“จิตวิญญาณ” ผ่านผ้าพันคอ Hermès - Forbes Thailand

“จิตวิญญาณ” ผ่านผ้าพันคอ Hermès

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Jun 2015 | 02:22 PM
READ 3182

เส้นไหมผ่านการถักทอยาวถึง 450 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ปี นับจากออกแบบลวดลาย กว่าจะเป็นผ้าพันคอ 1 ผืน ส่งตรงถึง boutique ทั่วโลก นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของ “จิตวิญญาณ” Hermès

“ผ้าพันคอ” คือหนึ่งในผลผลิตชิ้นงามจากเหล่าช่างฝีมือของ Hermès แบรนด์หรูระดับโลกที่หลายคนใฝ่ฝันหา ผลิตขึ้นผืนแรกในปี 1937 ที่เมือง Lyon ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องผ้าไหม และไม่เคยโยกย้ายโรงงานเลยนับแต่แรกตั้ง Forbes Thailand พบ Kamel Hamadou วัย 55 ปี ผู้ดูแลแผนกผลิตผ้าพันคอของ Hermès ในนิทรรศการ Festival des Métiers ที่ Hermès ประเทศไทย จัดขึ้นที่สยามพารากอน นำช่างฝีมือชั้นสูงของ Hermès มาสาธิตขั้นตอนการทำงาน ทั้งเครื่องหนังและงานผ้า เขาเล่าถึงเส้นทางของผ้าพันคอ Hermès ว่า เริ่มจากนำเข้าเส้นไหมคุณภาพดีจากบราซิล นำมาทอเป็นลายทแยง เพื่อให้มีความทนทานและเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ใช้เส้นไหมราว 450 กิโลเมตร ถึงจะได้ผ้าพันคอ 1 ผืน ลวดลายของผ้าพันคอที่ลงสีด้วยมือ ขนาดเท่าจริง คือ 90 x 90 เซนติเมตร จะเป็นหน้าที่ของช่างแกะลาย ที่ต้องแยกแต่ละลายออกมาเป็นสีด้วยมือ ลายที่มี 30 สี จะใช้เวลาแกะลายราว 400-600 ชั่วโมง หากลวดลายซับซ้อน อาจต้องใช้เวลา 1,500-2,000 ชั่วโมง แต่โดยเฉลี่ย ผ้าพันคอ Hermès จะมีราว 27 สี เลือกใช้จาก 75,000 เฉดสีที่ทีมช่างปรุงสีคิดค้น ห้องพิมพ์ผ้าพันคอมีความสูง 3 เมตร เข้มงวดเรื่องความสะอาด ภายในมีเครื่องพิมพ์ และโต๊ะที่เมื่อรวมแล้วมีความยาวถึง 150 เมตร  ผิวหน้าของโต๊ะเคลือบกาวช่วยยึดผ้าไหมไม่ให้เลื่อนระหว่างพิมพ์ลาย ควบคุมอุณหภูมิโต๊ะที่ 30 องศาเซลเซียส เพื่อให้สีซึมลงผืนผ้าได้ไวขึ้น “ตาและมือคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของช่างพิมพ์ลาย หากพลาดแม้เพียงเสี้ยวมิลลิเมตร เราทิ้งผ้าผืนนั้นทันที” Hamadou บอก เมื่อพิมพ์ลายเสร็จสิ้น ช่างจะนำผ้าไปอบให้สีอยู่ตัวที่อุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียส ราว 1 ชั่วโมง ล้างคราบกาวและสีส่วนเกิน ตากให้แห้งบนพรมร้อน สุดท้ายคือเย็บขอบด้วยมือ ม้วนขอบผ้าขึ้นด้านหน้าของผ้าพันคอ แล้วเย็บด้วยด้ายสีเดียวกับขอบ จากนั้นตรวจสอบคุณภาพ ก่อนส่งไปยัง boutique ของ Hermès ทั่วโลก ซึ่ง Hamadou บอกว่า นับจากออกแบบลวดลายจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี “ตั้งแต่ Thierry Hermès ก่อตั้งแบรนด์ในปี 1837 ถึงตอนนี้ Hermès ยังคงยึดหลักปรัชญาเดิมคือคุณภาพ หากเราไม่เจอวัสดุที่มีคุณภาพที่สุด เราจะไม่ผลิต และหากเราทำผิดพลาดแม้สักนิด นั่นไม่ใช่ Hermès เพราะหัวใจของเราคือคุณค่า ไม่ใช่ปริมาณ” Hamadou ย้ำหนักแน่น สิ่งที่เขาบอก สอดคล้องกับที่ Axel Dumas ทายาทรุ่น 6 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Hermès เคยเอ่ยกับ Forbes ไว้ว่า “จุดแข็งที่สำคัญที่สุดของ Hermès คือความรักในงานฝีมือ” แม้มูลค่าสินค้าหรูจะสูงสักเพียงใด แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยินยอมอย่างเต็มใจ เพื่อแลกกับความพิถีพิถันขั้นสุด รวมถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของแบรนด์ ทั้งหมดนี้เอง ที่หลอมรวมกันเป็น “จิตวิญญาณ” ของ Hermès   เรื่องและภาพ: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย 
คลิ๊กอ่าน Forbes Thailand ในรูปแบบ E-Magazine พร้อมฉบับย้อนหลัง