“อยู่ด้วยกันจนลืมว่ามันสำคัญหรือไม่สำคัญ” คือคำนิยามต่อ “ศิลปะ” สำหรับชายผู้เป็นเรี่ยวแรงหลักให้กับ Jim Thompson “Eric Bunnag Booth” กำลังตื่นเต้นกับทิศทางของวงการศิลปะไทยที่เริ่มเข้าถึงนักสะสมรุ่นใหม่เป็นวงกว้าง
ชายวัย 49 ปีก้าวลงจากรถตู้ผมของเขาเริ่มมีสีเทาแซมไม่น้อย แต่ด้วยชุดสบายๆ เสื้อเชิ้ตยีนส์แขนสั้นกับแว่นตาทรงกลมระบายด้วยรอยยิ้มเป็นกันเอง ทำให้ Eric Bunnag Booth ดูหนุ่มกว่านั้นมาก Eric เลือกนัดพบกับ Forbes Thailand ที่ร้านอาหารใหม่ Spirit Jim Thompson ในซอยสมคิด ย่านชิดลม ดำเนินการภายใต้บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด หรือแบรนด์ Jim Thompson ซึ่งเขานั่งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอยู่ในปัจจุบัน “ที่นี่ดัดแปลงมาจากบ้านเก่า 2 หลังตกแต่งในสไตล์เดียวกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน แต่ทันสมัยขึ้น แล้วผมก็ใส่งานศิลปะร่วมสมัยลงไปบ้าง ซึ่งปกติเราจะไม่เห็นที่บ้านจิมฯ” Eric อธิบายคร่าวๆ ถึงกิจการใหม่ของบริษัทที่เขาดูแล เขาเอ่ยถึง “ศิลปะ” โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิต Eric จนเขากลายเป็นนักสะสมงานศิลปะแถวหน้าของไทย เขาตอบกลั้วหัวเราะว่าศิลปะนั้น “อยู่ด้วยกันจนลืมว่ามันสำคัญหรือไม่สำาคัญ” เพราะชีวิตของ Eric ล้วนแวดล้อมด้วยศิลปะและความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่เด็ก
เป้าหมายที่ “ใหม่เอี่ยม”
แม้จะขัดเคืองอยู่บ้างที่รัฐบาลไทยยังไม่สนับสนุนศิลปะอย่างจริงจัง แต่เขาเข้าใจธรรมชาติของพลวัตเหล่านี้ แม้แต่ในประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตก ภาคเอกชนก็ต้องเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนก่อนในที่สุด Eric จึงร่วมกับพ่อเลี้ยง Beurdeley ลงทุนส่วนตัวเปิด MAIIAM Contemporary Art Museum หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ที่ จ.เชียงใหม่ ในปี 2559 นับเป็นการเพิ่มบทบาทในวงการศิลปะของเขา จากนักสะสมงานศิลปะสู่เจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผู้คน “ใหม่เอี่ยม” เป็นอาคาร 2 ชั้นสำหรับจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยไทยบนเนื้อที่ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งมีแกนหลักเป็นนิทรรศการถาวรที่แสดงงานศิลปะจากคอลเล็คชั่นส่วนตัวของ Eric รวบรวมงานของศิลปินไทย 25 ท่าน ซึ่งสะท้อนมุมมองของ Eric ต่อการพัฒนาศิลปะร่วมสมัยไทยในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนปีนี้ นิทรรศการถาวรดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนชิ้นงาน 2-3 ชิ้น เพื่อหมุนเวียนให้ได้ชมงานศิลปินท่านอื่นบ้างแต่ยังคงอยู่ในคอนเซปท์เดิม


ลงทุน (ด้วยรัก)
แน่นอนว่ามีกลุ่มผู้ที่สะสมศิลปะเพื่อเป็นการลงทุนทางเลือก ซึ่ง Eric เรียกว่ากลุ่มนักเก็งกำไร “ถ้าคุณเลือกนักสะสมศิลปะที่รวยที่สุดในโลกมา 20 คน คนเหล่านั้นจะอยู่ในจีน อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น แล้วงานที่อยู่ในมือพวกเขาจะเป็นศิลปินซ้ำๆ กัน 10-20 ศิลปิน เพราะเป็นศิลปินที่มีมูลค่าค่อนข้างแน่นอน พวกเขาจึงเลือกลงทุน” แต่ถ้าหากเป็นศิลปะร่วมสมัย เขากล่าวว่าราคาจะมีโอกาสเหวี่ยงขึ้นลงมากกว่าและคาดการณ์ยาก เพราะศิลปิน “ยังมีชีวิตอยู่” นั่นหมายความว่าถ้าศิลปินรายหนึ่งสร้างผลงานจนได้ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังราคางานของเขาก็จะปรับขึ้น แต่ก็มีสิทธิที่ศิลปินอาจจะหยุดทำงานศิลปะแล้วออกจากวงการไป ซึ่งทำให้ราคางานของเขาตกลง ปัจจัยเหล่านี้คาดเดาได้ยากไม่เหมือนกับงานของศิลปินที่เสียชีวิตแล้ว “ดังนั้นคนที่จะสะสมงานศิลปะควรจะต้องชอบงานนั้นก่อนเป็นอย่างแรก อย่างผมเองผมซื้อเพราะมันมีความหมายกับตัวผม สุดท้ายถ้าเราชอบงานนั้น แม้ราคาจะขึ้นลงอย่างไร อย่างน้อยเราก็มีของที่เราชอบอยู่ในบ้าน” Eric อธิบาย ภาพ: จันทร์กลาง กันทอง และพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมติดตามฉบับเต็ม "26 ปีที่ถักทอวงการศิลปะของ Eric Bunnag Booth" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2561 ได้ในรูปแบบ e-Magazine
