เมื่อ ประภาวดี โสภณพนิช เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของ Christie’s Thailand เมื่อต้นปีนี้ หลายคนที่รู้จักเธอในฐานะกรรมการผู้จัดการของ บริษัท พลังโสภณ จำกัด หรือจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไฮเอนด์ ภายใต้แบรนด์ “Veyla” (เวลา) ของเธอ คงสงสัยว่าเหตุใดนักบริหารมากฝีมือคนนี้จึงกระโดดข้ามฝั่งมาทำงานคลุกคลีกับแวดวงศิลปะและสินค้าลักชัวรี่
หลังวางมือจากธุรกิจเพื่อใช้เวลากับครอบครัวและส่งลูกสาวคนโตเข้าเรียนไฮสกูลที่ New York ถึง 2 ปี
ประภาวดี โสภณพนิช จึงย้ายกลับมาเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้วเพราะสามี (
โชน โสภณพนิช) ต้องมาดูแลธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นจังหวะที่
เยาวณี นิรันดร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง
Christie’s ประเทศไทย ได้มาทาบทามเธอพอดี
“เราสนใจเพราะเป็นคนชอบงานศิลปะอยู่แล้ว และหลังจากเข้าไปคุยกับทางออฟฟิศที่ฮ่องกงแล้วชอบ จึงตกลงมาทำงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา”
การเข้ามาทำงานที่ Christie’s ประเทศไทย นับเป็นโอกาสอันดีที่ประภาวดีจะได้ทำงานที่แอบรักมาโดยตลอด ประภาวดีเกิดและเติบโตที่ New York กลับมาไทยเมื่ออายุ 10 ปี ก่อนจะกลับไปเรียนไฮสกูลอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี และศึกษาต่อจนสำเร็จระดับปริญญาตรีจาก Tufts University และปริญญาโททางด้านการเงินและการธนาคารระหว่างประเทศจาก Columbia University ซึ่งแน่นอนว่าเธอซึมซับงานอาร์ตดีๆ มากมายไม่ต่างกับ “New Yorker” คนอื่นๆ
จังหวะที่ท้าทายกับ Christie’s
ก่อนที่จะมาเป็นหัวเรือใหญ่ที่ออฟฟิศประเทศไทยของสถาบันประมูลชั้นนำระดับโลกซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 250 ปีนั้น เธอไม่ได้มีความรู้แบบ “คนวงใน” และยังแอบสงสัยว่าในเมืองไทยจะมีฐานนักสะสมสักเท่าไหร่เพราะเป็นความลับ และเมื่อได้เข้ามาพูดคุยรับงานที่ Christie’s ได้เห็นข้อมูลแล้วก็ “ประทับใจมากๆ”
“Christie’s เข้ามาในไทยนานถึง 18 ปี ทั้งนี้ต้องขอชมเชยวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้ง (
เยาวณี นิรันดร และ
ปัญญชลี เพ็ญชาติ) ที่มีสายตายาวไกล นักสะสมของไทยเราโตมาจากนาฬิกาและเครื่องประดับ เรามีนักสะสมนาฬิกาที่เป็นกลุ่มใหญ่ในเอเชียจนปัจจุบันคนรุ่นใหม่สนใจงานศิลปะมากขึ้นทั้งในด้านศิลปะไทยและศิลปะเอเชีย หลายคนก็สนใจศิลปะตะวันตก ทำให้มีมุมมองมีความรู้ด้านการสะสมมากขึ้น”
ประภาวดีเข้ามาบริหารงานในจังหวะที่ดี เพราะบรรดานักสะสมของเอเชียกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของธุรกิจ รายได้รวมของ Christie’s มูลค่า 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017 นั้น 31% มาจากลูกค้าเอเชีย ขณะเดียวกันงานศิลปะเอเชียก็มาแรง โดยในปี 2017 มูลค่าการขายงานศิลปะเอเชียเติบโตสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 50%
“โชคดีที่มาร่วมงานช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่เขากำลังให้ความสำคัญกับเอเชียมากๆ เราจึงสนุก เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้น ไปไหนก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี”
นอกจากเข้าร่วมประมูลหรือโทรศัพท์เข้ามาแล้ว ยังมีลูกค้าที่ประมูลเองทางออนไลน์ด้วยซึ่งช่องทางนี้ช่วยเพิ่มผู้ซื้อหน้าใหม่ โดย Christie’s มีผู้ซื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 31% ในปีที่ผ่านมา และ 37% มาจากออนไลน์ รายได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์ปีที่แล้วสูงถึง 72.4 ล้านเหรียญ ขณะที่ยอดขายทางออนไลน์จากเอเชียก็เพิ่มขึ้นถึง 23%
ปักหมุดศิลปินไทยในแผนที่โลก
ด้วยกระแสความแรงของศิลปะเอเชีย ทำให้ประภาวดีตั้งเป้าว่าจะพางานศิลปะจากประเทศไทยโกอินเตอร์ให้มากขึ้น “เมื่อมองไปรอบๆ...สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ศิลปินบ้านเราสู้ได้ในความสามารถ โดยปัจจุบันมีศิลปินไทยร่วมสมัยหลายคนที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถช่วยผลักดันศิลปินให้ไปไกลกว่านี้อีก ไทยเรามีครบไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะที่มีความลึกซึ้งและหลากหลาย และคนที่ครีเอทีฟ”
ถึงแวดวงศิลปะบ้านเราจะไม่เฟื่องฟูเท่ากับหลายประเทศ แต่ระยะหลังมานี้ก็มีความคึกคักมาตลอด มีงานใหม่ให้ชมตามหอศิลป์ แกลเลอรี หรือพิพิธภัณฑ์ สร้างกระแสความเคลื่อนไหวในวงการ โดยเฉพาะเมื่อ
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประกาศจัดงาน
Bangkok Art Biennale ในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 - 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะสร้างความคึกคักให้กับวงการศิลปะในประเทศไทย
ประภาวดีเชื่อมั่นว่างาน Bangkok Art Biennale จะช่วยยกระดับวงการศิลปะไทยและจะเป็นโอกาสอันดีที่เธอในฐานะตัวแทนของ Christie’s จะช่วยนำศิลปินไทยไปสู่สากลได้มากขึ้นผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก และขั้นต่อไปทาง Christie’s ประเทศไทยจะมีการเชิญทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาดูงานศิลปะที่เมืองไทย เพื่อให้นักสะสมจากทั่วโลกรู้จักงานของประเทศไทยมากขึ้น
“อันที่จริงแล้ว เรามีศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติหลายคน เช่น ชาติชาย ปุยเปีย, พินรี สัณฑ์พิทักษ์, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, นที อุตฤิทธิ์ แต่ส่วนใหญ่เขาไปดังกันเอง ซึ่งเราคิดว่าหากมีแรงสนับสนุนและมีระบบที่เอื้ออำนวยมากขึ้น วงการศิลปะไทยก็จะดีกว่านี้ ศิลปะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ เราก็อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเม็ดเงินเสมอไป”
โลกกว้างของนักสะสม
เมื่อถามว่าเธอเองเป็นนักสะสมด้วยหรือไม่ ประภาวดีหัวเราะเบาๆ “มาเห็นใน Christie’s แล้วอายไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักสะสม เรียกว่า ‘เก็บ’ ดีกว่า คือไม่ได้สะสมมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพวาด แต่ก่อนเดินทางกับสามี มีเวลาก็ซื้อ เช่น ที่เมียนมา เวียดนาม อินโดฯ ไปพูดคุยกับศิลปิน คือเราต้องชอบก่อนแล้วศึกษาความเป็นมา ฟัง inspiration ของศิลปิน ถ้าถูกใจเราก็ซื้อ”
ขณะเดียวกัน จากการที่มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้า ก็พบว่าหลายคนจะมีรสนิยมเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ช่วงหนึ่งอาจชอบศิลปะของศิลปินผู้นั้นผู้นี้ แต่ผ่านไปสักระยะก็เปลี่ยนไปชอบอีกแบบหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการให้บริการในอีกลักษณะคือการฝากขาย (consignment) กับทาง Christie’s
“บางคนก็แบบ...เบื่อแล้วเพ้นท์ติ้งชิ้นนี้หรือจิวเวลรี่ชิ้นนี้ ก็สามารถนำมาฝากขายกับเรา หรือใช้บริการประเมินราคาของเราได้ บางครั้งก็ไม่ต้องนำไปประมูล แต่ฝากเราขายแบบ private sale ได้ ส่วนคนที่อยากซื้อก็อาจจะบอก wish list ไว้ได้”
สำหรับประภาวดี งานบริหารไม่น่าเป็นปัญหา เพียงแต่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องงานศิลปะ สินค้าลักชัวรี่ การสะสม และเทรนด์ของการสะสม ซึ่ง Christie’s มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากมายมาช่วย “เราไม่ได้ทำงานคนเดียว เรามีผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยเติมเต็ม บางครั้งเราก็เรียนรู้จากลูกค้าที่สะสมมานานอีกด้วย”
ทุกวันนี้เธอสนุกกับการทำงานที่ Christie’s และบาลานซ์เวลาได้อย่างดีหลังจากเคยไม่มีเวลาให้ตัวเองมาแล้ว เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงหลายคนไม่ให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัว ซึ่งตัวเธอก็มีช่วงหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น กระทั่งวันหนึ่งเธอเริ่มให้ความสำคัญกับตัวเอง ให้เวลาตัวเองด้วยการอ่านหนังสือและนั่งสมาธิ “เราต้องรักและดูแลตัวเองให้ดีก่อน เพื่อที่เราจะได้มีกำลังไปทำประโยชน์ และช่วยคนอื่นได้”
เรื่อง: วีณา ธูปกระแจะ
ภาพ: Satra. P