Jonas Dept ทำนองเพลงแห่งอิสระของการใช้ชีวิต - Forbes Thailand

Jonas Dept ทำนองเพลงแห่งอิสระของการใช้ชีวิต

Jonas Dept เป็นหนึ่งนักเปียโนระดับอาชีพชาวต่างชาติไม่กี่รายที่อาศัยและใช้ชีวิตในประเทศไทย ตลอดเวลาที่เขาเล่าเรื่องราวฉากชีวิตผ่านการฝึกฝนอันเข้มข้นสู่นักเปียโนและนักประพันธ์เพลงมืออาชีพ สิ่งที่เราได้ซึมซับคือความมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับเปียโนที่เขารัก

“ผมเกิดและโตเบลเยี่ยมแต่ย้ายมาอยู่เมื่อไทยราวๆ 13 ปีก่อนที่เชียงใหม่” Jonas Dept ชาวเบลเยียม ทักทายอย่างยิ้มแย้มกับทีม Forbes Thailand พร้อมๆ กับเลือกเปียโนหลังต่างๆ ภายในโชว์รูม Peterson the Piano Gallery ถนนสุขุมวิท 26 เพื่อเลือกเสียงที่ใช่สำหรับการสัมภาษณ์ในวันนี้

-จุดเริ่มต้นการเล่นเปียโน-

Jonas Dept ในวัย 7 ขวบ เริ่มต้นกับเปียโนค่อนข้างเร็วและโดยบังเอิญ ตามที่เขาเรียกว่า “โชคดีโดยบังเอิญ” เพราะเมื่ออาของเขาย้ายออกจากบ้านและทิ้งเปียโนทิ้งไว้ ขณะเพื่อนบ้านที่สอนให้เขาเล่นเปียโนเดินมาบอกให้แม่ของเขาหาครูสอนเปียโนที่ดีให้กับเขา จนกระทั่งเข้าวัย 13 ปี เขาได้รับการฝึกฝนที่เข้มข้นเมื่อเปลี่ยนครูผู้สอนและเป็นครูชาวเบลเยี่ยมคนนี้ที่ได้มอบแรงบันดาลใจสำคัญให้เรียนรู้เรื่องของดนตรีแบบที่ไม่เหมือนใคร ทุกวันหลังเดินทางกลับเรียนเขาต้องฝึกซ้อมเปียโนในช่วงค่ำและทุกสุดสัปดาห์เขาจะไปคลุกอยู่กับบ้านครูเปียโนกับนักเรียนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่กี่คน สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากครูท่านนี้คืออีกขั้นของดนตรี เขาได้รับการสอนให้คิดแบบที่ศิลปิน ทำในแบบที่อัจฉริยะทำ เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกซ์ อะคูสติก ประวัติศาสตร์ ศิลปะแขนงต่างๆ ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกใบนี้ โดยมีเปียโนเป็นแกนหลักในการเรียนในทุกมิติ อาทิ ความรู้เกี่ยวกับสายเปียโน การสื่อสารกับผู้ฟัง การซึมซับการแสดง การเล่นบทเพลงกับผู้ฟังให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงโจนาสที่ยังเดินทางในเส้นทางศิลปินกระทั่งปัจจุบัน “โชคดีมากที่ได้มีโอกาสวันหยุดสุดสัปดาห์ในการเรียนรู้เปียโนไม่ใช่เพียงอาทิตย์ละชั่วโมง ทำให้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี ศิลปะ” Jonas Dept กล่าว การฝึกฝนอย่างหนักของเขาใช้เวลาราว 3 ปี เพื่อเตรียมการสอบคัดเลือกเข้าเรียนที่ Royal Conservatory of Brussels โดยเขาเลือกเรียนหลักสูตร Solo Piano Performance สำหรับการทดสอบคัดเลือกกินเวลายาวนานราว 3 สัปดาห์ ซึ่งในแต่ละสัปดาห์จะมีแบ่งการทดสอบระหว่างทฤษฎีและปฎิบัติต่างกันออกไป “ผมสอบไม่ผ่านในปีแรกจึงกลับมาฝึกฝนอย่างหนักและกลับไปสอบอีกครั้งและผ่านแบบสบายๆ” Jonas กล่าว  กล่าวถึงการสอบตกในครั้งแรกในสัปดาห์แรกด้าน ทฤษฎีดนตรีเมื่อวัย 17 ปี การสอบสัปดาห์แรกนั้นเกี่ยวข้องทฤษฎีดนตรีที่ให้ผู้สอบฟังคนเล่นเปียโนและเขียนออกมาทุกตัวโน๊ต บางข้อทดสอบโดยการอ่านโน๊ตที่ไม่เคยเห็นเเล้วเล่นในทันที ซึ่งโน๊ตเพลงเหล่านั้นเป็นโน๊ตไม่เคยเห็นมาก่อนหรือได้ซ้อมมาก่อน ขณะที่สัปดาห์ที่สองเป็นส่วนของการเล่นแสดงทดสอบซึ่งเขายังไปไม่ถึง โดยในปีนั้นมีนักเรียนเข้าสอบอยู่ที่ราว 150 คน โดยมีผู้ที่สอบผ่านราว 40 คน ที่ได้รับเลือก Jonas Dept หลังจากล้มเหลวในครั้งแรกเขาใช้เวลาฝึกฝนอีก 2 ปี เรียนโรงเรียนสอนดนตรีเพิ่มเติม ฝึกเรียนบทเพลงมากถึง 200 บทเพลง และสามารถสอบผ่านในที่สุด ซึ่งตอนจบของการศึกษาในรุ่นของเขามีเพียงนักเปียโน 7 คนเท่านั้นที่จบ โดย 3 คนเป็นชาวเบลเยียมและอีก 4 คนจากทั่วโลก แม้การเรียนที่ Royal Conservatory of Brussels จะหนักหนาสำหรับคนที่ผู้ที่ต้องการฝึกฝนเพื่อเป็นมืออาชีพ แต่ท้ายที่สุดแล้วนั้น ประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหมด ได้เปลี่ยนเป็นความสำเร็จและเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นของนักเปียโน ครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสแสดงเปียโนที่ Botanical Garden of Brussels ท่ามกลางบรรยากาศ และสถานที่ซึ่งประกอบไปด้วยเรือนกระจก ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในทุกปีสถานที่แห่งนี้จะมีการจัดแสดงเทศกาลดนตรีเพื่อเยาวชน และนี้เป็นการแสดงแรกที่มีผู้ฟังมากถึง 2,000 คน “การแสดงเปียโนครั้งนั้น ก่อเกิดอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งประหม่า ตื่นเต้น และหวาดกลัว แต่เมื่อการแสดงเริ่มต้น สายลมที่ปะทะร่างกาย เสียงความเงียบสงบจากฝูงคน ดนตรีที่ผมบรรเลงออกไป การรับฟังของผู้ชม ได้หยุดเวลารอบตัวแบบนิ่งสนิท และด้วยความรู้สึกสมบูรณ์นี้ ผมคิดว่าคือจุดเริ่มต้นการทำงานบนถนนดนตรี”  

-เดินทางสู่ประเทศไทย-

หลังจากเรียนจบ เขาไม่เข้าสังกัดหรือเล่นเปียโนเป็นประจำ ทำให้เขาสามารถเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเล่นดนตรี ขณะที่นักเปียโนเองยังเป็นที่ต้องการในทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อแข่งขัน เวิร์คช็อปต่างๆ การเล่นโชว์ จนกระทั่งเขาตัดสินใจเดินทางตามคู่รักที่มาสอนภาษาอังกฤษที่จังหวัดเชียงใหม่ “บังเอิญโดยโชคดีอีกครั้ง” เขากล่าว หลังตลอด 7 ปีของการเรียนเปียโนที่ Royal Conservatory of Brussels และการเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกลับการกำกับวงออเคสตร้า ในช่วงนั้นเขาเพิ่งจบการศึกษาได้ไม่นาน และยังไม่มีแผนสำหรับชีวิต พร้อมกับที่คนรักของเขาที่เบลเยียมเดินทางมายังประเทศไทย ขณะที่เอเชียหรือประเทศไทยเองเขายังไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวมาก่อน “ตอนแรกผมคิดว่าอาจจะอยู่สักไม่กี่เดือน เพื่อผ่อนคลายและวางแผนสำหรับอนาคตนักเปียโน ขณะที่ประเทศไทยถ้ามองเแบบเร็วๆ มีนักเปียโนชาวต่างชาติไม่มากนักซึ่งอาจจะเป็นโอกาสที่ดี ในการใช้ชีวิตในประเทศไทย และส่วนสำคัญคือเขารักทุกสิ่งๆ ที่เป็นประเทศไทย” เขาเดินทางมายังเชียงใหม่และได้มีโอกาสเป็นครูสอนเปียโนที่ SAINT MARIA Chiangmai School ราว 9 เดือน ระหว่างการสอนมีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นขณะที่ปลายสายสนทนากล่าวว่า “ดิฉันหม่อมหลวงปรียพรรณ คุณต้องการจะเล่นเปียโนให้กับนักเรียนบัลเล่ต์ของเราไหม นักเรียนเราไม่มีนักเปียโนที่จะมาเล่นเพื่อการทดสอบประจำปี” หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช จาก CHIANGMAI BALLET ACADEMY เชิญชวนเขาไปเล่นเปียโนให้กับคณะบัลเล่ต์ Jonas Dept สำหรับความต่างระหว่างเปียโนที่เขาเรียนมากับการเล่นเปียโนกับนักบัลเล่ต์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เขาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าการแสดงเดี่ยวเปียโน มีแค่ตัวเขา เปียโน และแบ่งปันเสียงเพลงให้ผู้ฟัง แต่สำหรับบัลเล่ต์ขณะที่เล่นต้องดูการแสดงของนักบัลเล่ต์ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เต้นช้า ช่วงที่เร่งจังหวะเร็วขึ้น ช่วงที่หมุนตัว เพื่อให้จังหวะเปียโนเป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย แม้ Jonas ตอบกลับไปว่าเขาไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการเต้นบัลเล่ต์และไม่มีประสบการณ์การเล่นเปียโนให้กับนักบัลเล่ต์มาก่อน แต่ท้ายที่สุดเขาตัดสินใจมาเล่นเปียโนเพื่อประกอบการสอบให้กับนักเรียน ซึ่งทำให้เขาต้องซ้อมบทเพลงมากมาย และเมื่อการสอบเสร็จสิ้น เขายังตอบรับรับการทาบทามให้มาเล่นเปียโนให้ในปีต่อๆ ไป “ในฐานะนักเปียโนต้องเล่นและรู้บทเพลงเป็นพันๆ เพลง การเล่นเปียโนที่เชียงใหม่ จึงเป็นโอกาสอันดีให้เขาเล่นบทเพลงที่หลากหลายและราว 2 ปีต่อมาผมจึงโทรไปหาตัวแทนศิลปินในอังกฤษให้ยกเลิกการหางานให้กับเขาเนื่องจากได้เรียนรู้บทเพลงเพียงพอแล้ว”  

-สร้างผลงานดนตรี-

สำหรับจุดเริ่มต้นของการสร้างอัลบัมแรกเกิดขึ้นโดยบังเอิญอีกเช่นกัน เริ่มต้นจากแผนที่เขากับนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสต้องการสร้างงานแสดงเปียโนกับวงออเคสตร้า หลังจากที่เพื่อนของเขาได้รับเงินทุนจากผู้สนับสนุนจากประเทศฝรั่งเศส Jonas จึงเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อหาห้องบันทึกเสียงสำหรับวงออเคสตร้า เขาได้จองห้องอัดไว้ 3 เดือนเพื่อการเตรียมตัวในการบันทึกเสียง แต่โชคไม่ดีเมื่อวงออเครสตร้าไม่สามารถเล่นกับเราได้ทำให้โครงการดังกล่าวมีอันต้องยกเลิก เขาจึงตัดสินใจสร้างอัลบัมแรกในชีวิตของตนเอง โดยนำบทเพลงที่เขาได้เคยแต่งคาไว้ ยังไม่เคยเล่นให้ใครฟัง มาจัดการทำให้สำเร็จ และหาทุนสำหรับทำอัลบัมดังกล่าว “นี้คือช่วงเวลาสำคัญที่ผมต้องทำเพลงให้สำเร็จ ผมได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวการใช้ชีวิต เกี่ยวกับโลกใบนี้ เอาบทเพลงเก่าๆ ที่เคยแต่งไว้นำไปผสมผสานเสียงต่างๆ ในประเทศไทย ชีวิตในไทย ในกรุงเทพฯ​” Jonas กล่าวและเสริมว่า “สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการทำอัลบัมคือจบเพลงให้ได้ บางครั้งเราก็อยากทำให้เพลงได้ดีขึ้น สั้นลง ยาวขึ้น ใส่หรือถอดรายละเอียดเข้าไปในเพลง มันยากที่จบเพลงให้ได้ บางครั้งเราจะต้องให้คนอื่นมาบอกว่าสิ่งที่ทำมันดีแล้ว” ในที่สุดอัลบัมแรกของเขาวางแผงบนดิจิทัลแพลตฟอร์มเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บน Apple Music, Spotify เป็นต้น ซึ่งนอกจากงานเพลงแล้ว ปัจจุบันเขายังมีรายได้จากงานอีเว้นต์ งานสังสรรค์ งานจัดแสดงแฟชั่นต่างๆ ที่ต้องการงานเพลงที่มีความแตกต่าง บางแบรนด์ให้เขาออกแบบเพลงที่เหมาะกับงานนั้นๆ Jonas Dept

-นักเปียโนที่ดีต้องมี-

จากประสบการณ์การสอนเปียโนและความช่ำชองในอุปกรณ์เปียโน เขามองว่าคนจำนวนมากที่คิดจะเล่นเปียโนส่วนมากคิดเกี่ยวกับเฉพาะตัวเปียโน แต่สิ่งที่สำคัญซึ่งยากที่สุดและต้องใช้เวลาเรียนรู้ยาวนานที่สุดนั่นคือ "บทเพลง" การเข้าใจบทเพลง การเข้าใจความหมายขององค์ประกอบบทเพลง และอีกส่วนที่สำคัญคือการฝึกฝนด้านเทคนิค สิ่งที่เขาอยากแนะนำกับคนที่อยากจะเล่นเปียโนคือการโฟกัสในการเรียนรู้บทเพลงไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านหนังสือ เรียนจากเสียงเพลงในหัว เรียนจากเสียงเพลงด้วยหัวใจ และนักเปียโนที่ดีต้องหูที่ดี ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ บางคนอาจใช้เวลายาวนาน บางคนอาจใช้เวลาเร็ว ซึ่งยิ่งฝึกตั้งแต่เด็กยิ่งดี สำหรับนักเปียโนต้นแบบของเขา เขาชื่นชม นักเปียโนชาวรัสเซียจากยุค 60–80 อาทิ Emil Gilels, Sviatoslav Teofilovich Rikhter ปัจจุบันเขายังคงให้คำแนะนำกับนักเรียนเปียโนที่เตรียมสอบในมหาวิทยาลัยพายัพ และ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นครั้งคราว สำหรับเด็กๆ ที่ต้องการเรียนเปียโนนั้น เขามีเคล็ดลับกับการฝึกซ้อมน่าเบื่อ อาจจะลองเล่นเพลงอะไรสนุกๆ สักพักแล้วกลับไปซ้อมต่อและขอให้มีความสุขกับการที่จะเล่นเปียโน “หากคุณมีความสุขกับการเล่นเปียโน ผู้ฟังรับรู้ความสุขเช่นกัน แม้จะมีเพียงคนเดียวที่เพลิดเพลินกับเพลงของเรา คุณได้ทำให้คนได้มีความสุขเป็นที่เรียบร้อยและนั่นเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเป็นหน้าที่ของบทเพลงที่ควรจะเป็น ผมมีความสุขสุดเมื่อได้อยู่บนเวที รักที่จะแสดง ชอบที่เห็นผู้ฟังได้กลับบ้านหลับไปพร้อมกับฝันใหม่ๆ ได้ผ่อนคลายและสิ่งนี้คือความสุขที่สุดของผม” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine