เผดิมภพ สงเคราะห์ จิบกาแฟเล่นหุ้นที่ "ภพรัก" - Forbes Thailand

เผดิมภพ สงเคราะห์ จิบกาแฟเล่นหุ้นที่ "ภพรัก"

หลังจากปั้นนักวิเคราะห์ให้ดังมาหลายคน ถึงคราที่ เผดิมภพ สงเคราะห์ ผู้บริหารใหญ่แห่งหยวนต้ารับบทเป็น "ป๋าดัน" ปลุกปั้น 2 ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนแจ้งเกิดในธุรกิจคั่วเมล็ดกาแฟ พร้อมสร้างชื่อร้าน "ภพรักกาแฟ" ที่อัมพวาให้ส่งกลิ่นหอมกระจายไปทั่วประเทศ

เผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย ริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ไม่เคยหยุดนิ่งกับโลกการลงทุน ตั้งแต่เช้าถึงพลบค่ำผู้บริหารติดดินคนนี้ ขมีขมันอัปเดตความเคลื่อนไหวของโลกการลงทุนผ่านช่องทางหลากหลายให้กับนักลงทุนได้รับรู้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของหยวนต้า

บริษัทหลักทรัพย์สัญชาติไต้หวันที่เข้ามาในตลาดเมืองไทยได้ไม่นาน แต่ก็มี “ข้อมูลดีๆ” พร้อมที่จะแบ่งบันให้กับนักลงทุนใช้ตัดสินใจไม่แพ้หลักทรัพย์ใหญ่อื่นๆ ในตลาด

ราว 3 ทุ่มวันหนึ่งของเดือนพฤศจิกายน พวกเรา Forbes Thailand เข้าสอดส่องดูรายการสด Momentum Investor บน Facebook ของเขา เผดิมภพดูสนุกกับการนำเสนอข้อมูลหลากหลาย ไม่ว่าจะเรื่องของทอง เงินเหรียญสหรัฐฯ เงินหยวน หรือสถานการณ์เงินเฟ้อ

การพูดคุยยังสลับไปมากับเรื่องราวของลูกชาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอกำลังใจจากแฟนคลับช่วยส่งแรงเชียร์ให้ผ่านเข้ารอบการแข่งจากเวที Global Coffee Championship Roasting Thailand 2021 และผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายและได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวต อันดับ 1

หรือแม้กระทั่งขอให้ผู้ร่วมรายการช่วยตั้งราคาชุดของขวัญจากทางร้าน “ภพรักกาแฟ” ด้านแฟนคลับก็ช่วยกันตั้งราคากันอย่างสนุกสนาน

ร้านภพรักกาแฟ ที่เผดิมภพเอ่ยถึงตั้งอยู่ที่ อ. บางคนที จ. สมุทรสงคราม ที่เขาเป็นผู้ลงทุน ปัจจุบันผู้บริหารวัย 54 ปีคนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในช่วงสุดสัปดาห์พร้อมๆ กับภรรยาและลูกชายแฝดคือ ธนภพ และ ธนกฤต วัย 24 ปี พวกเราก็อดถามไม่ได้ว่า “คุณต้น (ชื่อเล่น) เตรียมตัวเกษียณหรือ?” เผดิมภพตอบว่า “เปล่า” เขายังสนุกกับบทบาททั้งสองที่ “ตอนนี้ผมไม่ใช่แค่มีความสุข แต่โคตรมีความสุขเลย”

พวกเราจึงตาม “ความสุข” ของเผดิมภพไปดูร้านภพรักกาแฟที่อัมพวาด้วยตัวเอง เมื่อถึงที่นั่นพวกเราได้ลิ้มลองฝีไม้ลายมือการดริปของธนภพ หรือน้องโซล่า ในเมนูที่ชื่อ Strawberry (House Blend)

บัณฑิตคณะอุตสาหกรรมเกษตรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อธิบายว่า เป็นการเบลนด์เมล็ดกาแฟ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โคลัมเบีย เอธิโอเปีย และบราซิล โดยการดริปใช้กาแฟ 20 กรัมด้วยอุณหภูมิน้ำา 90 องศาเซลเซียส

