Handicraft สุรภีร์ โรจนวงศ์ SPIRITS นักธุรกิจหญิงผู้อยู่เบื้องหลังงานหัตกรรมไทย - Forbes Thailand

Handicraft สุรภีร์ โรจนวงศ์ SPIRITS นักธุรกิจหญิงผู้อยู่เบื้องหลังงานหัตกรรมไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Nov 2016 | 06:17 PM
READ 15900

สุรภีร์ โรจนวงศ์ ‘ผ้าไทย’ อีกหนึ่งหัตถกรรมไทยที่เปี่ยมด้วยมูลค่าทางปัญญาเครื่องนุ่งห่มที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังเป็นงานฝีมือที่มีหลายหน่วยงานอยู่เบื้องหลังคอยส่งเสริมจนแข็งแรงและมีชื่อเสียงขจรไปทั่วโลก

หากจะค้นหานักธุรกิจหญิงไทยที่น่าจับตามองมีสาวเก่งหลากหลายวงการและหลายร้อยคนที่พกความฉลาดและความสามารถควบคู่มากับความสวยแต่ถ้าเพิ่มคำค้นหาว่าเป็นนักธุรกิจหญิงผู้อยู่เบื้องหลังวงการหัตถกรรมไทยแล้ว ชื่อที่ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ คือ สุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกลุ่มบริษัทใน เครือเกษร อีกทั้งเป็นอดีตประธานสภาหัตถกรรมโลกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (World Crafts Council-Asia Pacific Region: WCC-APR) นายกของสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน ประเทศไทย (ASEAN Handicraft Promotion and Development Association: AHPADA) และนายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (Thai Handicraft Promotion Trade Association: THTA) ยืนยันด้วยระยะเวลากว่า 40 ปีที่เข้ามาผลักดันและอยู่เบื้องหลังในหลายๆ มิติของวงการหัตถกรรมไทย รวมไปถึงระดับโลกด้วย จากความชื่นชอบกลายเป็นความรักและอยากรักษาให้ภูมิปัญญาทำมือที่ส่งต่อกันมาของบรรพบุรุษไทยยังคงอยู่ โดยมุ่งหวังให้หยัดยืนอยู่อย่างมีคุณค่า และมีความหมาย  

ธรรมนำสู่เส้นทางหัตถกรรมไทย

จุดเริ่มต้นของการส่งเสริมหัตถกรรมอย่างเรื่องผ้าไทยของสุรภีร์คืออะไร? ดูจะเป็นคำถามที่สุรภีร์ได้บอกเล่ามาหลายสิบครั้งแล้ว แต่เราก็ยังอยากจะให้เธอได้ย้อนเล่ากลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อนอีกสักครั้ง “เริ่มมาจากการปฏิบัติธรรม แล้วก็ทราบว่าที่วัดศรีบัวบาน ตำบลนาราชควาย ในจังหวัดนครพนม กำลังสร้างโบสถ์และกำลังต้องการพระประธานอยู่ ด้วยใจที่ต้องการที่สร้างพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ก็ได้ไปสร้างในครั้งนั้น ดิฉันเห็นชาวบ้านลำบาก เลยได้ถามไถ่ว่าชาวบ้านทำอะไรทำไมถึงลำบาก เขาก็บอกว่ามันแห้งแล้งมาก ปลูกอะไรไม่ได้ น้ำไม่มี ผู้ชายก็ไม่อยู่ในจังหวัด เพราะต้องไปหางานทำนอกพื้นที่กันหมด ดิฉันก็เลยถามเพิ่มว่าชาวบ้านพอจะทอผ้าได้ใช่ไหม เขาก็บอกว่าได้แล้วก็ถามต่อว่าทำไมไม่ทอขาย เขาก็ตอบว่าไม่รู้จะไปขายใคร ดิฉันก็เลยให้ชาวบ้านทอผ้า และรับซื้อผ้ามาและช่วยหาตลาดให้ อีกทั้งได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้ชาวบ้านในกลุ่มนั้นเพื่อจะได้มีความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกด้วย “การที่ชาวบ้านทำสินค้าขึ้นมาแล้วจะไปขายใครเงินทุนก็ไม่พอ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เป็นมา เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดความพยายามในการส่งเสริมงานหัตถกรรมมาถึงปัจจุบัน กว่า 40 ปี” สุรภีร์กล่าว และแนวคิดในการช่วยเหลือของสุรภีร์นั้นเป็นการช่วยเหลือครบทุกด้าน ทั้งการสอน หาตลาดรวมไปถึงเรื่องชีวิตความเป็น อยู่ของครอบครัว ดังเกิดเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพสตรีในชนบทมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2512  

นิยมชมใช้ ‘ผ้าไทย’

“ดิฉันซื้อผ้าไทยมาตั้งแต่ผืนละ 50 บาท จนมาเป็นร้อยกว่าบาท หลักพัน หลักหมื่น ถ้าชอบก็จะซื้อเพราะส่วนมากมันจะมีผืนเดียว เวลาทำแต่ละครั้งมันค่อนข้างจะ Artistic มาก พอมาทำอีกทีอาจจะแค่คล้ายๆ แต่ว่าไม่เหมือนเดิม ชุดวันนี้ที่ใส่ดิฉันก็ออกแบบ ดิฉันเรียนจบทางด้านคหกรรมศาสตร์ (จาก Cheltenham Ladies Collage ประเทศอังกฤษ) ก็พอที่จะตัดเย็บเป็นบ้าง สามารถทำแพตเทิร์นเองได้แต่ไม่ค่อยมีเวลาที่จะเย็บเท่าไรนัก แต่สมัยสาวๆ ก็เย็บใส่เองตลอด พอเห็นผ้าตาก็จะมองเห็นว่าอันนี้สวย มองออกว่าจะเอาไปทำอะไรต่อส่วนตัวดิฉันชอบใส่อะไรที่สบายๆ แล้วผ้าไทยของเราก็สวยอยู่แล้ว เพียงใส่เครื่องประดับเข้าไปก็สวยเลย แถมยังสามารถใส่ไปได้ทุกที่ทุกงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น เข้าห้องน้ำก็ง่าย ผ้าสไบที่ใช้จริงๆ ก็คล้ายกับผ้าขาวม้าผู้ชาย หนาวก็เอาออกมาห่มหรือเอาไว้เช็ดมือได้ อีกทั้งยังซักได้ด้วย”  

มนตร์รักผ้าไทย

ด้วยเสน่ห์ของผ้าไทยที่แต่ละภูมิภาคต่างก็มีเอกลักษณ์ และลวดลายเฉพาะตัว เสน่ห์ของสีสันและจินตนาการของช่างทอสุดแสนมหัศจรรย์ ทำให้ทุกครั้งที่คุณสุรภีร์ได้ไปลงพื้นที่พบปะชาวบ้านนักทอผ้า ก็อดไม่ได้ที่จะอุดหนุนกลับมาใช้และเก็บสะสมจนมีจำนวนกว่าหมื่นผืน คุณสุรภีร์กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “เราไปชมเฉยๆ ชมแต่ไม่ได้ซื้อ ก็เหมือนปากหวานไม่จริงใจ เราซื้อเขาเพื่อที่เขาจะได้เอารายได้ตรงนั้นไปทำอะไรต่อ ต้องให้กำลังใจเขา ไม่มีใครซื้อ เขาก็อยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็เลิกทำ เด็กๆ เห็นพ่อแม่ทำแล้วไม่ได้ร่ำรวยอะไรก็ไม่อยากจะสานต่อ ภูมิปัญญาของรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย แต่จริงๆ แล้วเดี๋ยวนี้ผ้าทอขายกันผืนละเป็นแสนบาทเลยนะคะ"  

สะสมเพื่อถ่ายทอด

อีกหนึ่งในปณิธานของคุณสุรภีร์ที่เก็บอยู่ในใจและมีบอกกล่าวกับคนใกล้ตัวเนืองๆ นั้นคือการทำพิพิธภัณฑ์ผ้าเพื่อให้ภูมิปัญญาที่อยู่ในการถักทอยังอยู่คู่ชาวไทย “พอเรารวบรวมสะสมแล้วทีนี้จะเอาไปไหนต่อก็อยากจะให้เป็นวิทยาทาน ก็เลยอยากทำพิพิธภัณฑ์แต่ถ้าจะทำก็เรื่องใหญ่พอสมควร เราต้องมีสถานที่ต้องมีคนดูแล ซึ่งก็ได้มีคุยๆ กับทางมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว เขาก็จะทำเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ให้ แล้วเราก็ให้ผ้าไปแสดงเพื่อให้เด็กที่เรียนทางด้านนี้หรือใครก็ได้ที่สนใจจะได้ไปดู เราก็จะแบ่งบางส่วนที่มีอยู่ไป นอกจากผ้าซิ่นแล้ว ดิฉันก็ยังมีผ้าคลุมเตียงผ้าอื่นๆ ที่สะสมเอาไว้ด้วย” พลังใจในการขับเคลื่อนนอกเหนือจากการดูแลงานหลักอย่างห้างเกษรพลาซ่า และบริษัทในเครือให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงแข็งแรง งานที่รักทางด้านหัตถกรรมก็ต้องใส่หัวใจและใช้พลังขับเคลื่อนอย่างมากเช่นกัน ตอนที่ดิฉันเริ่มทำแรกๆ ก็เคยมีท้อเหมือนกัน เหมือนเราพูดกับใครก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วเชื่อไหมคะว่าตอนที่พูดกับใครไม่รู้เรื่องนั้น เคยคิดว่าจะเลิกทำแล้วเหมือนกันแต่เชื่อไหมคะ จังหวะนั้นวิทยุที่เปิดอยู่เขาอัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พอดีจับใจความได้ว่าท่านทั้งหลายที่คิดว่าทำดีอยู่แล้วอย่าท้อ ดิฉันน้ำตาไหลเลย พูดตอนนี้ก็ยังรู้สึกตื้นตันอยู่เลยก็เลยทำต่อ ไม่ท้อละได้แค่ไหนเอาแค่นั้นสิ่งที่ดีทำไปเลยไม่ต้องรอใครเขาชมแล้วเราได้ทำในสิ่งที่รักด้วย ก็เข้าหลักเรื่องอิทธิบาท 4 เมื่อมีฉันทะ ชอบหรือรักก็เลยเกิดความพยายาม วิริยะ ก็ตามมาไม่รู้สึกเหนื่อยอะไร แล้วจิตตะ ใจก็คิดว่าเอาอันนี้ไปทำอะไรได้ยังไง จะโปรโมตยังไง แล้วก็เอามาปรับปรุง วิมังสา ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นๆ ก็ทำมาเรื่อยๆ”  

ทุกวันนี้ยังหยุดทำงานไม่ได้

“จริงๆ ดิฉันก็พยายามหยุดทำงานแล้วนะคะ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่างานกลับมากขึ้น ก็ไม่เป็นไรก็จะได้สอนให้ลูกน้องรุ่นลูกรุ่นหลานเขาเก่ง ในส่วนของธุรกิจในเครือเกษรกรุ๊ป เราก็เริ่มมีเวิร์กช็อปโดยร่วมกับน้องๆ กลุ่ม The Cave ที่เปิดสอนงานคราฟต์หลายๆ อย่าง ก็มาจัดกิจกรรมกันที่ศูนย์การค้าเกษรอันนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันอยากทำมานานแล้ว ก็ดีใจมากๆ  

หลัก ‘ใช้’ ชีวิต

ไม่เพียงแค่ใช้ชีวิตในการทำงานอย่างเต็มที่เท่านั้นคุณสุรภีร์ยังใฝ่ใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่สาวๆ และปลูกฝังให้ลูกหลาน รวมถึงคนใกล้ตัวมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวชีวิต และนี่เป็นอีกเคล็ดลับที่ทำให้คุณสุรภีร์ยังมีแรงกายแรงใจสนุกกับงานที่รัก “ใช้ธรรมะเลย ธุรกิจก็ใช้หลักนี้ได้ เราถือศีล 5 เราไม่ต้องโกหกเราพูดเรื่องจริงอะไรที่ไม่ควรกล่าวเราก็เงียบซะ แล้วต่อจากนั้นเราจะรู้วิธีพูดเองดิฉันอาราธนาศีลทุกวัน ทั้งตอนเช้าและก่อนนอนเหล่านี้จะฝังอยู่ในตัวเลยแล้วก็เป็นพลังเกราะป้องกันภัยให้เราด้วย แล้วปัญญาก็จะเกิด นั่งสมาธิจะทำให้เรามีพลัง ไม่เหนื่อย ทำบุญเท่าที่เราทำได้ แต่ไม่ใช่ว่าหมดเนื้อหมดตัว ทานทำให้เราหมดกิเลส เราต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป การสวดมนต์ทำให้เรามีพลังดิฉันเริ่มทำมาตั้งแต่สาวๆ ก็มีขี้เกียจบ้าง แต่เรารู้ว่าเราต้องปฏิบัติ เก็บสะสมไปเรื่อยๆ ถ้าทำได้มากก็ดี” คุณสุรภีร์กล่าวทิ้งท้าย จากความหลงใหลผ้าไทยกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้งานหัตถกรรมไทยสามารถค่อยๆ ยืนหยัดได้อย่างภาคภูมิ วันนี้สุรภีร์พิสูจน์ให้เราได้เห็นแล้วว่า ความเป็นไทยมีดีและอยู่อย่างยั่งยืนได้จริงๆ   เรื่อง: มานู สะตี ภาพ: สัญญา ธาดาธนวงศ์
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม "Handicraft สุรภีร์ โรจนวงศ์ SPIRITS นักธุรกิจหญิงผู้อยู่เบื้องหลังงานหัตกรรมไทย" อ่าน ForbesLife Thailand Luxury Travel ฉบับพิเศษประจำเดือนกันยายน 2559 ในรูปแบบ e-Magazine