เป็นเวลาเกือบ 40 ปีแล้วที่ Harald Link สุภาพบุรุษเยอรมันสัญชาติไทยได้มาใช้ชีวิตและรับภารกิจสานต่อบริหารกิจการของกลุ่มบริษัท บี.กริม ที่ดำเนินกิจการในไทยมายาวนานกว่า 140 ปี Forbes Thailand นำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษของประธานแห่งกลุ่มบริษัท บี.กริม ที่สามารถสะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไทยกับเยอรมันได้เป็นอย่างดี
จุดเชื่อมโยง ความต่าง ความเหมือนระหว่างเยอรมนีและไทยในความคิดของคุณ ผมอยู่เมืองไทยมา 38 ปี เกินครึ่งชีวิต โชคดีที่ผมได้เรียนหนังสือและได้เรียนรู้แนวคิดจากเยอรมนี ทำให้เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของคนแต่ละเชื้อชาติได้ มีคนรู้จักหลายคนบอกว่า ผมมีความเป็นไทยมากกว่าคนไทยหลายคนเสียอีก (หัวเราะ) คนไทยกับคนเยอรมันมีวัฒนธรรมและฐานวิธีคิดแตกต่างกัน คนเยอรมันคิดอะไรเป็น logic จะแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า งานคืองาน ความสุขคือความสุข แต่คนไทยคิดต่างไป ระบบความคิดความเชื่อของคนเยอรมันเป็นแบบชาวตะวันตก โดยมีต้นกำเนิดและสมมติฐานมาจากกรีก ใช้หลักการใช้เหตุผลแบบกรีก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น a ก็ต้องไม่ใช่ b และการมองสรรพสิ่งต่างๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ ใช้หลักการวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปหรือคำตอบที่ชัดเจน ในขณะที่แนวปรัชญาของคนตะวันออกจะคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากปัจจัยหลายด้านมาประกอบกัน ทำให้เวลาจะตัดสินใจทำอะไร จะต้องคิดถึงคนนั้นคนนี้และสิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เป็นองค์ประกอบโดยรอบเยอะไปหมด (ยิ้ม) แม้จะสรุปคำตอบได้เร็วแต่ก็จะไม่ชัดเจนแบบคนตะวันตก เวลาคนเยอรมันตั้งคำถามกับคนไทย จึงมักไม่ค่อยได้คำตอบในสิ่งที่เขาต้องการ ระบบการศึกษาของไทยกับเยอรมนี ที่ผมได้ยินและได้รับรู้มาคือ ระบบการศึกษาของไทยเน้นท่องจำมากเกินไป ไม่มีการอภิปรายถกเถียง ขาดการฝึกสอนการใช้ความคิดและการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ขณะที่ของเยอรมนี สมัยที่ผมเรียนเมื่อ40 ปีที่แล้วในห้องเรียนจะเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงออกทางความคิด สามารถถกเถียง แสดงความคิดโต้แย้งกันได้เต็มที่ทุกวิชา แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเรื่องการอ่านหนังสือ หรือท่องจำทฤษฎีหลักการต่างๆ เพื่อให้มีข้อมูลพื้นฐานความรู้ที่แน่น การเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น ช่วยให้เราได้มองเห็นข้อเด่นและข้อด้อย ทั้งของคนอื่นและของเรา เพื่อที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ปรับปรุง เป็นหลักการที่ดีที่เหมาะสมกับเรายิ่งๆ ขึ้นไป สำหรับระบบการศึกษาในเมืองไทย ผมมองว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะคนไทยมีหลักคิดที่ยึดติดกันมานาน เปลี่ยนแปลงยาก ยกตัวอย่างเช่น หนึ่ง คนไทยมักไม่พยายามหาข้อดีของฝ่ายตรงข้าม สอง คนไทยยังยึดติด ยึดมั่นกับสิ่งที่ถูกใจ สิ่งที่คิดว่าถูกต้องไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เรายึดติดกับสิ่งใดในโลกด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันข้อดีของไทยคือ เรื่องมนุษยสัมพันธ์ ความอ่อนน้อม ให้ความเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ซึ่งตรงข้ามกับคนเยอรมัน คุณต้องรู้จักหน้าที่ ถ้าเป็นงานของคุณ ความรับผิดชอบของคุณ คุณต้องจัดการให้เรียบร้อย จะมาฝาก ขอผัดผ่อน ขอเลื่อน หรือยกเลิกเอาเฉยๆ ไม่ได้เด็ดขาด แต่พอผมมาทำงานกับคนไทยก็เลยเรียนรู้ เข้าใจรูปแบบวัฒนธรรม ค่านิยมของคนไทย ทำให้มีการปรับ ลด ผ่อนผันให้กับพนักงานบ้าง ตามความจำเป็นจริงๆ เป็นกรณีๆ ไป การปรับตัวรับวัฒนธรรม สังคมใหม่ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว อุปนิสัยคนเยอรมันโดยพื้นฐานก็คือ มีความรับผิดชอบสูง พูดคำไหนเป็นคำนั้น และมีวิธีการคิดที่เป็นตรรกะ เป็นระเบียบแบบแผน เป็นขั้นตอน ความซื่อสัตย์และตรงต่อเวลาคือกุญแจสำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งของตนเองหรือร่วมกับผู้อื่นที่ได้ยึดหลักการเดียวกันนี้ ทำให้กิจการของเรามีความน่าเชื่อถือ และสามารถรักษาพันธมิตรทางการค้าไว้ได้ยาวนานทั้งกับกลุ่มลูกค้า และบริษัทพันธมิตรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้กิจการของกลุ่มบริษัท บี.