พงษ์ชัย จินดาสุข หนึ่งในทายาทรุ่น 2 แห่งธุรกิจอุปกรณ์ประปา SANWA ที่ได้รับความนิยมทั้งในประเทศไทยและครอบคลุมอาเซียน และในเมืองใหญ่รอบโลก ถ่ายทอดสมการที่ลงตัวระหว่าง ธุรกิจ-ชีวิต-ศิลปะ"
หนึ่งเหตุผลสำคัญต้องมาจากความตั้งใจในการใช้ “ทองเหลือง” เป็นวัตถุดิบผลิตอุปกรณ์ประปาคุณภาพสูงจนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์คุณภาพจากรัฐบาลไทย ซึ่งชี้ชัดว่า “ผลิตภัณฑ์ดีไม่แพงก็มี” ของ SANWA มีคุณภาพสูงตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2534 จนถึงเวลานี้ ภายใต้การบริหารของ พงษ์ชัย จินดาสุข กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดผลิตภัณฑ์ซันวา (SANWA) บริษัท จินดาสุขคอมเมอร์เชียล (1980) จำกัด นักธุรกิจวัย 56 ปี ที่มีแนวคิด การทำงานที่พัฒนามาจากงานอดิเรกที่เขารัก ให้เป็นธุรกิจเพิ่มรายได้ควบคู่ธุรกิจหลักได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือการเป็นเจ้าของและผู้บริหาร The Third Place BANGKOK ซอยทองหล่อ 10 ซึ่งรวม ARDEL’s Third Place Gallery และร้านอาหารนางกวัก ไว้ในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงเป็นผู้อำนวยการบริหารโครงการเขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม แกลเลอรีศิลปะร่วมสมัย พร้อมบ้านพักตากอากาศไว้บริการ และยังสวมหมวกใบอื่นๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย พงษ์ชัยเป็นบุคคลหนึ่งในรุ่น 2 ของครอบครัวจินดาสุข ที่อยู่ในการสร้างสรรค์ให้อุปกรณ์ประปา SANWA ดีไม่มีตกเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเรียบง่ายในการขยายตัวกระทั่งวันนี้มีบริษัทในเครือหลายแขนง แม้ขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตโรคระบาดจากไวรัสโควิด-19 แต่เพราะความที่ในไทยเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรงด้วย จึงเป็นผลให้ SANWA ยังคงรักษาระดับยอดขายได้อย่างดี โดยพงษ์ชัยยอมรับว่า หากการแพร่ระบาดยังคงต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน เขาก็เชื่อว่า SANWA จะได้รับผลกระทบไปด้วยแน่นอน “ผลประกอบการปีที่แล้วของ SANWA ไม่ตกแต่ก็ไม่โต เพราะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยที่ยังไม่ดี แต่ยอดขาย 4 เดือน ตั้งแต่ต้นปี 2563 มานี้ เรายังดีอยู่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วยนโยบายหลักของ SANWA ที่ผลิตสินค้าคุณภาพดีเทียบเท่าของนอกแต่ราคาถูก หากใครคิดจะทำแข่งก็อาจเหนื่อยนี่เป็นจุดแข็งของเราว่า ของดีก็ต้องถูก ต้องมี แง่ที่ว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพจะถูกกว่าก๊อกในระดับเดียวกัน” พงษ์ชัยกล่าว-หมวกหลายใบแต่จุดยืนเดียว-
