ทวีเวท ศรีณรงค์ : An Entrepreneurial Violinist - Forbes Thailand

ทวีเวท ศรีณรงค์ : An Entrepreneurial Violinist

FORBES THAILAND / ADMIN
01 Dec 2014 | 02:33 PM
READ 2000

ดอกเตอร์หนุ่มด้านไวโอลิน ผู้เกิดวันเดียวกับ Wolfgang Amadeus Mozart นักประพันธ์ดนตรีชื่อก้อง ใช้ความสามารถอันเอกอุ ถ่ายทอดท่วงทำนองบทเพลงบรรเลงจาก 4 สายของไวโอลิน สลายช่องว่างทางความคิด ทำให้ดนตรีคลาสสิกแนบชิดคนส่วนใหญ่ วันนี้เขาคือนักไวโอลินมือต้นของไทย ผู้ผสานสิ่งที่เขารักให้เป็นอาชีพ และธุรกิจที่ยั่งยืน

ทวีเวท ศรีณรงค์ วัย 34 ปี เริ่มเส้นทางชีวิตในครอบครัวดนตรีเข้มข้น บิดาคือ ภูกร (ชื่อเดิม คือ สุทิน) นอกจากจะเป็นครูประจำโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังเป็นนักไวโอลินฝีมือยอด หัวหน้าวง Bangkok Symphony Orchestra ส่วนมารดาคือ ผลทาน ครูสอนโรงเรียนเดียวกับภูกร อดีตนักร้องเพลงสุนทราภรณ์ ของเล่นวัยเด็ก ไม่ได้อยู่แค่หุ่นยนต์ รถบังคับ แต่ยังรวมถึงไวโอลินที่บิดาสะสมไว้ ด้วยความซุกซนเขาจึงหยิบมาเล่นจนพัง แต่ภูกรก็ไม่ถือสา กระทั่งเห็นแววในตัวลูกชาย จึงช่วยฝึกฝนทักษะการเล่น ประกอบกับทวีเวทมีใจรัก จึงพัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว จนได้ร่วมวง Asian Youth Orchestra ด้วยใจรักดนตรีคลาสสิก ชายหนุ่มในวัย 15 ปี สอบเข้า Purcell School โรงเรียนดนตรีชั้นนำใน London ประเทศอังกฤษ พร้อมได้ทุน  HM Queen Elizabeth the Queen Mother จาก British Council ตามด้วย Royal Academy of Music แต่กลับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เงินปอนด์กระโดดจาก 30 เป็น 100 บาท  ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงพระราชทานทุนส่วนพระองค์ ให้ทวีเวทได้เรียนจนจบการศึกษา คว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 1 พร้อมควบ Graduate Diploma สาขา Performance  หลังใช้ชีวิตที่อังกฤษ 8 ปี นักไวโอลินหนุ่มตัดสินใจไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนปริญญาโทที่ Yale School of Musicและปริญญาเอกที่ Stony Brook University "ผมอยากจะไปเป็นในสิ่งที่ผมอยากเป็น มันคือชีวิตของผม หลายคนถามว่า เรียนเสร็จแล้วจะไปทำอะไร เป็นครูสอนดนตรีหรือ แต่ผมอยากเป็นนักดนตรี เป็น performer ทั้งที่ไม่รู้หรอกว่าจะหาเงินได้มากน้อยแค่ไหน แค่ได้ทำในสิ่งที่รักก็พอ" ในวันหนึ่ง ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับละครค่าย Exact ชักชวนทวีเวทและน้องสาวคือ อุทัยศรีและพินทุสร มาทำดนตรีด้วยกันในนาม VieTrio ออกอัลบั้ม Miracle ในปี 2551 จนประสบผลสำเร็จ ด้วยเพราะย่อยดนตรีคลาสสิกให้ฟังง่าย นำมาผสมผสานกับเพลงป็อป จนกลายเป็น brand identity มานับแต่นั้น จนทุกวันนี้มีงานแสดงเฉลี่ย 6-8 ครั้งต่อเดือน ค่าตอบแทนครั้งละ 100,000 – 120,000 บาท เมื่อ VieTrio มี branding ของตนเอง เริ่มเป็นที่จดจำ ปี 2552 ครอบครัว “ศรีณรงค์” จึงลงทุนร่วม 2 ล้านบาท เปิดโรงเรียนสอนดนตรี VieMus โดยมีสามพี่น้องเป็นกำลังหลักในการสอน ร่วมด้วยครูมากประสบการณ์อีกกว่า 10 คน  ทวีเวทยังแตกหน่อธุรกิจเป็น organizer จัดนักเรียนดนตรีไปเล่นตามงานต่างๆ รวมทั้งเชิญนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาเล่นในเมืองไทย พร้อมกับมองลู่ทางจัดจำหน่ายเครื่องดนตรี ทำไวโอลินที่เป็นแบรนด์ของตนเอง ในระดับ premium product ราคาตั้งแต่ 50,000 – 250,000 บาท “สุดท้ายผมได้ทำในสิ่งที่รักทั้งหมด ตื่นมาทำ ง่วงก็นอน ดนตรีผูกพันกับชีวิตผมตลอดเวลา ผมมีความสุขกับดนตรี ผมพูดได้ทั้งวันเลยถ้าคุณอยากฟัง”

ติดตาม "ทวีเวท ศรีณรงค์: An Entrepreneurial Violinist" ฉบับเต็มใน Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2014