี่เป็นอีกเหตุผลความชอบและความหวงแหนส่วนตัว 

    อย่างไรก็ตามแม้จะซื้อรถหรูด้วยความชอบส่วนตัว แต่วีรวัฒน์ก็บอกตัวเองด้วยเหตุผลและความเหมาะสมอยู่เสมอ “เทียบ Rolls-Royce กับ Mercedes ถ้าคุณเป็นคนฉลาดเลือกคุณต้องเลือก Benz เพราะมันคุ้มกว่า Rolls-Royce แพงกว่า S-Class 5 เท่า แต่ไม่ได้ดีกว่า 5 เท่า” เขายอมรับพร้อมแจกแจงว่า Mercedes-Benz S-Class ราคาประมาณ7 ล้านบาท Rolls-Royce 40 ล้านบาท S-Class เงียบและนุ่ม แต่อาจไม่เท่า Rolls-Royce จะลดลงมาประมาณ 20% แต่ถ้าคิดถึงความคุ้มค่าก็ต้องเลือก Benz แต่พอซื้อด้วยแพสชั่นแล้วเหตุผลเหล่านี้เป็นประเด็นรอง

    “ถ้าคิดถึงความปลอดภัยและการขายต่อ Benz คุ้มกว่าแน่นอน เพราะราคาไม่ค่อยตกผมซื้อ Benz จากไพรมัสมาเป็น 10 คัน ขายต่อได้ง่ายๆ ตอนนี้อยู่กับเราแค่ 3-4 คันเท่านั้น” ที่เป็นเช่นนี้เขาอธิบายว่า ตอนที่ซื้อเพราะอยากลองรุ่นใหม่ ออปชั่นใหม่ บางทีลองแล้วไมล์ยังไม่เกิน 2,000 ด้วยซ้ำก็ขายเปลี่ยนมือราคาตกไปประมาณ 20% เขาบอกว่ารับได้ เพราะรถราคามันลดอยู่แล้วไม่มีรถคันไหนที่กำไร เขายอมรับและว่า “ที่ซื้อรถทั้งหมดนี่เป็นเรื่อง passion ล้วนๆ เหตุผลไม่มีเลย” วีรวัฒน์ย้ำและว่า นี่เป็นความชอบส่วนตัวไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่าด้านการลงทุน เพราะหากมองนักลงทุนไม่ว่าจะ

    เป็น Warren Buffett เศรษฐีระดับโลก หรือ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนชื่อดังของไทย ส่วนมากก็ใช้รถเก่า นักลงทุนไม่ซื้อรถเพราะมองว่าขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ แต่สำหรับผมการซื้อรถมันคือ passion

    “Lamborghini 2 คันที่จอดอยู่ตรงนั้นก็ 100 ล้านแล้วนะ ผมต้องขับ Lamborghini ตอนผม 40 กว่านี่แหละ เพราะถ้าผมไปขับตอน 60 กว่าผมขับมันไม่ไหว รถมันแข็งและขับยาก” เขาเล่ากลั้วเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดีก่อนจะบอกว่า “เพื่อนผมสอนว่า ทุกคนควรมีเป้าหมายในชีวิต แต่ความสุขเก็บเกี่ยวได้ระหว่างทาง ผมก็เก็บเกี่ยวความสุขไปด้วย ชีวิตมันจะไม่มีความหมายเลยถ้าคุณประสบความสำเร็จแต่ไม่มีความสุข”

    

    ชีวิตออกแบบได้

    

    วิธีคิดและการใช้ชีวิตของวีรวัฒน์ต่างจากคนอื่น ตั้งแต่วัยเด็กที่เขาเริ่มรู้ตัวว่าต้องการหาเงินและเป็นคนที่เน้นการหาเงินมาก เขาตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางจากกรอบเดิมๆ ที่ต้องเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้วค่อยทำงาน โดยเลือกทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยตั้งแต่อายุ 18 ทำให้เขามีโอกาสเร็วกว่าคนอื่น และก้าวไปได้ไกลกว่าคนรุ่นเดียวกันถึง 5 ปี นั่นคือการออกแบบชีวิตในวัยหนุ่ม
เมื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่วีรวัฒน์ตัดสินใจที่จะใช้เงินที่หามาได้สร้างความสุขให้ตัวเอง เขาทุ่มเงินซื้อรถหรูมาครอบครองมูลค่านับพันล้านบาทเพียงเพื่อความพอใจ โดยมองว่ารถหรูเหล่านี้เขาควรใช้ในวัยที่ยังสนุกและใช้งานได้ดี “ตอนนี้ผมพร้อมก็ซื้อและใช้ ผมอายุ 45 แล้ว ถ้าไม่ใช้ตอนนี้จะไปใช้ตอนไหน ถ้าแก่ไปมากๆ รถสปอร์ตก็คงขับไม่ไหว และความสนุกตื่นเต้นก็คงน้อยกว่าในวัยที่ยังกระฉับกระเฉง” นี่เป็นอีกหนึ่งการออกแบบชีวิต เมื่อมีความพร้อม มีเงินมีโอกาส เขาเลือกที่จะตอบสนองความต้องการตัวเองด้วยแนวคิดที่ว่า เงินหามาได้ก็ต้องใช้ให้คุ้มกับความชอบตัวเอง เก็บเงินไว้จนแก่ไม่มีเรี่ยวแรงคงไม่มีประโยชน์ถ้ายังไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ดูเหมือนแพสชั่น ของวีรวัฒน์ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้

    นอกจากรถยนต์แล้วล่าสุดวีรวัฒน์ขยับมาสู่เรือยอชต์ ในวันที่ให้สัมภาษณ์ทีมงานเขาเพิ่งสรุปตัดสินใจซื้อเรือยอชต์ลำใหม่เป็นเรือยอชต์ขนาดใหญ่ที่สุดที่มีในบ้านเรานั่นคือ Azimut Magellano ขนาดความยาว 25 เมตร ราคา 250 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งแพสชั่นที่เขาบอกว่า ซื้อด้วยความชอบ เป็นเรือยอชต์ลำแรกที่ซื้อและจะเป็นลำสุดท้ายที่ซื้อด้วยเช่นกันก่อนจบการพูดคุยในวันนั้นวีรวัฒน์มีประโยคหนึ่งที่เขาติดใจและบอกเล่าได้ดีถึงเหตุผลที่เขาสะสมรถหรูต่างๆ ไว้จำนวนมาก 

    นั่นคือ “มันมีฝรั่งพูดอยู่คำหนึ่งว่า When you lose your money you lose nothing but when you lose character you lose everything” เขาสรุปเพียงสั้นๆ ว่า “สำหรับผมรถคือคาแร็กเตอร์”

    

    อ่านเพิ่มเติม : การรับช่วงต่อของทายาทธุรกิจพันล้านแห่ง Royal Group

    คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine