‘คิด’ แบบผู้นำ ถอดบทเรียนจาก 12 บุคคลบนปกของ Forbes Thailand ปี 2567 - Forbes Thailand

‘คิด’ แบบผู้นำ ถอดบทเรียนจาก 12 บุคคลบนปกของ Forbes Thailand ปี 2567

2567 เป็นอีกหนึ่งปีที่ Forbes Thailand ร่วมพูดคุยกับผู้นำองค์กรธุรกิจมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะ 12 บุคคลบนปกของเราประจำปีนี้ พวกเขาและเธอต่างนำประสบการณ์ชีวิตมาถ่ายทอด ‘วิธีคิด’ แบบฉบับ ‘ผู้นำ’ ร่วมอ่านมุมมองอันทรงพลังจากนักธุรกิจ-เจ้าของกิจการเหล่านี้



“มองทุกอย่างให้เป็นโอกาส มองบวก แต่อย่าฝันมากเกินไป”

ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)


    นอกจากสยายปีกสู่ตลาดต่างประเทศให้กับ JWD ผ่านการควบรวมกิจการกับ SCGL เป็น SJWD ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กัน ช่วยกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ แม่ทัพ SJWD อย่าง ‘ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา’ ยังสนใจในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ ด้วย

    ในฐานะนักลงทุน คำแนะนำของเขาแก่สตาร์ทอัพจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งในบทสัมภาษณ์กับ Forbes Thailand เมื่อเดือนมกราคม 2567 เขาฝากถึงธุรกิจสตาร์ทอัพว่า นักลงทุนตอนนี้ก็ไม่ได้อยากลงทุนในบริษัทที่ขาดทุนตลอดเวลา และเริ่มเปลี่ยนมาดูผลกำไรของบริษัทมากขึ้น ดังนั้นจึงควรคุมค่าใช้จ่ายให้ดี มากกว่าเน้นยอดขาย

    “ธุรกิจใหม่ๆ ส่วนใหญ่ใช้เทคฯ นำ เพื่อให้สามารถ consolidate ตลาดได้จากการใช้แพลตฟอร์ม แต่แพลตฟอร์มบางทีก็ไม่ได้เวิร์ค 100% แพลตฟอร์มสิงคโปร์บางรายมาไทยยังไปไม่รอด ดังนั้นทุกอย่างจึงควรอยู่ที่ environment ในการประกอบธุรกิจ คือเราต้องปรับตัวอยู่ตลอด”

    “อยากแนะนำให้มองหาธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์เจริญเติบโต เพราะมีสิทธิ์ที่เราจะเติบโตด้วย แต่ถ้าเราไปอยู่ในธุรกิจที่เป็น sunset หรือต้องใช้ volume base ซะส่วนใหญ่ ผมว่ามันอาจจะไม่ใช่เทรนด์ในอนาคต … อยากฝากผู้ประกอบการ มองทุกอย่างให้เป็นโอกาส แล้วก็พยายามมองภาพแง่บวก แต่ไม่ได้บวกมากเกินไป บางท่านฝันมากเกินไปแต่ deliver ไม่ได้ หรือไม่สามารถ execute ให้เป็นไปตามฝันได้”


*******



“สิ่งที่เรียกว่าแผลเป็นจากการเสียเงิน มันมีจริง”

Rotem Iram
ซีอีโอและผู้ร่วมก่อของธุรกิจฟินเทค At-Bay


    แม้การประกันภัยไซเบอร์จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนเกิดธุรกิจฟินเทคที่น่าสนใจอย่าง At-Bay นับจนถึงตอนนี้ At-Bay ระดมเงินจากนักลงทุนมาได้รวม 292 ล้านเหรียญ โดยมีมูลค่าประเมิน 1.4 พันล้านเหรียญในการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อกลางปี 2021 และบริษัทกล่าวว่า ยังมีเงินเหลือในธนาคารเกือบ 200 ล้านเหรียญ

    แต่ถึงอย่างนั้นคนในวงการส่วนหนึ่งก็ยังสงสัยว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่ พวกเขาเกรงว่ารูปแบบการเจาะระบบจะเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปจนกระทั่งบริษัทประกันภัยไม่อาจประเมินความเสี่ยงได้อย่างน่าเชื่อถือ และลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมรับมือ จึงทำให้เกิดความกลัวเหตุการณ์หายนะที่อาจก่อความเสียหายหลายหมื่นล้านเหรียญ

    แน่นอนล่ะว่าถ้าบริษัทประกันเก่าแก่เจอปีที่เลวร้ายด้านการประกันภัยไซเบอร์ พวกเขาก็ยังมีธุรกิจส่วนอื่นๆ มาช่วยให้เจ็บตัวน้อยลง แต่ชีวิตสตาร์ทอัพไม่สวยงามแบบนั้น “สิ่งที่เรียกว่าแผลเป็นจากการเสียเงินมันมีจริง และผมยอมรับเลยว่าผมยังมีแผลแบบนั้นไม่มากเท่าไร” Iram กล่าว “ผมเลยพยายามหาคนที่มีแผลเป็นมาอยู่รอบตัวผม เพราะถ้าคุณทำงานมา 25 หรือ 30 ปีคุณก็จะมีญาณหยั่งรู้และมุมมองที่กว้างไกล”


*******



“ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิตหรือทำธุรกิจ เป้าหมายต้องชัดเจนก่อน”

คณิสสร์ ศรีวชิระประภา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)


    คณิสสร์ หรือชื่อเดิมคือ Lin Kenuo (หลิน เข่อนั่ว) ชาวจีนโดยกำเนิดที่เรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดและภาษาที่ Beijing ซึ่งเขาเลือกเรียนภาษาไทยควบคู่ไปด้วยจึงสามารถใช้ภาษาไทยได้ดี การมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างอัตคัด ทำให้เขาต้องหาเลี้ยงครอบครัว

    เขาเคยทำงานตั้งแต่บริษัทนำเข้าส่งออก ก่อนจะมาทำงานในบริษัทขายแบตโทรศัพท์มือถือ และนำเข้าสินค้าอื่นๆ แบบซื้อมาขายไป กระทั่งได้พบกับบริษัทรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าจากจีนที่ต้องการมาขยายตลาดในไทยแต่เจรจากับพาร์ตเนอร์เป้าหมายไม่สำเร็จ จึงหันมาถามคณิสสร์ว่า “คุณจะทำไหม” ช่วงนั้นเขาเริ่มมีเงินเก็บจึงตัดสินใจรับข้อเสนอทั้งที่รู้ว่าเสี่ยง

    เขาให้มุมมองถึงคนที่อยากประสบความสำเร็จว่า เป้าหมายต้องชัดเจนก่อน ไม่ว่าจะเป็นการดำรงชีวิต หรือการทำธุรกิจ และต้องโฟกัส ไม่ใช่ว่าระหว่างทางจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ควรพุ่งไปที่เส้นชัย ขณะเดียวกันในช่วงระหว่างทางนั้น ก็ต้องมองทิวทัศน์ระหว่างทางด้วย แต่การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและการตั้งโฟกัส เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนต้องมี

    “ถ้าเรามองหาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ต้องมองหาธุรกิจที่เป็นไปตามกระแสของสังคม คือถ้าเรายังไปทำในธุรกิจที่มันตกยุค ตกสมัยแล้ว ผมว่ามันยากที่จะทำให้โตขึ้น ที่สำคัญคือการไม่ยอมแพ้ แน่นอนว่าระหว่างทางอาจจะต้องเจอปัญหาเยอะแยะมากมาย ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ไม่มีใครทำให้เราแพ้ได้ คิดว่า 3 สิ่งนี้คือสิ่งที่จะทำให้หลายๆ คนพิชิตเส้นชัยได้”


*******




“รักษาคำมั่นและซื่อสัตย์ รับปากอะไรแล้วต้องทำให้ได้”

สุริยน ศรีอรทัยกุล
กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท บิวตี้เจมส์


    จากจุดเริ่มต้นร้านค้าเพชร Beauty Gems ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2507 จำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจุบันบิวตี้เจมส์ขยายสู่โรงงานผลิตเครื่องประดับอัญมณีทั้งแบรนด์ตัวเองและรับจ้างผลิตส่งออกไปหลายประเทศ และมี “สุริยน ศรีอรทัยกุล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท บิวตี้เจมส์ หรือหนึ่ง-สุริยน นักธุรกิจที่มีสไตล์แฟชั่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นผู้สานต่อธุรกิจจากยุคบุกเบิกของคุณปู่-คุณย่า มาสู่คุณลุงและบิดา (พรศักดิ์ และ พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล)

    “ความเจริญเติบโตของ Beauty Gems เกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง โดยเฉพาะความมุ่งมั่นและยึดมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล” สุริยนกล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand พร้อมย้ำว่า คุณภาพสินค้าและความประณีตงดงามของ Beauty Gems ล้วนมาจากฝีมือแรงงานที่ดีจากบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนด้วยแผนพัฒนาช่างฝีมือและพัฒนา นักออกแบบ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยด้านการผลิตและการบริหารจัดการ

    แนวคิดของสุริยนที่มีต่อทีมงานมีส่วนอย่างมากในการพัฒนาคุณภาพชิ้นงาน โดยเฉพาะแนวคิดที่เขาทำให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจ “หลักปฏิบัติเราคือ พนักงานทุกคนเป็นเจ้านาย เพราะฉะนั้นทุกคนจึงมีความรับผิดชอบที่สูงมาก รับปากอะไรต้องทำให้ได้ตามนั้น ทั้งคุณภาพ มาตรฐาน และการตรงต่อเวลา” เขาย้ำเรื่องคำมั่นสัญญาว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจอัญมณีที่จำหน่ายสินค้ามูลค่าสูง เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องได้มาตรฐานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า


*******



“องค์กรใหญ่ คนใดคนหนึ่งไม่สามารถทํางานสําเร็จได้”

วีรพันธ์ อังสุมาลี
กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)


    ธุรกิจค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการปรับตัวมากมายโดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทำให้โฮมโปรประสบความสำเร็จ

    หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้โฮมโปรสำเร็จนั้น ผู้บริหารที่ทำงานที่โฮมโปรมา 18 ปีอย่าง บอกว่าเป็นเพราะการทำงานเป็นทีมของพนักงาน แล้วมองเป้าหมายเดียวกันนั่นคือเป้าหมายหลักของบริษัท

    “องค์กรใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งไม่สามารถทํางานสําเร็จได้ งานมันเกี่ยวข้องกันหมดเลย ‘Collaborate as ONE HomePro’ ก็คือมองการทํางานเป็นทีม แล้วก็มองเป้าหมายหลักของบริษัท ไม่ใช่เป็นไซโลมองของใครของมัน ยิ่งเป็นทีมเล็กนะยิ่งต้องเข้าไปคลุกคลีกับทีมเลย”

    นั่นทำให้โฮมโปรมีกิจกรรมที่พยายามจะส่งเสริมให้มีการทํางานเป็นทีม และเป็น ‘cross function’ ให้พนักงานทุกคนไปจับกลุ่มกับใครก็ได้ แล้วคิดโปรเจกต์ขึ้นมาเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจน เช่น ทําให้ยอดขายเพิ่ม ทำให้ลดค่าใช้จ่าย แล้วเอามานําเสนอ ก็จะมีคณะทํางานที่จะคัดเลือก ก่อนจะอนุมัติให้ทำ หลังจากปฏิบัติแล้วก็จะมีการให้นำเสนอ ถ้าผลงานโอคก็จะมีรางวัลให้


*******



“อยากสำเร็จต้องมีแพสชั่น เป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ เสียสละ รู้หน้าที่”

Yeap Swee Chuan
ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน)


    Yeap Swee Chuan เป็นนักธุรกิจข้ามชาติอีกคนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยกว่า 30 ปี โดยก่อตั้งบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ในปี 2539 เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ที่มีลูกค้าเป็นรถยนต์ค่ายดังมากมาย

    แน่นอนว่าตลอดเส้นทางของอาปิโกนั้นผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมาแทบทุกวิกฤต ทั้งต้มยำกุ้ง และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แต่ทุกครั้งก็สามารถผ่านมาได้ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่วงการรถยนต์เข้าสู่ EV แต่อาปิโกก็สามารถปรับตัวได้ทันตามเทรนด์อุตสาหกรรม จนสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเรื่อง ซึ่งเขามองว่ากุญแจความสำเร็จมาจากการมีแพสชั่น และโฟกัสในธุรกิจ

    “ผมมองนะ ใครอยากประสบความสำเร็จ ทำอะไรต้องมีแพชชั่น เหมือนผม ตลอด 50 ปีผมโฟกัสธุรกิจรถยนต์ ไม่เคยเปลี่ยนธุรกิจอะไร เปลี่ยนมากเกินไปไม่มีฝีมือ อันนี้สำคัญคือโฟกัส อย่างที่สอง ต้องเป็นผู้นำ ซื่อสัตย์ เสียสละ รู้หน้าที่ ผู้นำที่ดีและมีวิสัยทัศน์ดีๆ ทุกอย่างสำเร็จ”


*******



“ถ้าเราจะเป็นผู้นำ เราต้องไม่ตาม”

ศุภลักษณ์ อัมพุช
ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป


    หลังประสบความสำเร็จกับเดอะมอลล์ คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช เริ่มมีแนวคิดว่าอยากก้าวไปอีกขั้นหนึ่งด้วยการทำศูนย์การค้าที่ Go Global ซึ่งต้องยกระดับตัวเองเป็นลักชัวรี นำมาสู่การก่อตั้ง Emporium ที่เธอต้องไปเจรจาให้แบรนด์หรูไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Dior, Chanel และ Hermes เข้ามาเปิดร้านใน Emporium

    “วันแรกที่เปิด บอกได้เลยว่าไม่มีคนเลย คนไม่รู้จะแต่งตัวยังไง คือเขาไม่เคยเดินศูนย์ที่มัน luxury เราก็เริ่มจัดงานให้คนเริ่มชินขึ้น แต่ความโชคดีก็คือ ‘ในวิกฤตจะมีโอกาส’ ปี 1997 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง คนที่ส่งลูกไปเรียนอังกฤษ เขาก็ส่งไม่ไหว และค่าเงินปอนด์ก็ขึ้นไปตั้ง 70 บาทตอนนั้น จาก 30 บาท เขาก็ส่งลูกกลับมา บรรดาพวกคนมีเงิน เซเลบฯ ก็จะมาที่นี่ กลายเป็นแหล่งที่เซเลบฯ มาเดิน

    “แล้วก็มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแบบทะลักเข้ามา เพราะค่าเงินบาทถูกมาก การซื้อขายเราก็เลยกลายเป็นดี เพราะว่าเราเป็นสต๊อกเก่า ในที่สุดก็เลยกลายเป็นแหล่งรวมคนมีเงิน เขาเดินก็รู้จักกัน คนนู้นคนนี้ อ้าวลูกเป็นยังไง เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ไฮโซ’ เกิดขึ้นที่นี่