ความละเมียดละไมในการดริปของธนภพบวกกับทักษะพิเศษส่วนบุคคลของเขาที่สามารถแยกแยะคุณภาพของกาแฟจากการรับรู้กลิ่นหรือเสียงเมล็ดกาแฟขณะคั่ว ทำให้พวกเราพอเข้าใจแล้วว่าทำไมเผดิมภพถึงบอกว่า ตัวเอง “โคตรมีความสุข” กับสิ่งที่เป็นอยู่

“มีร้านแล้วมีความสุข แต่มีลูก เมื่อก่อนตี 2 ยังนั่งคั่วกาแฟอยู่ ตอนนี้เบาขึ้น ถามลูกเป็นไง เขาบอก มีความสุขครับ เราก็ชอบ” เผดิมภพกล่าวและบอกเพิ่มเติมว่า เมื่อลูกมีศักยภาพและมีใจรักในด้านนี้เขาก็พร้อมที่นำพาลูกไปให้ถึงที่สุด

เผดิมภพ สงเคราะห์

ก่อนจะมาพบกับความสุขในวันนี้ เผดิมภพก็ต่อสู้กับโลกการทำงานตลอดกว่า 3 ทศวรรษ เขาเกิดในครอบครัวคนชั้นกลาง บิดารับราชการที่กรมชลประทาน แต่ต่อมาก็ตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านโชห่วยทั้งๆ ที่เป็นงานมั่นคง โดยทั้งคู่เลี้ยงลูกแบบปล่อยให้คิดเองตัดสินใจเอง

จากนั้นเขาสอบติดคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ (ปัจจุบันแยกออกเป็น 2 คณะอิสระ) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน หลังจบได้ทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์สักระยะก่อนตัดสินใจลาออกมาเรียนปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยเดิม

เมื่อเพิ่มพูนความรู้มากขึ้น เขาก็กลับเข้าไปโลกการทำงานอีกครั้ง ค่อยๆ ไต่เต้าไปเรื่อยๆ ทั้งในสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ สายงานค้าหลักทรัพย์ และสายงานจัดการเงินทุนบุคคล ขณะที่บริษัทที่เขาร่วมงานก็มี อาทิ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด

แต่จุดเปลี่ยนของเขาก็ คือ เมื่อบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อธุรกิจกิจการของ เจ.เอฟ. ธนาคม ที่เขาทำงานและได้ยื่นข้อเสนอให้ถือหุ้นจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานต่อ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และต่อมาก็เข้าร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ในปี 2562

เผดิมภพบอกว่า การตัดสินใจเข้าร่วมงานกับหยวนต้าถือเป็นเรื่องน่าท้าทายมาก เนื่องจากแบรนด์หยวนต้านั้นสดใหม่ในตลาดเมืองไทย และเป็นแบรนด์ต่างชาติที่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ต่างจากที่ทำงานเก่าอย่าง บล. บัวหลวง หรือ บล. กสิกรไทย ซึ่งทั้งคู่มีจุดได้เปรียบจากการมีธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยหนุนหลังอยู่ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่เขาที่ต้องทำให้แบรนด์หยวนต้าแจ้ง “เกิด” ในเมืองไทยให้ได้

เมื่อทำงานได้ไม่นานเขาก็พบว่า หยวนต้ามีจุดหนึ่งที่ต้องปรับปรุงคือ การทำงานระหว่างฝ่ายวิเคราะห์กับฝ่ายมาร์เก็ตติ้งยังไปคนละทิศคนละทาง เขาเห็นว่าหาก IC (Investment Consultant) ไม่ฟังฝ่าย research ปัญหาตามมาก็คือ จะไม่มีพื้นฐานที่จะถ่ายทอดให้กับลูกค้า ทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

“ผมเคยเป็น IC มาก่อน ทำงานมาตั้งแต่เด็กๆ รู้ความต้องการ พอผมเข้ามาก็ต้องผสมผสาน สัปดาห์แรกรู้ว่า research ของเราเก่ง แต่ไม่มีจุดขาย ไม่ดังพอ พอเข้ามาหลายคนเก่งมาก ชื่อเสียงก็พอมี แต่คนไม่ฟัง ไม่เชื่อ” เขากล่าวและบอกเพิ่มเติมว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมทำงานเป็นหนึ่งเดียวได้ทำให้เกิด “พลัง” ขึ้น จากนั้นสิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นคือ ปริมาณการซื้อขายหุ้นจากลูกค้าของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่เผดิมภพริเริ่มได้เห็นผลแล้ว เห็นได้จากปี 2563 นักวิเคราะห์ของบริษัทได้รางวัลยอดเยี่ยม 5 รางวัล ด้านบทวิเคราะห์ก็ได้รับการันตีด้านคุณภาพจากสมาคม นักวิเคราะห์หลักทรัพย์

สำหรับส่วนแบ่งการตลาดบริษัทอาจไม่ได้อยู่ในระดับ top 5 แต่ปี 2563 บริษัทอยู่ในอันดับที่ 9 ส่วนปี 2564 คาดว่าน่าจะอยู่อันดับ 8-10 โดยประมาณ ส่วนที่บริษัทมีความโดดเด่นมากคือ ในปี 2563 มีสัดส่วนทางการตลาดในส่วนของอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับที่ 1 ขณะที่เป้าหมายในอนาคตเขาก็หวังว่า หยวนต้าจะเป็น “ที่ 1 ในใจลูกค้า” สำหรับคนที่อยากจะเทรดหุ้น

เผดิมภพ สงเคราะห์

ถึงคราปั้นลูกไปให้สุด

เผดิมภพทุ่มเทให้กับงานที่หยวนต้าเป็นเวลา 5 วัน ส่วนวันที่เหลืออีก 2 วัน หากไม่ติดภารกิจอื่นใดก็จะมาอยู่ที่ร้านภพรักกาแฟ ซึ่งเขาครุ่นคิดอยู่เสมอว่า ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยลูกปลุกปั้นธุรกิจนี้ให้ประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาเขาบอกว่า

“ได้ปั้นนักวิเคราะห์มาหลายคนให้ดังแล้ว อย่างมาร์เก็ตติ้งที่เคยได้เงินเดือน 40,000-50,000 บาท มาทำงานกับผมตอนนี้ได้ 400,000-500,000 บางทีมากกว่าผมอีก บางคนได้เดือนละล้าน เป็นแค่มาร์เก็ตติ้งธรรมดา”

ร้านภพรักกาแฟอาจเรียกได้ว่า เป็น ผลพวงจากการลงทุนของเผดิมภพก็ว่าได้ เพราะเขามองว่าการลงทุนที่ดินคือ VI (Value Investor) โดยเขาใส่เงินทั้งหมดเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ ลงในที่ดิน โดยสองแปลงแรก 2 ไร่ ที่เป็นที่ตั้ง ร้านเขาได้ซื้อมาราว 8 ปีที่แล้วด้วยราคาเกือบ 7 ล้านบาท ราคาซื้อนี้ถูกกว่าที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่แรกมากที่ 6 ล้านต่อไร่ จากนั้นมาก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มจนปัจจุบันมีพื้นที่รวมเป็น 7 ไร่

เดิมทีเผดิมภพมีความคิดที่จะปล่อยที่ดินให้คนเช่าทำเป็นตลาด แต่อีกใจก็อยากเปิดร้านกาแฟเพราะสมัยก่อนชอบนั่งชิลๆ อยู่ในร้านกาแฟ อย่างไรก็ตามบังเอิญ ช่วงนั้นหลานชายตกงานจึงตัดสินใจเปิดให้หลานทำในปี 2558 โดยปราศจากการศึกษาธุรกิจนี้อย่างจริงจัง เพราะคิดว่าไม่น่ายาก แต่ที่สุดแล้วก็พบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด แม้มีลูกค้ามามากแต่พวกเขาก็ไม่กลับมาอีก เพราะไม่ถูกใจในรสชาติกาแฟของร้าน

เผดิมภพ สงเคราะห์

ระหว่างที่เปิดร้านกาแฟราว 4 ปีแรก ลูกชายทั้งสองซึ่งเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาก็แวะเวียนเข้ามาช่วยงานในช่วงวันหยุด แต่เมื่อธนภพเรียนจบปริญญาตรี ได้เข้ามาช่วยงานอย่างเต็มตัว และเผดิมภพก็ค้นพบความสามารถพิเศษของลูกคนนี้ในด้านการคั่วกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้จากการเอาจริงเอาจังกับการคั่วและการคิดค้นผสมเมล็ดกาแฟพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้เผดิมภพมั่นใจที่จะสู้ต่อและพร้อมเข้าสนับสนุน โดยเขาได้เปลี่ยนเครื่องคั่วกาแฟขนาดเล็กราคาราวแสนกว่าบาทมาเป็นขนาดใหญ่ขึ้นราคาราว 2 ล้านบาทแทน ขณะที่เมล็ดกาแฟก่อนหน้านี้ที่สั่งซื้อเป็นกระสอบ 60 กิโลกรัม ปัจจุบันสั่งซื้อเพิ่มเป็นตัน พร้อมกับปรับปรุงร้าน

เมื่อทุกอย่างเริ่มอยู่ตัวก็มาสะดุดกับโควิดระบาดในต้นปี 2563 อีก แต่เผดิมภพก็เปลี่ยนวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสโดยใช้เวลานี้ ปรับปรุงเมนูอาหาร พัฒนารสชาติของกาแฟและการบริการ อีกทั้งปรับปรุงพื้นที่ด้านข้างให้เป็นโรงคั่วกาแฟที่มีมาตรฐาน โดยทั้งหมดนี้ลูกทั้งสองมีส่วนร่วมออก ไอเดีย

ปัจจุบันธนภพดูฝ่ายผลิต ดูโรงคั่ว ดูวัตถุดิบ ส่วนธนกฤตช่วยทำการตลาดผ่านโซเชียลอย่างทำคลิปและกราฟิก สำหรับผู้เป็นพ่อสวมบทบาทโค้ช ไม่เน้นสอน แต่เน้นทำให้ดูแทน อย่างเช่นเผดิมภพจัดการประชุมทีมงานให้ลูกเห็น มีการวัดผล KPI พนักงาน คนนี้ผ่าน ไม่ผ่าน เข้ามาแล้วบริการลูกค้าอย่างไร

ปัจจุบันเผดิมภพลงทุนไปกับร้านราว 15 ล้านบาท แม้ก่อนหน้านี้ร้านจะขาดทุนก็ไม่คิดจะขาย เพราะคิดว่าอย่างไร แล้วก็ไม่ขาดทุนเพราะราคาที่ดินของเขาเพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้หากขายอย่างน้อยๆ ก็ได้ 30 ล้านบาท แต่โชคดีร้านเริ่มอยู่ตัว เพราะรายได้สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่มีและความนิยมของร้านก็เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากลูกค้ารายเดิมกลับมาใช้บริการอีก

เผดิมภพ สงเคราะห์

สำหรับอนาคตก็มีแผนที่จะเปิดสาขา 2 ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่เน้นขยายสาขามากเพราะต้องการให้ร้านเป็นที่ดื่มกาแฟจริงๆ และเป็นหน้าร้านเพื่อต่อยอดกับธุรกิจคั่วเมล็ดกาแฟที่กำลังทำอยู่ ขณะที่อนาคตไกลๆ ก็วาดฝันอยากจะให้ธุรกิจคั่วเมล็ดกาแฟเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

“มันไปได้ ผมไม่รู้...โยน (ความคิด) ไปก่อน อยากได้อะไรแล้วหาวิธีการ ไปก่อนค่อยว่ากัน ผมไม่รู้ทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ แล้วค่อยหาวิธีการ” เขากล่าว

เมื่อถามถึงความสำเร็จในวันนี้เผดิมภพบอกว่า เขาเดินตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าและในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “ความพอเพียง” ซึ่งในความหมายของเขาคือ แม้มีรายได้เพิ่มขึ้นก็ยังทำาตัวเหมือนเดิม ทำให้รายจ่ายไม่เพิ่มตามมา เขาบอกว่า ตอนนี้เขา “มีความสุขกับปัจจุบัน” และโชคดีที่มีลูกและภรรยาที่ดี ซึ่งเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และร้านภพรักกาแฟ