กริม เจริญเติบโตมาได้ยาวนานกว่า 140 ปี ย้อนไปเมื่อ 38 ปีก่อน ตอนที่ผมมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมใช้วิธีค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมใหม่ ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราไม่อยากตาย มีทางเดียวที่จะอยู่รอดได้คือต้องปรับตัว แต่เรื่องแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะบุคคล ว่าจะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างที่ต่างถิ่นได้มากน้อยเพียงใด แล้วแต่บุคลิกและความตั้งใจของแต่ละคน ผมชอบศาสตร์ของการบริหาร อย่างการศึกษาข้อดีหรือจุดแข็งของคน และสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ว่ามีผลต่อคนคนนั้นอย่างไร สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้อีกหรือไม่ แล้วเอาจุดแข็งของแต่ละคนมารวมกัน ผนึกกำลังเพิ่มศักยภาพ เพื่อกลบส่วนด้อย ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่ผู้บริหารทั่วไปไม่ค่อยสนใจ แต่เชื่อไหมว่าพอให้จับผิด หาข้อผิดพลาดของใคร จะกลายเป็นเรื่องถนัดมาก (หัวเราะ) หลักการประสบความสำเร็จในชีวิต ตอนนี้ผมเป็นกรรมการของหอการค้าไทย-เยอรมัน ไม่นานมานี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญผมให้ร่วมเป็นคณะกรรมการในคณะทำงาน ท่านถามว่าคุณ Harald สนใจอยากช่วยเราไหม ผมบอกผมสนใจด้านการศึกษา ตั้งใจว่าจะให้หอการค้าฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเฟ้นหาไอดอลหรือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลายๆ ด้านตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ ให้คนเหล่านี้ไปพูดกับเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ เป็นครั้งคราวสลับหมุนเวียนกันไป ไม่ได้ไปสอนหนังสือ แต่เป็นการนำเสนอหลักการใช้ชีวิตที่ทำให้ประสบความสำเร็จของแต่ละคน และช่วงที่ประสบปัญหาถอดใจ มีวิธีการอย่างไรให้กลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ หลักการหรือวิธีการแก้ปัญหาของไอดอลแต่ละคนอาจจะไปโดนใจ เด็กๆ ไปสร้างแรงบันดาลใจ ให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตของตนให้ไปถึงจุดหมายที่ง่ายและได้ผลกว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบเดิมๆ เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมเรียนหนังสือที่สวิตเซอร์แลนด์ รู้สึกเลยว่า คนสวิสไม่ได้รวยกว่าคนไทยเท่าไรเลยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติก็สู้เมืองไทยไม่ได้เลย เรียกได้ว่าไม่มีเลยด้วยซ้ำ ถึงขั้นที่ผู้ชายต้องไปรับจ้างเป็นทหารตามประเทศต่างๆ ในยุโรป แต่เขาสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ใช้ภูเขา ใช้หิมะ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว มีนโยบายเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ อยากทำเพื่อประเทศไทย เยอรมนีเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ก็เพราะให้เยาวชนนิยมเรียนสายอาชีวะได้ทำงานกับสถานประกอบการจริงก่อนเลือกสาขาวิชาเรียน ผมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อย่างยิ่ง จึงอยากนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้ช่วยพัฒนาประเทศไทย ส่งเสริมให้เด็กสนใจด้านวิชาชีพ และการศึกษาด้านอาชีวศึกษา เพื่อยกระดับชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น เราได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมโครงการต่างๆ ริเริ่มโครงการเยอรมัน-ไทยเพื่อความเป็นเลิศในการศึกษาทวิภาคี โดยขอความร่วมมือจากบริษัทองค์กรต่างๆ เข้ามาช่วยฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนอาชีวะ ให้มีความเป็นมืออาชีพและศักยภาพมากขึ้น โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย (Little Scientist House Project Thailand) ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการนำร่อง ซึ่งสองโครงการนี้กำลังรุดหน้าและขยายไปได้ดี นอกจากนี้เรายังเป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิและโครงการอื่นๆ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนไทย อย่างด้านกีฬา เราก็ช่วยจัดการแข่งขันโปโลเพื่อหาทุนให้โรงเรียนสายวิชาชีพของจิตรลดา สนับสนุนสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย เชื่อว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักกีฬาขี่ม้าและโปโลเก่งๆ มากขึ้นแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยผลักดันนโยบายเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรม สานต่ออย่างมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วยสิ่งเหล่านี้จึงจะบรรลุเป้าหมาย ในฐานะที่ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อและนามสกุลภาษาไทยว่า “นายหรัณ เลขนะสมิทธิ์” และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริยาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตรุถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.) ถือเป็นความภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ประเทศไทยมีบุญคุณต่อผมมากมายทั้งชีวิต ผมรู้สึกอบอุ่น รู้สึกดีกับคนไทยและเมืองไทย เพราะผมรู้ตัวตั้งแต่เด็กแล้วว่า โตขึ้นจะต้องมาอยู่เมืองไทย และที่นี่คือบ้านของผมคลิกอ่านฉบับเต็ม "An Evening with HARALD LINK" ได้ที่ ForbesLife Thailand ที่มาพร้อมกับ Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine