ไวน์แดง เพื่อ อาหารไทย - Forbes Thailand

ไวน์แดง เพื่อ อาหารไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jun 2014 | 11:21 AM
READ 1299

กลยุทธใหม่ Jacob’s Creek ดึงส่วนแบ่งตลาดเบียร์

เมื่อปริมาณการบริโภคไวน์ในตะวันตกเริ่มคงที่ ไม่โตพรวดพราด บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายใหญ่น้อยต่างหันสู่ตลาดเอเชีย ที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ชนชั้นกลางมีกำลังซื้อความสุขและความหรูหรามากขึ้น กลยุทธ์ต่างๆ ล้วนถูกคิดเพื่อเพิ่มยอดขาย สร้างลูกค้ารายใหม่เข้าตลาด
ล่าสุด ปลายปีที่แล้ว Jacob’s Creek ไวน์จากออสเตรเลียที่เป็นผู้นำตลาดไวน์ในไทย เปิดตัว Lamoon ไวน์แดงตัวใหม่ สำหรับตลาดไทย เพื่อดื่มคู่กับอาหารไทยโดยเฉพาะ ขยายฐานผู้ดื่มจากกลุ่มนักดื่มไวน์เพื่องานเลี้ยงสังสรรค์ ดื่มกับอาหารตะวันตก มาชักชวนนักดื่มเบียร์กับอาหารไทย ให้หันมาดื่ม Lamoon Pernod Ricard Winemakers ผู้ผลิต Jacob’s Creek ร่วมมือกับ พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย หรือ “เชฟเอียน” คิดค้นและร่วมพัฒนาสูตร Lamoon กระทั่งได้ไวน์รสชาติหวานติดปลายลิ้น ไปด้วยกันกับอาหารไทยรสชาติเผ็ด พร้อมวางให้เป็น premium product จำหน่ายในร้านอาหารไทยชั้นนำในประเทศไทย “เราหวังขยายส่วนแบ่งตลาดไวน์เมืองไทยให้มากขึ้น ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการดื่มไวน์เฉลี่ย 2 ลิตรต่อปี ใกล้เคียงกับจีน อีก 10 ปีต่อจากนี้ เรามั่นใจว่าตลาดไวน์ของไทยจะเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราการดื่มไวน์เพิ่มเป็น 3-4 ลิตรต่อปี”  Jean-Christophe Coutures, Chairman และ CEO ของ Pernod Ricard Winemakers บริษัทผลิตไวน์ในเครือของบริษัทแอลกอฮอล์ฝรั่งเศส Pernod Ricard กล่าวกับ Forbes Thailand เมื่อเดินทางมาเปิดตัว Lamoon ที่กรุงเทพฯ Coutures เล่าถึงตลาดไวน์ในเอเชียว่า 10 กว่าปีก่อน มูลค่าตลาดมีน้อยมาก ทว่าปัจจุบัน กลับเป็น “ขุมทอง” ที่บริษัทไวน์ทั่วโลกรุกตลาดอย่างหนัก แบรนด์ Jacob’s Creek มีอัตราการเติบโตด้านปริมาณในเอเชียถึง 12% และเฉพาะอินเดียประเทศเดียว มีอัตราการเติบโตด้านมูลค่าถึง 33% ส่วนตลาดไวน์เมืองไทย มีศักยภาพสูงติดอันดับต้นของเอเชีย และสำหรับบริษัทเขาแล้ว ไทยเป็นตลาดสำคัญสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้หนทางดูสดใส แต่อุปสรรคใหญ่อยู่ที่คนไทยนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือช่วงเวลารับประทานอาหาร เบียร์ คือ เครื่องดื่มที่คนไทยบริโภคมากที่สุด เฉพาะปี 2012 คนไทยมีอัตราการดื่มเบียร์สูงถึงราว 1,776 ล้านลิตร ส่วนไวน์อยู่ในอันดับที่ 5 มีอัตราการดื่มราว 14.62 ล้านลิตร และมีมูลค่าตลาดราว 37.89 ล้านยูโร (ข้อมูลจาก International Wine & Spirit Research) แต่เมื่อดูอัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายแล้วพบว่า ไวน์ แซงหน้า กลุ่มสุรากลั่น (spirits) โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี ระหว่าง ปี  2003 – 2010 ของไวน์อยู่ที่ 9.3% เทียบกับ  0.4%  ของกลุ่มสุรากลั่น และ ระหว่างปี  2010-2012 อัตราเติบโตของไวน์พุ่งขึ้นเป็น 11.1% ส่วนกลุ่มสุรากลั่นอยู่ที่  5% (ข้อมูลจาก Vinum Global Profit Pool และ International Wine & Spirit Research) มูลค่าตลาดไวน์เมืองไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจนละสายตาไปไม่ได้ ย่อมดึงดูดผู้เล่นรายอื่นให้กระโจนลงสนาม สร้างสีสันและฟาดฟันอย่างสูสีแน่นอน   เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: เจตจรัส ณ ระนอง
Forbes Thailand ฉบับ FEBUARY 2014