ตระกูล 'หวั่งหลี' ชุบชีวิต 'ล้ง 1919' ตำนานท่าเรือกลไฟ 167 ปีแห่งคลองสาน - Forbes Thailand

ตระกูล 'หวั่งหลี' ชุบชีวิต 'ล้ง 1919' ตำนานท่าเรือกลไฟ 167 ปีแห่งคลองสาน

ทันทีที่ รุจิราภรณ์ หวั่งหลี เจ้าของบริษัทออกแบบภายใน พี ไอ เอ อินทิเรีย ทำการล้างสีที่ปิดทับตัวตึกในที่ดิน ฮวย จุ่ง ล้ง ของตระกูลออกก็พบว่า ภายในมีภาพวาดแบบจีนเขียนอยู่อย่างชดช้อยบนผนัง เธอทราบในทันทีว่าตึกเก่าที่ต้องการจะบูรณะแห่งนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ยิ่งไปกว่าที่คาด

Forbes Thailand มีโอกาสพูดคุยกับ ศรัณฐ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการ ล้ง 1919 ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นยิ่งของงานเปิดตัว ล้ง 1919 อย่างเป็นทางการ โดยมีแขกทั้งนักธุรกิจชื่อดังของไทยและดาราคนดังร่วมงานอย่างคับคั่ง  
ศรัณฐ์ หวั่งหลี ลูกชายของสุจินต์-รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ศรัณฐ์ ลูกชายของรุจิราภรณ์ รุ่น 5 ของตระกูลหวั่งหลีที่เป็นผู้นำร่วมกับมารดาในการบูรณะ ฮวย จุ่ง ล้ง เล่าความเป็นมาของที่ดินเก่าแก่ผืนนี้ว่า ที่นี่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2393 หรือเมื่อ 167 ปีก่อน โดย พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) เพื่อเป็นท่าเรือกลไฟขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ไทยในชื่อ ฮวย จุ่ง ล้ง พื้นที่บริเวณคลองสานเนื้อที่ 6 ไร่ตรงข้ามกับถนนทรงวาด-เยาวราชแห่งนี้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าข้าวไทยกับสินค้าจีน เช่น ใบชา ผ้าไหม เครื่องกระเบื้องเคลือบแบบจีน ที่ดินตกทอดในตระกูลของพระยาพิศาลศุภผล จนกระทั่ง ตันลิบบ๊วย รุ่น 2 ของตระกูลหวั่งหลีซึ่งมีบ้านในที่ดินติดกันต้องการหาพื้นที่สำหรับสร้างโกดังค้าข้าว จึงได้ซื้อที่ดิน ฮวย จุ่ง ล้ง มาในปี 2462 กว่า 40 ปีที่ ฮวย จุ่ง ล้ง มีชีวิตในฐานะคลังข้าวสำคัญของหวั่งหลีและมีการปลูกตึก 2 ชั้นอย่างที่เห็นในปัจจุบันเพื่อเป็นที่อยู่ของคนงาน "สมัยก่อนเราอยู่กันแบบกงสี หมายถึงกงสีแบบโบราณจริงๆ ที่คนงานทุกคนจะกินอยู่กับเรา มีห้องนอนส่วนตัว แต่จะใช้ห้องน้ำรวมและครัวรวม ทำอาหารชุดใหญ่ทานร่วมกัน" ศรัณฐ์กล่าว
สภาพอาคารของ ฮวย จุ่ง ล้ง ที่ทรุดโทรมก่อนที่จะได้รับการบูรณะ
  ต่อมาท่าเรือคลองเตยกำเนิดขึ้นและกลายเป็นศูนย์รวมการขนส่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ ฮวย จุ่ง ล้ง ลดความสำคัญลงและเลิกดำเนินการมากว่า 50 ปี ครอบครัวหวั่งหลีจึงปล่อยเช่าห้องพักคนงานให้คนทั่วไปเช่า ตั้งแต่ยุคที่อัตราค่าเช่าเริ่มเพียง 25 บาทต่อเดือนจนถึง 800 บาทต่อเดือน ทว่า สภาพตึกที่ไม่ได้รับการบำรุงทรุดโทรมลงอย่างมาก ครอบครัวจึงตัดสินใจระงับการปล่อยเช่าเมื่อปี 2558 ขณะเดียวกัน บริเวณริมน้ำเจ้าพระยาในช่วงนั้นก็เริ่มกลับมาเจริญขึ้นด้วยโครงการต่างๆ อาทิ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, ท่ามหาราช, ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค, ไอคอนสยาม รุจิราภรณ์ มองว่าพื้นที่นี้สามารถสร้างประโยชน์ได้จึงเป็นผู้นำเสนอในครอบครัวซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันว่าควรพัฒนาโครงการบนที่ดิน ฮวย จุ่ง ล้ง โดยอาจจะเป็นโรงแรม ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะพัฒนาเป็นโครงการแบบใด เธอก็ลงมือล้างสีที่ทาทับผนังออกก่อนเพราะไม่ว่าจะดัดแปลงเป็นโครงการแบบใด ขั้นตอนแรกที่ต้องทำก็คือ การล้างสี
การซ่อมและบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังของล้ง 1919
  "เราไม่เคยคิดว่าจะมีการทุบตึก เราคิดว่าการใช้โครงสร้างเดิมแต่เสริมความแข็งแรงจะง่ายกว่า แต่พอล้างสีออกก็พบว่ามีภาพเขียนสีแบบจีนอยู่ด้านในโดยที่เราก็ไม่เคยทราบมาก่อน ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจทาสีขาวทับลงไปทั้งอย่างนั้น แต่กลายเป็นเรื่องดีที่ทำให้ภาพเหล่านี้อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน ทางครอบครัวจึงมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาที่นี่เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องการบูรณะอนุรักษ์ให้ตรงกับของเดิมมากที่สุด" ศรัณฐ์กล่าว
จิตรกรรมฝาผนังที่ ล้ง 1919
เมื่อมีภาพเขียนอายุร่วมร้อยปีประกอบกับอาคาร รุจิราภรณ์ ตระหนักถึงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ที่มากยิ่งขึ้นและสรุปแนวคิดได้ว่าจะบูรณะที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เพื่อให้สังคมได้ศึกษาและสัมผัส โดยเธอเป็นแม่งานจัดตั้ง บริษัท ซิโน พอร์ท จำกัด ซึ่งมี บริษัท หวั่งหลี จำกัด ถือหุ้น 30% และอีก 70% เป็นการถือในนามบุคคลของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเฉพาะกลุ่มที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยและผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่สนใจโครงการ บริษัทซิโน พอร์ท ได้ลงทุนหลักร้อยล้านบาทเนรมิตคืนชีวิตที่นี่ในนาม ล้ง 1919
รุจิราภรณ์ หวั่งหลี สะใภ้ตระกูลผู้เป็นแม่งานใหญ่ในการพัฒนาโครงการ ล้ง 1919
  “ตรงนี้อยากให้คนมองเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ส่วนบุคคลที่เปิดให้คนเข้ามาสักการะ ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว เข้ามาดูสถาปัตยกรรมที่ยังเหลือ และเราก็มีร้านค้าของสวยงามอีก 6-7 ร้านที่เหมาะกับสถานที่เข้ามาเปิด เป็นร้านขายงานฝีมือและศิลปะ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าเครื่องประดับ เครื่องหอม และมีร้านอาหารอีก 4 ร้าน นอกจากนี้ก็มีสถานที่จัดอีเวนท์ทั้งในร่มและกลางแจ้ง ที่นี่จะสร้าง character ที่แตกต่างให้กับการจัดแสดงสินค้า เช่น ถ้าคุณจัดแสดงรถยนต์ที่ไบเทคก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ถ้ามาที่ล้งก็จะได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง และเราก็เปิดรับการจัดงานอีเวนท์เทศกาลออกร้านต่างๆ ด้วย” ศรัณฐ์ กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจแล้วครอบครัวไม่ได้คาดหวังการทำกำไรมหาศาลกับล้ง 1919 เพียงต้องการให้พื้นที่คืนสู่สังคมและสร้างประโยชน์ได้มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งปล่อยเช่าห้องพักทั่วไป จึงไม่ได้มีการติดต่อบริษัททัวร์เป็นกิจจะลักษณะ โดยคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนราว 12% ต่อปีและสามารถคืนทุนได้ใน 5 ปี ที่สามารถคืนทุนได้เร็วเนื่องจากการลงทุนทั้งหมดไม่มีการขอสินเชื่อจึงปลอดดอกเบี้ย
บรรยากาศในโครงการ
“เราไม่รู้จริงๆ ว่ากลุ่มลูกค้าจะเป็นใคร แต่คาดหวังให้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบ FIT (นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง) เข้ามา และหวังว่าทัวร์จะเห็นว่าล้ง 1919 เหมาะเป็นจุดแวะพัก” ศรัณฐ์กล่าวปิดท้าย ทั้งนี้ ล้ง 1919 บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน เปิดบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. 60 เวลา 8.00-22.00น. สามารถเดินทางมาโดยใช้บริการเรือข้ามฟากท่าเรือสวัสดี-ท่าเรือวัดทองธรรมชาติ/หวั่งหลี หรือโดยรถส่วนตัว
โครงการล้ง 1919 ได้รับเกียรติจาก กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขึ้นกล่าวปาฐกถาเปิดงานอย่างจับใจถึงคุณค่าของการอนุรักษ์สถานที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ
 
ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว
 
โครงการล้ง 1919 จากมุมมองทางอากาศ