    เธอยังพูดถึงแนวคิดสำคัญที่ได้รับจากคุณพ่อว่า “ถ้าเราจะเป็นผู้นํา เราต้องไม่ตาม เพราะคุณพ่อสอนตลอดว่า ‘ถ้า you เป็น underdog…you ต้องสู้’ ถ้าคุณจะเก่งคุณต้องเป็นเด็กที่กล้า ไปเอง เดินเอง ไปลำบากเอง ถ้าคุณเดินสายตรงแล้วคุณสู้เขาไม่ได้ คุณก็ต้องลัดไป”


*******


“เก่งด้วยตัวคนเดียว บางครั้งในองค์กรใหญ่ๆ มันไปไม่ได้”

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)


    ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทในธุรกิจประกันอย่าง “โอเชี่ยนไลฟ์ไทยสมุทร” เรียกได้ว่ายึดแนวกลยุทธ์ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน คืออาจไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ว่าเติบโตอย่างมั่นคง มีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่ง นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ยืนยันว่า ‘คน’ เป็นหัวใจสำคัญของการเติบโต รวมถึงต้องมีการทำงานเป็นทีม มีการสื่อสารที่ดีด้วย

    “ธุรกิจประกันชีวิต นุชยังเชื่อว่าคนเป็นหัวใจสําคัญมาก ในการที่จะพัฒนาปรับปรุงองค์กร จริงๆ นุชไม่ได้สนใจว่าอายุมากหรือน้อย นุชสนใจแค่ว่าเขามีความสามารถที่จะทํางานให้เราตามหน้าที่ตามบทบาทเขา หรือสามารถที่จะเติบโตไปกับองค์กรได้ไหม นุชคิดว่าทาง generation เก่าที่มีประสบการณ์ ล้วนแล้วแต่มีคุณค่า generation ใหม่ก็มีคุณค่าในอีกมุมมองนึง เพราะว่าเขาสามารถที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ทํางานได้เร็ว ทําให้เราเข้าใจคนรุ่นใหม่ขึ้น”

    เธอยังอธิบายเพิ่มเติมว่าในการรับคนของไทยสมุทรฯ ยังมีวางแผนการเติบโตให้แต่ละคน สร้างคน พัฒนาคน และ Empower พนักงาน รวมถึงสร้างบรรยากาศของการสื่อสารที่ดีเพื่อให้ทำงานเป็นทีมได้อย่างราบรื่น

    “เก่งด้วยตัวคนเดียว บางครั้งในองค์กรใหญ่ๆ มันไปไม่ได้ งานหลายๆ งานมันเกี่ยวกับคนหลายๆ ฝ่ายที่ต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกัน แล้วก็ต้องทํางานเป็นทีม แต่ในองค์กรใหญ่ๆ เป็นไปไม่ได้ที่คนไม่ตีกัน ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจ เกิดจากการขาดการสื่อสาร

    “แต่ถ้าคุณอยากให้เพื่อนเข้าใจปัญหาอุปสรรคที่คุณเจอ คุณต้องสื่อสาร และที่สําคัญไม่ใช่สื่อสารเพื่อหาคนผิด ไม่ใช่สื่อสารเพื่อโทษว่ามันเป็นความผิดของใคร เราสื่อสารเพื่อที่จะบอกว่า รากของปัญหาจริงๆ มันช่วยกันคิดสิ มันอยู่ตรงไหน ถ้าเราเลิกที่จะใช้วิธีการโทษกัน การทะเลาะกันก็จะเกิดขึ้นน้อยลง”


*******


“ต่อให้เก่ง แต่ถ้าไม่ขยัน มันก็ไม่มีทางสำเร็จ”

วรพนิต รวยรุ่งเรือง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรนวูด กรุ๊ป


    การปั้นธุรกิจของตัวเองว่ายากแล้ว แต่การสานต่อธุรกิจของครอบครัวให้เติบโตมั่นคง ก็อาจเป็นเรื่องยากกว่า คุณพลีส-วรพนิต รวยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรนวูด กรุ๊ป กิจการของคนไทยเชื้อสายจีนที่ก่อตั้งมากว่า 40 ปี มีธุรกิจหลากหลายและขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก โดยบทบาทของคุณพลีสในปัจจุบัน หลักๆ แล้วเธอดูโครงการการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูสระดับเมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาทอย่าง เรนวูด ปาร์ค (Reignwood Park)

    เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่ยอมรับว่าการทำธุรกิจของครอบครัวนั้นไม่ง่าย แต่สิ่งที่ครอบครัวสอนอยู่เสมอคือต้องอดทน ขยันหมั่นเพียร และมีวินัย

    “พลีสว่าความขยันหมั่นเพียรและความอดทน ความมีวินัย นี่เป็นสิ่งที่ทางครอบครัวสอนมาตลอด ต่อให้คุณจะเก่งเลยก็ตาม แต่ถ้าคุณไม่ขยัน มันก็ไม่มีทาง ดูง่ายๆ เลย คุณจะทําสม่ำเสมอไปนานแค่ไหน ทําแป๊บเดียวก็เหนื่อยแล้ว ไม่เอาแล้ว อย่างนี้ไม่ได้ คำว่าความอดทนมันไม่ใช่แค่อดทน แต่ว่าอดทนกับสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ปัจจัยแค่ภายใน แต่ภายนอกด้วย ทํายังไงให้มันผ่านอุปสรรคนี้ไปได้

    “เพราะฉะนั้นมันต้องมีความใจกว้าง คําว่าใจกว้างนี่ก็คือไม่ไปคิดเล็กคิดน้อย พยายามมองภาพรวม พร้อมภาพใหญ่ แล้วก็อย่างที่บอก สิ่งสุดท้ายก็คือความมีวินัย ทําอย่างนี้ไป อดทนไป สิ่งที่เราคาดหวังมันจะมาเอง ถ้าเรามีวินัย ความขยัน ความอดทน แล้วก็มองภาพใหญ่ พลีสว่าอันนี้สําคัญ”


*******


“แบ่งปัน คือเรื่องต้องทำ ทำธุรกิจถ้ามองแต่กำไร แค่คิดก็ไม่สำเร็จแล้ว”

วิชัย กุลสมภพ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)


    วิชัย กุลสมภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI ซึ่งดูแลด้านการร่วมทุนและการพัฒนาใหม่ๆ ของเครือสหพัฒน์ เผยว่า SPI ยึดแนวทางการทำงานภายใต้หลักคิด 3 ข้อคือ ผูกพัน แบ่งปัน และมั่นคง ซึ่งถอดแบบมาจากคำสอนของผู้บริหารรุ่นบุกเบิกที่ว่า ธุรกิจของเครือสหพัฒน์ต้องสร้างความผูกพันกับท้องถิ่นและรู้จักแบ่งปัน ซึ่งทั้งสองข้อนี้จะนำมาสู่ความมั่นคงและยั่งยืน

    “ทำงานกับใครต้องไม่เอาเปรียบเขา ทำการค้าต้องซื่อสัตย์ รู้จักแบ่งปัน และตอบแทนสังคม” เป็นคำที่ผู้บริหารเครือสหพัฒน์กล่าวอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน แนวคิดในการทำธุรกิจของลูกหลานเครือสหพัฒน์จึงมีภาพชัดเจนในเรื่องความซื่อตรงและซื่อสัตย์

    สะท้อนผ่านธุรกิจที่ทำรวมถึงโครงการใหญ่ KingsQuare วิชัยย้ำว่า แม้จะออกแบบและก่อสร้างโดยทีมงานอันดับ 1 แต่จะไม่มีการค้ากำไรเกินควร ขายด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ทุกอย่างล้วนอำนวยความสะดวกให้คนในพื้นที่ ตอบโจทย์ธุรกิจที่มุ่งเติบโตควบคู่ไปกับสังคม


*******


“ความฉลาดสูงสุดขององค์กรอยู่ที่หน้างาน ต้องให้อำนาจและ Empower คนรุ่นใหม่”

ศุภชัย เจียรวนนท์
ประธานคณะผู้บริหาร บจก.เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคม UNGCNT


    โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากหลายปัจจัยทั้งสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง คนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันทั้งเทคโนโลยีและจิตสำนึกแห่งความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของชีวิต-ธุรกิจ ไปสู่ชุมชน-โลก

    ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บจก.เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT: UN Global Compact Network Thailand) ย้ำเสมอว่า “คน” คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ซึ่งในประเด็นการพัฒนาคนคือการ Empower คนรุ่นใหม่

    “จริงๆ แล้ว ความฉลาดสูงสุดขององค์กรอยู่ที่หน้างาน ถ้าเราเอาศูนย์รวมมาตัดสินใจอยู่เหมือนกับสมัย 2.0 เราก็ต้องมาตัดสินใจที่ CEO หรือ President เกือบทุกเรื่อง แต่ต่อไปไม่ใช่ การให้อำนาจคนรุ่นใหม่ การที่เรา empower เขา การที่เราสนับสนุนเขาให้มีจินตนาการ ให้มีความสร้างสรรค์ ให้มีการทดลองใหม่ๆ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นได้เร็ว ล้มและลุกขึ้นแล้วเรียนรู้ ผิดก็ผิดเล็กๆ สำเร็จก็สำเร็จเล็กๆ แต่ขยายให้มันใหญ่ได้ กระบวนการตรงนี้ก็เป็น Transformation ที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อบทบาทของผู้นำต้องเปลี่ยน ก็จะกลายเป็นโค้ชชิ่ง เป็นคนที่คอยเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่”


*******



“การทำธุรกิจที่ดีนั้นไม่ใช่ win-win แต่คือ All Win”

วิกรม กรมดิษฐ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ


    หลังประสบความสำเร็จในธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA และประธานมูลนิธิอมตะ “วิกรม กรมดิษฐ์” ประกาศบริจาคสินทรัพย์ครั้งใหญ่ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อสาธารณะ ภายใต้การบริหารของมูลนิธิอมตะ ด้วยเหตุผลว่าอยากแบ่งปัน ภายใต้ปรัชญา All win ที่เขายึดถือ

    “ปีหน้าผมอายุ 72 แล้ว ผมมอบเงินให้มูลนิธิเพราะคิดว่าเก็บเงินไว้กับตัวเองไม่มีประโยชน์ ทรัพย์สินก็ยังอยู่ในองค์กร … สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลว่าทำไมผมส่งต่อทรัพย์สินไปไว้ที่มูลนิธิซึ่งมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจน สนับสนุนชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และงานศิลปวัฒนธรรม มันเป็น All Win ที่ย้อนไปถึงจุดตั้งต้นว่า ทำธุรกิจมีกำไรต้องกลับสู่สังคม”

    ในด้านธุรกิจก็เช่นกัน หัวใจสำคัญที่สร้างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจคือ การยึดหลักปรัชญา “All Win” มุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมองค์กร All Win ชนะไปด้วยกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขยายโครงการสู่ต่างประเทศ สร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เมื่อธุรกิจมีกำไร ต้องแบ่งปันสู่สังคม

    “การทำธุรกิจที่ดีนั้นไม่ใช่ win-win แต่คือ All Win มันคือสัจธรรม เป็นปรัชญาในการทำงานที่ทุกคนควรนำไปปฏิบัติ ถ้าเราประสบความสำเร็จ คู่ค้าก็จะประสบความสำเร็จ คนรอบข้างก็ประสบความสำเร็จ และก็ไม่ทำให้สังคมเสียหาย ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และเราก็จะไม่เห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียน และเกิดการแบ่งปัน”



ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine