Central Embassy : แม้ไม่ได้ครอบครองแบรนด์หรู แต่เพียงแค่เดินดูก็สุขใจ - Forbes Thailand

Central Embassy : แม้ไม่ได้ครอบครองแบรนด์หรู แต่เพียงแค่เดินดูก็สุขใจ

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Jun 2014 | 03:24 PM
READ 2557

Talk of the town ช่วงนี้ ไม่มีอะไรจะโด่งดังไปกว่า Central Embassy ที่แม้จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ถึงขณะนี้ ที่ผ่านไปแล้วร่วม 2 เดือน ศูนย์การค้าหรูแห่งนี้ก็ยังยึดทุกพื้นที่สื่อได้อย่างเหนียวแน่น

Central Embassy เกิดจากความคิดของ ทศ จิราธิวัฒน์ (ปัจจุบันคือ CEO ของกลุ่มเซ็นทรัล) ทายาทรุ่น 3 ของตระกูล ที่ต้องการหยั่งรากของเซ็นทรัลให้ลึก และให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เมื่อเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ประกอบกับเล็งเห็นว่าตลาด luxury brand มีแนวโน้มเติบโตสูง โครงการ Central Embassy จึงเกิดขึ้น โดยมี ชาติ จิราธิวัฒน์ ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ รับช่วงลงมือปลุกความฝันให้ตื่นเป็นความจริง

ขึ้นชื่อว่า “จิราธิวัฒน์” ขยับอะไรย่อมไม่ธรรมดา!!

เริ่มตั้งแต่ที่ดินผืนงามเกือบ 9 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณจุดตัด ถ.เพลินจิต – วิทยุ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ตัดสินใจแบ่งขายเมื่อราวปี 2549 ครั้งนั้นมีกว่า 30 บริษัทร่วมประมูล แต่สุดท้าย เซ็นทรัลก็ชนะการประมูลไปด้วยราคากว่า 3,600 ล้านบาท หรือตกเฉลี่ยตารางวาละ 950,000 บาท สร้างสถิติใหม่ให้วงการซื้อขายที่ดิน การครอบครองที่ดินผืนดังกล่าว ทำให้เซ็นทรัลสามารถขยาย “อาณาจักร” ของตนให้ยิ่งใหญ่ขึ้น โดยเชื่อมกับ เซ็นทรัล ชิดลม ที่อยู่ติดกัน (เซ็นทรัลชิดลมคือสาขาที่ปั้นรายได้ให้เซ็นทรัลมากที่สุด) ตัวอาคารสร้างเพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้เป็น iconic building ระดับโลก จึงเป็นที่มาของ Infinity Building ที่โค้งมน แบ่งเป็นส่วนศูนย์การค้าและอาคารสูง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Park Hyatt Bangkok โรงแรมหรูระดับ 6 ดาว เมื่อมองโดยรวม จะเห็นเป็นสัญลักษณ์ ∞ ที่มีนัยถึง “ความไม่สิ้นสุด” ส่วนด้านนอกตึก ประดับด้วยเกล็ดอลูมิเนียมกว่า 300,000 เกล็ด ยามต้องแสงแดดจะส่องประกายวิบวับสวยงาม ได้แรงบันดาลใจจากเกล็ดหลังคากระเบื้องของอุโบสถในวัดไทย กว่าจะมาเป็นอาคารรูปทรงทันสมัยแปลกตาอย่างที่เห็น สิรินิจ โชคชัยฤทธิกุล Vice President Marketing ของ Central Embassy ที่พา Forbes Thailand เดิมชมภายใน Central Embassy บอกว่า ต้องสร้างโมเดลตึกขึ้นมาก่อน แล้วศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง รวมทั้งการประดับตกแต่งเกล็ดอลูมิเนียม เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดขึ้น เมื่อถึงเวลาต้องสร้างอาคารจริง ภายในประกอบด้วยร้านค้าแบรนด์หรูจากทั่วโลกกว่า 200 แบรนด์ โดย 7 แบรนด์ดังอย่าง Bottega Veneta, Chanel, Gucci, Hermes, Miu Miu, Prada และ Ralph Lauren เป็นร้านค้าที่มีพื้นที่ 2 ชั้น โดยตั้งอยู่ด้านหน้าติดผนังกระจกที่เป็นแนวโค้งตามผังตัวอาคาร จึงกลายเป็นโจทย์ยากของดีไซเนอร์แต่ละแบรนด์ ว่าจะออกแบบตกแต่งรูปแบบร้านอย่างไร ให้สอดรับกับความโค้งมนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวอาคาร ส่วนแบรนด์อื่น ล้วนออกแบบและตกแต่งร้านโดยผสมผสานอัตลักษณ์ของแบรนด์และศิลปะเข้าด้วยกัน เมื่อย่างก้าวเข้าไปแต่ละร้าน จึงเปรียบเสมือนการเดิมชมแกลอรี่ศิลปะที่ให้ประสบการณ์แตกต่างกันไป
ชั้น 6 เป็นโรงภาพยนตร์ Embassy Diplomat Screen ที่ลงทุนไปกว่า 120 ล้านบาท มีจำนวนโรงภาพยนตร์เพียง 5 โรง และ 203 ที่นั่ง เน้นความเป็นส่วนตัวและความสะดวกสบาย ที่มาพร้อมราคา 900-1,500 บาท ส่วนชั้นล่างสุดเป็นโซน Eathai มีทั้ง food court คัดสรรร้านอาหารไทยชื่อดังของแต่ละภาคมาประชัน ในราคาระดับ Central Embassy ใกล้กันเป็น super market จำหน่ายผลิตภัณฑ์ premium ของโครงการหลวง ดอยคำ ฯลฯ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่หลากหลาย หันดูผู้ใช้จ่าย “กระเป๋าหนัก” ที่น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ Central Embassy กันบ้าง ปีที่ผ่านมา ธนาคาร UBS และ Wealth-X บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน สำรวจเศรษฐีเอเชียที่ถือครองทรัพย์สินมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป พบว่า จีนมีเศรษฐี 10,675 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 1.52 ล้านล้านเหรียญ ฮ่องกงมีเศรษฐี 3,180 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 530 พันล้านเหรียญ อินเดียมีเศรษฐี 7,850 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 935 พันล้านเหรียญ ส่วนไทยมีเศรษฐี 720 คน มูลค่าทรัพย์สินรวม 110 พันล้านเหรียญ จำเพาะเจาะจงลงมาที่ไทย ปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์การเติบโต GDP ของประเทศจาก 3% เหลือ 2.7% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ให้ไว้ที่ 2.6% ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ตัวเลขไว้ที่ 1.8% เศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจระดับภูมิภาคไล่ลงมาถึงระดับประเทศจะเป็นอย่างไร บรรดาเศรษฐีอาจไม่ได้รับผลกระทบ และยังคงมีกำลังจับจ่ายซื้อหา luxury brand สะท้อนภาพลักษณ์และรสนิยมวิไล แต่สำหรับคนธรรมดา Central Embassy คือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่แม้ไม่ได้ครอบครองแบรนด์หรู แต่เพียงแค่เดินดูก็สุขใจ