Masterpiece OF SIAM ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมโบราณ - Forbes Thailand

Masterpiece OF SIAM ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมโบราณ

FORBES THAILAND / ADMIN
21 Nov 2016 | 06:45 PM
READ 15194

ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล มองอดีต เพื่อเห็นอนาคต กับบางเสี้ยวส่วนของเกร็ดข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากนักสะสมชิ้นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่แสนภาคภูมิใจในความเป็น ‘ไทย’

ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย ประโยคสุดคลาสสิกที่เหล่านักประวัติศาสตร์จำได้ขึ้นใจ เสน่ห์ของประวัติศาสตร์ที่ทำให้ผู้ที่ได้เข้าใกล้หลงใหลและหลงรักษ์ เราจึงเดินทางไปยังเรือนไทยประยุกต์ บ้านอะกาลิโก ในซอยสุขุมวิท 51 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมโบราณที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 600 ปี กับ หม่อมหลวงภูมิใจ ชุมพล ผู้สืบเสื้อสาย 3 ราชสกุลได้แก่ ชุมพล, ภาณุพันธุ์ และจิตรพงศ์ ซึ่งต้นราชสกุลชุมพล คือ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ต้นราชสกุลภาณุพันธ์ คือ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ราชทูตพิเศษในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต้นราชสกุลจิตรพงศ์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอนุชา (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี)
ย้อนกลับไป ม.ล.ภูมิใจ ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษมาตั้งแต่อายุ 11 ปี ด้วยบรรยากาศรอบตัวล้วนอบอวลไปด้วยกลิ่นอายประวัติศาสตร์ จากข้อมูลอยู่ในตำราสามารถเดินออกไปเห็นของจริงด้วยตาตัวเองได้เลย โรงเรียนที่อยู่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) ซึ่งมีอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังได้ไปยังปราสาทเก่าๆ พร้อมกับเพื่อนๆ ในคณะประสานเสียง (Choir) ของโรงเรียนด้วย หลังจากจบปริญญาโทด้านการออกแบบที่มหาวิทยาลัยเซนทรัล เซนต์ มาร์ติน ลอนดอน แล้วท่านก็ได้เป็นทั้งอาจารย์ นักออกแบบตกแต่งสวน นักออกแบบตกแต่งภายใน ที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมนักเขียนเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรม เขียนคอลัมน์ประจำให้นิตยสารอนุรักษ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิหม่อมหลวงภูมิใจ แม้ปัจจุบันนี้ ม.ล.ภูมิใจจะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษพอๆ กับประเทศไทย ทว่าหัวใจของท่านอยู่ที่แผ่นดินสยามทุกลมหายใจ บทบาทครูและที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์หลังจากเรียนจบแล้วมีช่วงหนึ่งที่ม.ล.ภูมิใจ ได้ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ตอนนั้นผมอายุประมาณ 21-22 ปี ก็อายุพอๆ กับนักศึกษาที่สอน การไปสอนหนังสือครั้งนั้นกลับกลายเป็นว่าผมได้ไปเรียนหนังสือด้วย ก็สนุกกันใหญ่ ระหว่างที่ผมไม่ได้สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ก็ไปเข้าเรียนวิชาอื่น ได้ไปเอาติ้ง ขึ้นรถกระบะไปวัดโน้นวัดนี้ในตอนนั้นเหมือนผมได้กลับไปใช้ชีวิตแบบสมัยเด็กนักเรียนอีกครั้ง และก็มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องล้านนาไทย ก่อนหน้านี้ผมไม่มีความรู้เรื่องล้านนาไทยเลย ก็ได้อาจารย์ที่ม.เชียงใหม่ช่วยสอน” ม.ล.ภูมิใจกล่าว นอกจากบทบาทด้านการสอน ม.ล.ภูมิใจ ยังถ่ายทอดข้อมูล รวมไปถึงเขียนบทความต่างๆ ผ่านนิตยสารและหนังสือในหลายฉบับ “คอลัมน์แรกที่ผมทำในชีวิต คือ The New York Times เขาอยากทำอะไรเกี่ยวกับเมืองไทย ซึ่งตอนแรกเลยเขาก็อยากทำเรื่องกรุงเทพฯ ผมก็ลองเสนอว่าไปทำอะไรใหม่ๆ กันดีกว่า ไปเที่ยวเพชรบุรีกันแล้วก็ได้ทำเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดเพชรบุรี ผมก็ได้พาเดินพาเที่ยวให้ข้อมูลทุกอย่าง พาไปเมืองเพชรบุรี ไปที่เขาวัง ตอนนั้นก็ยังไม่รู้เยอะ เพราะเด็กมาก อายุ 22 ปี เหมือนเราเป็นไกด์หรือผู้นำเที่ยว ผู้นำศึกษาเมืองไทย ตอนนั้นก็ตื่นเต้นมาเพราะว่าสนุกดี” ม.ล.ภูมิใจกล่าว
เครื่องเขินภานุรังษีจะต้องมีประทับตราพระอาทิตย์ทอแสงขึ้นจากท้องน้ำ และระบุพ.ศ. 2459 เอาไว้ทุกชิ้น
สำหรับกฎเหล็กในการเขียนงานของม.ล.ภูมิใจนั้นมีอยู่ว่า ท่านจะไม่เขียนอะไรที่ทำให้คนต้องเสียใจอย่างเด็ดขาด จะเน้นบอกเล่าหรือถ่ายทอดออกมาในมุมบวกเป็นหลัก “การเขียนหนังสือจริงๆจังๆ ทำให้ผมต้องค้นคว้ามากขึ้น ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ด้วยความที่เราเป็นแค่เพียงผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ก็พยายามให้ข้อมูลที่เขียนออกมาผิดพลาดน้อยที่สุด ก็มีโอกาสได้เอาของใกล้ตัวมาเขียนอยู่เรื่อยๆ อย่างเช่นของบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะภาพพิมพ์เกี่ยวกับสยาม ภาพพิมพ์พม่า ถมจุฑาธุช เครื่องเขินเชียงใหม่ซึ่งเป็นเครื่องเขินที่สมเด็จทวด สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ทรงมีพระดำริให้สร้างขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2459 ซึ่งปีนี้ก็ครบ 100 ปีพอดี นับเป็นการสั่งทำเครื่องเขินจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย ปัจจุบันก็กระจายไปอยู่ตามวัดต่างๆ ด้วยพระองค์ทรงสั่งทำเพื่อถวายวัด ที่มีอยู่ก็เหลือนิดเดียว” ม.ล.ภูมิใจกล่าว นอกเหนือจากของโบราณที่บรรพบุรุษส่งต่อกันมาไม่ว่าจะเครื่องเขิน เครื่องเคลือบ เครื่องมุก ผ้าโบราณ ตาลปัตร ภาพถ่ายโบราณ ฯลฯ ม.ล.ภูมิใจยังสะสมภาพประวัติศาสตร์อาทิ ภาพพิมพ์ซึ่งถือว่าเป็นภาพเกี่ยวกับเกาะอยุธยา ซึ่งมีสะสมหลายเวอร์ชั่น ส่วนใหญ่จะมีภาพของคณะสำรวจท่านทูตลา ลูแบร์ และภาพผังเมืองอยุธยา เป็นภาพเกี่ยวกับผังวัดต่างๆ
ภาพแรกสุดของกรุงเทพฯ เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา วาดจากวัดอรุณ โดยศิลปินที่มากับทูตการะฟัดในช่วงรัชกาลที่ 2
ภาพเหมือนแรกของกรุงเทพฯ ของ การะฟัด หรือ เซอร์ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตจากประเทศอังกฤษที่เข้ามาเมืองไทย มาพร้อมกับศิลปินเพื่อมาวาดกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่มีการเดินทางครั้งใหญ่ๆ คณะราชทูตหรือคณะสำรวจก็จะเอาศิลปินไปด้วย หรือในบางครั้งราชทูตเองที่เป็นศิลปินวาดรูปได้สวย อาทิ เซอร์ พีเตอร์ พอลล์ รูเบิ้นส์
ภาพราชทูตสยามวาดโดยเซอร์พีเตอร์ พอลล์ รูเบิ้นส์ เมื่อค.ศ.1636 ปัจจุบันภาพจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งม.ล.ภูมิใจมีภาพนั้นเช่นกัน ทว่าเป็นภาพพิมพ์แบบเอนแกรฟวิ่งที่สร้างเมื่อค.ศ.1774 โดยศิลปินมีชื่อเสียงของอังกฤษในยุคนั้นนามว่ากัปตัน วิลเลี่ยม เบย์ลี่ย์
จากชิ้นแรกจนถึงวันนี้รวมแล้วมีนับหมื่นชิ้น จากภาพพิมพ์ หรือชิ้นข่าวเก่าๆ ที่เก็บมาโดยยังไม่ได้คิดว่าจะนำไปทำอะไร สุดท้ายแต่ละชิ้นก็ได้นำมาใช้ประโยชน์เกือบหมดเลย คนไทยก็เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก ในขณะที่หลายๆ คนยกย่องและชื่นชมในความเก่งกาจของนักคิด นักบริหารชาวตะวันตก แต่ในหน้าประวัติศาสตร์หลายร้อยปีนั้น ม.ล.ภูมิใจมั่นใจว่าบรรพบุรษไทยของเราอัดแน่นไปด้วยความสามารถซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวตะวันตกเลย “บรรพบุรษของเราเก่งจริงๆ เก่งที่สุด ในทุกๆ ด้านเท่าที่จะมีให้เก่ง เราไม่ได้มีระบบการศึกษาที่ยาวนานพันปีเหมือนยุโรป แต่เท่าที่เข้ามาและปรับใช้เราก็สามารถเอาตัวรอดกันมาได้ ไม่อย่างนั้นเราคงไปหมดแล้ว ทั้งนี้ก็ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มันไม่มีอะไรทีคงที่แต่ถ้าเราดูประวัติศาสตร์เราจะเข้าใจ มันเป็นธรรมะ เป็นธรรมชาติ ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน การที่เราศึกษาประวัติศาสตร์จะทำให้เราพอคะเนได้ว่าประเทศชาติของเราจะไปทางไหน โลกของเราจะไปทางไหน เพราะประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย ซึ่งฝรั่งเขาจะบอกว่า “History repeats itself” มันมักจะวนกลับมาเหมือนเดิม มีเรื่องเดิมๆเกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นประโยคที่แปลกมาก ซึ่งก็ตรงกับเรื่องของกรรมที่ศาสนาพุทธได้บอกไว้”   เรื่อง: มานู สะตี ภาพ: สัญญา ธาดาธนวงศ์
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "Masterpiece OF SIAM ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ผ่านของสะสมโบราณ" อ่าน ForbesLife Thailand Luxury Travel ฉบับพิเศษประจำเดือนกันยายน 2559 ในรูปแบบ e-Magazine