เมื่อธุรกิจครอบครัวดำเนินไปได้ด้วยดี พงษ์ชัยก็เริ่มต้นทำธุรกิจของตนเองโดยพัฒนาที่ดินเปล่าของครอบครัวให้มีรายได้ ใช้เงินลงทุนของตนสร้าง The Third Place BANGKOK จากขนาดผืนดินไม่กี่ตารางเมตรในแนวราบ เป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบธุรกิจร้านอาหารนางกวัก อาร์เดล แกลเลอรีแสดงงานศิลปะ และ coworking space อย่างสวยงาม เมื่อเศรษฐกิจขยับ และการขยายร้านอาหารก็นับเป็นโอกาสดี พงษ์ชัยจึงปรับเปลี่ยนร้านขึ้นชั้นบน โดยมีเพื่อนมาร่วมลงทุนคือ อั๋น (ศราวุธ นวแสงอรุณ นักแสดง) กับเจนนี่ (เจนนิเฟอร์ โปลิตานนท์ นักร้อง/นักแสดง) และเป็นผู้ดูแลหลักของร้าน ปรับจากการขายอาหารไทยสู่อาหารอิตาเลียนปรับพื้นที่ coworking space เป็นแกลเลอรีแทน โดยนับเป็นยุคต้นของแกลเลอรีก็ว่าได้ที่ใช้คอนเซ็ปต์ “เอาศิลปะมาอยู่ในเมืองให้ดูกันง่ายๆ” จัดแสดงงานประติมากรรมของวัชระ ประยูรคำ ประติมากรเป็นงานเปิดตัวแกลเลอรี และมีผลงานศิลปะมากคุณค่าจัดแสดง ณ อาร์เดล อย่างต่อเนื่องโดยมีคิวเรเตอร์คือ ศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์ และอีก 5 ปีต่อมา พงษ์ชัยก็นำแนวคิดเอาศิลปะไปอยู่นอกเมืองให้ดูกันง่ายๆ โดยก่อตั้งโครงการเขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม แกลเลอรีศิลปะร่วมสมัย พร้อมบ้านพักตากอากาศด้วยบริการแบบรีสอร์ตในพื้นที่เดียวกัน “สำหรับที่เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียมนั้นเกิดจากอยากทำหมู่บ้านเล็กๆ ขายในพื้นที่สวยๆ อากาศดีๆ แต่ก็กลัวคนจะเหงา ผมจึงทำมิวเซียมไว้ด้วย คนแถวๆ นั้น และคนที่ไปพักผ่อนที่เขาใหญ่จะได้ดูงานศิลปะดีๆ โดยเอางานที่ผมเก็บไว้มาแสดง ตอนเริ่มต้นก่อสร้างใช้เงินลงทุนไม่ถึง 100 ล้านบาท แต่พอทำเสร็จมันก็เกินไปมาก เฉพาะแค่ปรับหน้าดินให้เป็นแลนด์สเคปแบบสนามกอล์ฟ ก็เกิน 20 ล้านบาทแล้ว” มิวเซียมขนาดกว่า 1,700 ตารางเมตร จัดแสดงศิลปะในการสะสมของพงษ์ชัย เช่น ประเทือง เอมเจริญ, ปัญญา วิจินธนสารและชลูด นิ่มเสมอ มีสวนประติมากรรมกลางแจ้งส่วนหน้าอาคาร ด้านบนมีอาร์ตช็อปและร้านกาแฟ ให้เข้าชมตั้งแต่ 10.00-18.00 น. โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ส่วนด้านหลังมิวเซียมคือ หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Art Space จำนวน 6 หลัง มีสถาปัตยกรรมโมเดิร์นภายในตกแต่งด้วยงานศิลปะที่พงษ์ชัยสะสม ทั้งหมดอยู่บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เขาใหญ่อาร์ตมิวเซียม นับเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะระดับครูของวงการศิลปะแห่งสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย โดยรายได้นั้นจะมาจากการเปิดบ้านเพียง 4 หลังให้คนเข้าพักเท่านั้น แต่พงษ์ชัยก็ถือว่าได้คุณค่าด้านจิตใจ ที่ช่วยให้ผู้คนได้เห็นและชื่นชมงานศิลปะทรงคุณค่า กระทั่งเขายังได้ประโยชน์ในการได้ซื้องานดีๆ จากศิลปินด้วย “รายได้จากค่าเข้าพักบ้านตากอากาศนั้นแค่พอนำไปดูแลพื้นที่ให้สวยงามได้เท่านั้นเอง เพราะไม่ได้เปิดบริการเป็นสาธารณะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนฝูงและผู้ใหญ่มาพัก หมุนเวียนกันไป นานๆ จะเต็มสักทีโดยมิวเซียมเองก็ช่วยให้ผมได้งานศิลปินที่ทำงานดีๆ ด้วย เพราะเขาเห็นจากความตั้งใจในการทำมิวเซียมว่า ผมจะดูแลเก็บรักษางานได้ดี อย่างผนังบ้านอาจารย์ชลูด (นิ่มเสมอ) ถ้าไม่มีเขาใหญ่อาร์ตมิวเซียมก็คงจะไม่ได้ เพราะตื๊ออยู่ 4 รอบกว่าท่านจะให้”-การทำงานให้การเรียนรู้ชีวิต-
“สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการทำงานคือ เมื่อเราตั้งใจทำงาน ความเป็นคนอยากรู้และลงมือทำเองตั้งแต่ต้น จะช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ค่อยพลาด ซึ่งมันได้ส่งผลถึงการใช้ชีวิตด้วย บวกกับเป็นคนชอบสนุกสนาน ชอบอยู่กับเพื่อน และผมก็มักชอบจะช่วยเพื่อนๆ ดังนั้น เวลาที่ผมลงมือทำอะไร ก็จะมีเพื่อนๆ คอยมาช่วยกันเสมอซึ่งก็ยิ่งทำให้เราได้เจอสิ่งที่ดีไปด้วย และมันก็ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ได้” พงษ์ชัยสรุปถึงสิ่งที่ได้จากการทำงาน และเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นในการมีงานศิลปะระดับประเทศไว้ชื่นชมส่วนตัว นอกเหนือจากการแบ่งปันงานศิลปะที่งดงามให้ผู้คนได้ร่วมชื่นชมแล้ว พงษ์ชัยยังสวมหมวกอีกใบกับการทำงานเพื่อสังคมด้วยนั่นคือ การเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปะและการเป็นกรรมการในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้านการค้าแนวตะเข็บชายแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “คนอาจเห็นว่าผมมีงานศิลปะเยอะ จึงน่าจะมีความรู้พอที่จะแสดงความคิดเห็น และเป็นกรรมการตัดสินรางวัลได้ ซึ่งไม่ได้เป็นตลอดนะครับ แต่ก็ทำให้ได้คลุกคลีกับวงการศิลปะไทยยิ่งขึ้น เห็นการเติบโตของคนทำงานศิลปะ ตอนนี้เห็นชัดว่าพัฒนาการเริ่มตัน เด็กรุ่นใหม่ไปดูงานเมืองนอก ก๊อปปี้มาหรือดัดแปลงนิดหน่อย หาดาวจริงๆ ไม่เจอ ใครทำอะไรที่แปลกใหม่สักอย่างหนึ่งสักพักก็จะมาเหมือนกันเต็มเลย เช่น งานถักศิลปินทำคนแรก เดี๋ยวจะมีงานถักหลากวัสดุออกตามกันมา แต่ผมก็เข้าใจ เพราะการคิดงานมันยาก ต้องศึกษา ต้องตีโจทย์ให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะไปทับงานคนอื่น” สำหรับการเป็นกรรมการในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พงษ์ชัยเผยว่าการเป็นสมาชิกและกรรมการในสภาฯ ด้านการค้าแนวตะเข็บชายแดน ทำให้เขามีส่วนช่วยประเทศชาติ โดยคอยช่วยเหลือเวลามีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพราะความจริงแล้วสภาฯ จะมีกิจกรรมที่ช่วยเหลือนักธุรกิจไทยเยอะมากๆ “หมดชั่วโมงทำงานผมก็ปิดสวิตช์ไม่คิดเรื่องงาน อีกทั้งโชคดีมากที่เป็นคนไม่คิดมาก ไม่เครียดด้วย แม้จะไม่มีวิกฤตอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างขณะนี้ก็ตาม เพราะการทำงานย่อมมีข้อติดขัดบ้าง ผมก็ไม่เครียดอะไร เพราะมีความรู้เกี่ยวกับงานชัด มันจะช่วยให้เราหาทางออกได้ง่าย”เรื่อง: กนกวรรณ ไม้สนธิ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความด้านการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine